‘ทีเอ็มเอ็กซ์’ ปักธงไทย รุกบริการ ‘เมตาเวิร์ส’ โลจิสติกส์

‘ทีเอ็มเอ็กซ์’ ปักธงไทย รุกบริการ ‘เมตาเวิร์ส’ โลจิสติกส์

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นที่จับตามองของการลงทุน ด้วยการเติบโตที่โดดเด่นท่ามกลางความผันผวนวิกฤติเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับ บริษัท TMX ที่ปรึกษาด้านซัพพลายเชนสัญชาติออสเตรเลีย มาตั้งสำนักงานภูมิภาคที่ไทย เพื่อวางรากฐานการเติบโตเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาค

นายทราวิส เออร์ริดจ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMX Global กล่าวว่า บริษัทเลือกตั้งสำงานใหญ่ประจำภูมิภาคในไทย ซึ่งบทบาทสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์ในเอเชีย เพราะไทยมีตลาดซัพพลายเชนที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงโดยช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไทยมีการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งดึงดูดการลงทุนในคลังสินค้าและโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ภาครัฐดำเนินโครงการและนโยบายระดับประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ภูมิภาค ครอบคลุมการคมนาคมขนส่งภาคพื้นดิน อากาศ และทางทะเลในอาเซียน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อย่างดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก และบุคคลการที่มีทักษะดิจิทัลจำนวนมาก ซึ่งบุคคลากรดิิจิทัลส่วนใหญ่ที่ประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในไทยเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ การบริหารจัดการซัพพลายเชนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่มีโควิด-19 การล็อกดาวน์หลายประเทศ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่การชอปปิงออนไลน์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักของซัพพลายเชน หรือ Supply chain disruptions ทั่วโลก โดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้แนวโน้มการลงทุนในโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในช่วงที่จะเติบโตได้สูงที่สุดทั่วโลกเพื่อก้าวให้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ รายงานประเมินว่า ปัญหาการหยุดชะงักของระบบซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องได้สร้างความสูญเสียให้เศรษฐกิจอาเซียนถึง 1.7 หมื่นล้านเดอลลาร์ หรือประมาณ 586,845 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากภูมิภาคนี้มีบทบาทในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนโลกท่ามกลางความผันผวนในภูมิภาคอื่นๆ

“ธุรกิจต่างๆ กำลังมองหาโซลูชั่นที่จะลดผลกระทบจากการหยุดชะงักดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มการลงทุนเพื่อทำให้มั่นใจว่าซัพพลายเชนจะสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว”

นายคาร์ล เฮมัส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจเปิดตัว TMX Metaverse ครั้งแรกในเอเชียที่ไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านซัพพลายเชนที่จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการพลิกโฉมซัพพลายเชนที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงโลกเสมือนจริงโดยการจำลองแผนผังพื้นที่ในอัตราส่วนที่เท่ากับพื้นที่และผู้ใช้งานจริงตั้งแต่กระบวนการออกแบบ 

ทั้งนี้ หัวใจหลักของการออกแบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิผลและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้นั้น อยู่ที่การมองเห็นภาพการทำงานล่วงหน้า สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่จุดประกายให้ในการริเริ่มการนำเทคโนโลยีเมตาเวิร์สมาใช้

“การใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีเมตาเวิร์สทำให้บริษัทสามารถยกระดับและเปลี่ยนข้อมูลการออกแบบที่เป็นดิจิทัลให้เป็นโลกเสมือนจริง ด้วยแบบจำลองสัดส่วน 1:1 ซึ่งจะช่วยให้พาร์ทเนอร์และ TMX สามารถร่วมกันกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ในการออกแบบ ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถบริหารต้นทุนที่ประเมินค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดโครงการ”

นอกจากนี้ ความสามารถในการออกแบบด้วยเมตาเวิร์ส ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ในช่วงกระบวนการกำหนดกรอบแนวคิด โดยในบางโครงการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้สูงถึง 50%

“สำหรับการเปิดตัวโซลูชันนี้ในประเทศไทยเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมซัพพลายเชนในเอเชียกำลังเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภค ผู้บริหารธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

TMX ดีน โจนส์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนกำลังได้รับอานิสงค์จากการกระจายการลงทุนและสร้างกลยุทธ์ซัพพลายเชนให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากกลยุทธ์ “จีน+1” จึงทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมาะสมต่อการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าภาคการผลิต 

ขณะที่ไทยอยู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีช่องว่างในการเติบโตอีกมากและกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่บริษัทจะเลือกเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคที่นี่ ก่อนขยายรากฐานไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สหรัฐ รวมถึงสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่บริษัทให้ความสำคัญ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นจุดดึงดูดการลงทุนที่มีศักยภาพของหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เกษตรและอาหาร และอื่นๆ ที่จะเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะการผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น รวมทั้ง อีอีซียังเป็นประตูที่จะเชื่อมต่อซัพพลายเชนกับประเทศอื่นในภูมิภาคอีกด้วย

“เมื่อเปรียบเทียบเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economics Zone) ในแต่ละประเทศ เชื่อว่าทุกประเทศมีเป้าหมายที่คล้ายกัน แต่สำหรับ EEC ซึ่งมีการวางแผนที่ยาวนานและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคมนาคมและดิจิทัล ทำให้ EEC มีข้อได้เปรียบกว่าที่อื่นๆ ที่กำลังเริ่มได้ไม่นาน นอกจากนี้ แม้ว่าค่าแรงในไทยจะไม่ได้ถูกที่สุดอีกต่อไป แต่นั่นเป็นข้อดีเพราะอุตสาหกรรมในอนาคตต้องการแรงงานที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น”

ประเทศไทยมีโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนต่างประเทศเข้ามาอีกมาก ด้วยนโยบายการส่งเสริมการการลงทุนที่มีอยู่และ ease of doing business ที่อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ไทยเติบโตได้มากกว่านี้จะต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านระบบการบริการไปสู่ระบบดิจิทัล เพื่อยกระดับการทำงานที่เชื่อมโยงกันทุกฝ่าย เช่น ระบบท่าเรือ การยื่นภาษี