กพท.เปิดเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน ชี้แพงเพราะแอร์ไลน์ฟื้นไม่ทันดีมานด์

กพท.เปิดเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน ชี้แพงเพราะแอร์ไลน์ฟื้นไม่ทันดีมานด์

กพท.เปิดเพดานราคาค่าโดยสารสายการบินเส้นทางในประเทศ รูทกรุงเทพฯ - หาดใหญ่แพงสุด 10,049 บาท ชี้ปัญหาราคาค่าโดยสารพุ่งต่อเนื่อง เหตุดีมานด์จำนวนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมการบินยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลเพดานราคาค่าโดยสารสายการบินเส้นทางในประเทศ หลังจากมีกระแสวิพากย์วิจารย์จากผู้โดยสารจำนวนมาก ถึงราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น เกิดเป็นผลกระทบกับประชาชนและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ - ภูเก็ต ที่ประชาชนร้องเรียนว่ามีราคาค่าโดยสารแพงมากที่สุด

โดยข้อมูลประจำเดือน มี.ค.2566 อัตราค่าโดยสาร (ต่อเที่ยว) ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ - ภูเก็ต จากการตรวจสอบของ กพท.พบว่าอัตราค่าโดยสารในเส้นทางบินดังกล่าวเฉลี่ยต่ำกว่าราคา 2,500 บาท คิดเป็น 82.5% ของตั๋วโดยสารทั้งหมด ในขณะที่ราคาสูงกว่า 2,500 บาท คิดเป็น 17.5% โดยราคาบัตรโดยสารจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาล

ขณะที่เพดานราคาค่าโดยสารตามระเบียบ กพท.ควบคุม เส้นทางกรุงเทพฯ - ภูเก็ต ระยะทาง 698 กิโลเมตร มีเพดานราคา (ต่อเที่ยว) สำหรับบริการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) กำหนดไม่เกิน 9.4 บาทต่อกิโลเมตร ทำให้เพดานราคาในเส้นทางนี้สูงอยู่ที่ 6,561 บาท ขณะที่เพดานราคาสำหรับบริการสายการบินเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) กำหนดไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร ทำให้เพดานราคาจะสูงสุดอยู่ที่ 9,074 บาท

ส่วนหัวเมืองท่องเที่ยวหลักที่ได้รับความนิยมมีเพดานราคากำหนด อาทิ

- เส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่

ระยะทาง 566 กิโลเมตร

  • สายการบินโลว์คอสต์ ไม่เกิน 5,320 บาท
  • สายการบินฟูลเซอร์วิส ไม่เกิน 7,358 บาท

- เส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงราย

ระยะทาง 675 กิโลเมตร

  • สายการบินโลว์คอสต์ ไม่เกิน 6,345 บาท
  • สายการบินฟูลเซอร์วิส ไม่เกิน 8,775 บาท

- เส้นทาง กรุงเทพฯ - กระบี่

ระยะทาง 669 กิโลเมตร

  • สายการบินโลว์คอสต์ ไม่เกิน 6,288 บาท
  • สายการบินฟูลเซอร์วิส ไม่เกิน 8,697 บาท

- เส้นทาง กรุงเทพฯ - หาดใหญ่

ระยะทาง 773 กิโลเมตร

  • สายการบินโลว์คอสต์ ไม่เกิน 7,266 บาท
  • สายการบินฟูลเซอร์วิส ไม่เกิน 10,049 บาท

กพท.เปิดเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน ชี้แพงเพราะแอร์ไลน์ฟื้นไม่ทันดีมานด์

อย่างไรก็ดี กพท.ตรวจสอบและพบว่าราคาค่าโดยสารที่ปรับสูงขึ้น นอกจากจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลที่มีความต้องการเดินทางสูงแล้ว ยังมีปัจจัยประกอบส่วนอื่นอย่างกรณีเมื่อซื้อตั๋วกระชั้นชิดกับวันที่ต้องการเดินทาง ดังนั้นแนะนำให้ผู้โดยสารจองตั๋วล่วงหน้านานๆ จึงจะได้ราคาที่ต่ำ เนื่องจากระบบราคาตั๋วเครื่องบินส่วนใหญ่จะค่อยๆ แพงขึ้น แต่จะปรับราคาสูงสุดไม่เกินเพดานที่กำหนด

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศมีสูงขึ้นมาก เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าออกประเทศไทยมากกว่า 140,000 คนต่อวัน และเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเอง

ในขณะที่ความสามารถของระบบการบิน ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ทำให้ตั๋วโดยสารในบางช่วงเวลาเป็นที่ต้องการมาก แม้จะมีราคาสูงมากก็ตาม

 

สรุปการวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ตั๋วโดยสารเครื่องบินมีราคาสูง

โดย กพท.ได้สรุปการวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการรองรับจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตั๋วโดยสารเครื่องบินมีราคาสูงในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1. บริการภาคพื้น (Ground Handling) ที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่เพียงพอ (มีเพียง 50%) ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถเข้ามาทำการบินได้ ทำให้จำนวนเที่ยวบินมีไม่พอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

2. การบริหารจัดการตารางเวลาการบิน (Slot Allocation) ซึ่งแม้จะเป็นไปตามกติกาสากล แต่การที่สายการบินที่ได้รับการจัดสรรตารางเวลาการบินทำการยกเลิกเที่ยวบินบางส่วนภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งสายการบินมีสิทธิกระทำได้ แต่ส่งผลทำให้ไม่มีเที่ยวบินรองรับเพียงพอตารางเวลาที่ถูกจัดสรรไว้แล้ว และทำให้สายการบินอื่นไม่สามารถจองเข้ามาทำการบินได้ในเวลานั้นๆ เมื่อยกเลิกจึงเหลือเที่ยวบินน้อย 

3. สายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอสำหรับการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการ 

4. ความคล่องตัวในการซ่อมบำรุงอากาศยาน การต้องนำอากาศยานไปซ่อมต่างประเทศ ทำให้อากาศยานหายไปจากระบบไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน

5. ความต้องการเดินทางในเส้นทางบินที่มีสายการบินน้อยรายหรือรายเดียวทำการบิน เนื่องจากตลาดของสนามบินบางแห่งยังไม่เป็นที่นิยม มีความต้องการเดินทางต่ำ ทำให้สายการบินที่ทำการบินต้องกำหนดอัตราตั๋วโดยสารไว้แพงเพื่อให้คุ้มค่าต้นทุน ยิ่งตั๋วแพงจำนวนผู้โดยสารก็ยิ่งน้อยลงไปตามกลไกตลาด

 

กพท.จะเร่งแก้ไขปัญหาตั๋วเครื่องบินราคาแพง อาทิ

  • การทยอยอนุญาตให้สายการบินนำเข้าอากาศยานเพิ่มเติม
  • การเร่งแก้ปัญหาการบริการภาคพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ
  • ขอความร่วมมือจากสายการบินให้จัดจำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่เหมาะสม
  • ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงวิธีการกำหนดราคาของสายการบินซึ่งเป็นหลักการทั่วไป หากหลีกเลี่ยงการซื้อตั๋วโดยสารในระยะเวลากระชั้นชิด ก็จะทำให้สามารถซื้อตั๋วได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป