‘ซูริมิจากปลาน้ำจืด’ แทนปลาทะเลเริ่มขาดแคลน
กรมประมงหนุนใช้ “ซูริมิจากปลาน้ำจืด” ทดแทนปลาทะเล หวังเป็นทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ พร้อมสร้างรายได้เกษตรกรประมงเพาะเลี้ยง
จากปัญหาการขาดแคลนปลาทะเลเพื่อผลิตซูริมิของอุตสาหกรรมในประเทศไทย กรมประมงได้พยายามหาแนวทางในการหาสัตว์น้ำมาทดแทนปลาทะเลดังกล่าว โดยนำปลาน้ำจืดทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ปลานิลแดง ปลานิล และปลาจีน มาทดลองผลิตซูริมิสำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการนำมาทดแทนปลาทะเลที่ ขาดแคลน เนื่องจากปลาดังกล่าวมีเนื้อขาว ปริมาณเนื้อมาก และมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการสามารถกำหนดปริมาณผลผลิต รวมถึงช่วงเวลาการเพาะเลี้ยงได้ตามที่ต้องการอย่างเหมาะสม จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาของไทย มุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง กล่าวว่า จากปัญหาการขาดแคลนปลาทะเล โดยเฉพาะปลาทรายแดง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตซูริมิของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้การผลิตซูริมิมีปริมาณลดลงตามไปด้วย กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ทดลองใช้ปลาน้ำจืด เพื่อผลิตซูริมิทดแทนปลาทะเล เนื่องจากเพาะเลี้ยงได้ง่าย สะดวกต่อการขนส่ง และเป็นปลาที่กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำและรายได้ โดยปลาน้ำจืดเศรษฐกิจของไทยที่น่าสนใจในการนำมาผลิตเป็นซูริมิทดแทนปลาทะเล ได้แก่ ปลานิลแดง ปลานิล และปลาจีน
ทั้งนี้ ผลการทดลองผลิตซูริมิในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่า ร้อยละผลผลิตของซูริมิจากปลานิลแดง
ปลานิล และปลาจีน ให้ร้อยละผลผลิตเท่ากับ 36.78, 28.61 และ 28.29 ตามลำดับ มีความขาวและค่าความแข็งแรงของเจลเทียบเท่ากับซูริมิจากปลาทรายแดง ซึ่งค่าความแข็งแรงของเจลเป็นค่าที่บ่งบอกความยืดหยุ่น หรือความเหนียวของซูริมิ โดยจากการทดลองในครั้งนี้ ปลานิลแดงมีค่าความแข็งแรงของเจลสูงที่สุด
รองลงมาคือปลานิล และปลาจีน ตามลำดับ
จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าปลานิลแดง ปลานิล และปลาจีน สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบทางเลือกสำหรับทดแทนปลาทะเลในอุตสาหกรรมการผลิตซูริมิ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้ ที่สำคัญปลาน้ำจืดทั้ง 3 ชนิด เป็นปลาที่กรมประมงให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ หากผลักดันให้วัตถุดิบทั้ง 3 ชนิดนี้
เข้าสู่อุตสาหกรรมซูริมิได้สำเร็จ จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย รวมถึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิต
ซูริมิ สามารถกำหนดปริมาณการผลิตที่แน่นอนได้ เนื่องจากสามารถวางแผนช่วงเวลาในการเพาะเลี้ยงได้ตามที่ต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต