'ชาติไทยพัฒนา' ย้ำแก้ 'ปุ๋ยแพง' ระยะยาว ปรับสูตรรายตำบล ดันเกษตรกรไร้เคมี

'ชาติไทยพัฒนา' ย้ำแก้ 'ปุ๋ยแพง' ระยะยาว ปรับสูตรรายตำบล ดันเกษตรกรไร้เคมี

ชาติไทยพัฒนา ชี้แก้ "ปุ๋ยแพง" เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ชูนโยบายระยะยาว เร่งปรับสูตรปุ๋ยรายตำบล พร้อมชดเชยเกษตรกรรายย่อย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเหมาะกับพื้นที่-ชนิดของพืช เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดสารเคมีช่วยเกษตรกรไทยไร้โรค ลดการเสียเงินจากภาษีคาร์บอน 

นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคและกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวบนเวที THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร หัวข้อ ความท้าทายของการลดปัญหาปุ๋ยแพง จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" วันที่ 2 พ.ค. 2566 ว่า ปุ๋ยแพงเป็นปัญหาเฉพาะหน้า มองว่าเรื่องของผลผลิตรายได้ต่ำ รายได้เกษตรกรน้อยเป็นปัญหามากกว่า โดยสิ่งที่ทางพรรคฯ ต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

ประเด็นแรก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ย ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจปุ๋ย ซึ่งหมายความว่า เรื่องของสูตรปุ๋ยที่สัมพันธ์กับดิน สัมพันธ์กับพืชและสัมพันธ์กับบริบทของแปลงการผลิต สิ่งนี้ต้องทำให้เกิดขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ปุ่ยน้อยลงแต่มีรายได้เพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ การนำเข้าปุ๋ยปัจจุบัน มีการนำเข้าทั้งที่เป็นสูตรสำเร็จและแม่ปุ๋ย บริษัทขนาดใหญ่ผสมปุ๋ยที่ใช้กันทั้งประเทศแต่ทราบกันดีว่า แต่ละตำบลทั้งดินและพืชไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราต้องปรับระบบของการผลิตสูตรปุ๋ยใหม่ ภาคเอกชนคงต้องทำงานละเอียดขึ้นซึ่งเชื่อว่าปรับตัวได้ ส่วนการนำเข้าของส่วนประกอบปุ๋ย รัฐต้องบริหารจัดการทั้งเรื่องของโลจิสติกส์ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ที่ต้องจัดการระดับตำบลให้ตรงกับความต้องการ และต้องพิสูจน์ให้ได้จริงว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 

สำหรับเรื่องของการผลิตปุ๋ยนั้น โรงงานทำปุ๋ยโดยเฉพาะจากเหมืองโปรแตชเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์และถึงมือเกษตรกร แต่ในเวลาเดียวกันบนเงื่อนไขที่ว่า ไม่ต้องการให้มีการเปิดเหมืองโปรแตสใหม่อีกแล้ว เพราะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านดินเค็มที่มีการขยายตัวในภาคอีสาน นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า การนำโปแตชมาทำแบตเตอรี่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะขณะนี้โปแตชจำนวน 7 แสนตัน ถือว่าเพียงพอแล้วกับการใช้ในปัจจุบัน ที่เหลือก็เก็บไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต

"กรณีปุ๋ยแพงเป็นเรื่องเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจน รายเล็กรายน้อย จำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปชดเชยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราจะปล่อยให้เกษตรกรตายไม่ได้" 

ประเด็นที่ 2 พรรคชาติไทยพัฒนา ถือว่าเรื่องของปุ๋ยเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการผลิตเท่านั้น เป้าหมายของพรรคคือ การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถของผลผลิตทางการเกษตรของไทยเพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้และแก้ไขความยากจนของเกษตรกร ซึ่งในขณะที่วันนี้ทั่วโลกมีบริบทเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นำมาซึ่งภัยพิบัติต่าง ๆ ตามมา อาทิ น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงโรคระบาด ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกษตรกรต้องพบ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

"ประเทศไทยมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 280 ล้านตัน ปีหน้าเราต้องจ่ายชดเชยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึงปีละหลายแสนล้านบาท ถือว่ากระทบต่อภาคการเกษตร เป็นปัญหาเร่งด่วนและใหญ่กว่าราคาปุ๋ย ทางพรรคเห็นว่า การทำเกษตรยั่งยืน คาร์บอนต่ำนั้น การทำเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง"

ประเด็นที่ 3 การจะทำเช่นนั้นได้เราต้องปฏิรูประบบการเกษตรซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราจะไม่แก้ปุ๋ยแพงตามสถานการณ์ แต่จะปฏิรูประบบเกษตรใหม่ นับตั้งแต่เรื่องของดิน โดยจะสนับสนุนให้มีการไถกลบโดยจะให้ 1,000 บาทต่อไร่ เพื่อการปรับปรุงดิน, จัดทำน้ำบาดาลขนาดใหญ่ให้กับทุกตำบลเพื่อให้ทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการให้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพกับประชาชน ตั้งเป้าไว้ที่ 60 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ วิธีการปลูกพืชที่ทางพรรคได้ทดลองทำแล้วที่จังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง และ สิงห์บุรี เป็นต้น พบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ซึ่งทางพรรคได้มุ่งแก้ไขปัญหาระบบเกษตรทำน้อยได้มาก เพราะคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ ทั้งนี้ แนวคิดการเกษตรจะต้องเปลี่ยนโดยจำเป็นต้องบริหารจัดการถึงพื้นที่ ทำปุ๋ยเป็นรายตำบล พร้อมปรับวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต และจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยเกษตรกรเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วน

"เกษตรกรที่เป็นห่วงที่สุดคือปู่ ย่า ตา ยาย ที่อายุเยอะ เป็นทั้ง เบาหวาน ความดัน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินข้าวได้ เป็นสุข เพราะเราจะลดเคมี ทำเกษตรปลอดภัย เพื่อให้เลือดเกษตรกรไม่มีเคมี ไม่เกิดมะเร็ง เพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร"