“ศุภชัย” เตือน Polycrisis แนะไทยรับมือ”ภูมิรัฐศาสตร์-เงินเฟ้อ-โลกร้อน”

“ศุภชัย” เตือน Polycrisis  แนะไทยรับมือ”ภูมิรัฐศาสตร์-เงินเฟ้อ-โลกร้อน”

"ศุภชัย” เตือนไทยรับมือ “โพลีไครซิส” ชี้โลกตื่นตัวความตึงเครียดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม เงินเฟ้อ สภาพภูมิอากาศ แนะเตรียมรับมือ “พลังงาน-โลกร้อน” เตือนไทยต้องสู้บนเวทีโลก ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงตามสหรัฐ แนะเร่งดึงลงทุนให้ถึง 20% ของจีดีพี รักษาผู้นำการผลิตอาหารโลก

"โพสต์ทูเดย์" และ "เนชั่นทีวี ช่อง 22" จัดสัมมนาหัวข้อ "อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย..สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” ซึ่งมีการนำเสนอแนวทางการรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้นและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Start Today เศรษฐกิจไทย..สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” ว่า ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงินปี 1997 รวมถึง The Great Recession 2008 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ในสหรัฐจากการเปิดตลาดเสรีแบบที่ไม่มีขอบเขตในสหรัฐที่นำไปสู่วิกฤติ Subprime crisis ที่กระทบทั่วโลก 

รวมถึงปัญหา Y2K และจากนั้นเศรษฐกิจก็กำลังกลับมาฟื้นก็ก็ต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกือบล่มสลาย ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์ก็ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าแต่ละปีจะเกิดปัญหาหรือวิฤตเศรษฐกิจใดบ้าง โดยเหมือนกรณีสงครามรัสเซียและยูเครน แม้จะมีการคาดการณ์ในเบื้องต้นไว้บ้างแต่คาดไม่ถึงว่าจะยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้และจะขยายวงกว้างไปมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ในช่วงหลังได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 1 ปีครั้งหนึ่งหรือ 2 ปีครั้ง แต่ปีนี้หลายคนคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะล่มสลายอีกแน่ เพราะมีปัจจัยที่ส่อว่าจะเกิดไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้คนใช้คำว่า Polycrisis หรือภาวะหลายวิกฤติ ซึ่งเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพราะเกิดขึ้นจากปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะสงครามการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ เพราะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงอำนาจเก่าและอำนาจใหม่

 

นอกจากนี้ ในปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและลึกซึ้งมาก ซึ่งเห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์โลก (MSCI) ที่ราคาดัชนีนี้ลดลงถึง 20% โดยเฉพาะกลุ่มเมกะเทรนด์ ดังนั้นปัญหาเหล่านี้ต้องกลับมามองว่าสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก 

โลกตื่นตัว“โพลีไครซิส”

รวมทั้งล่าสุดในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี 2023 มีการพูดถึง polycrisis ค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องเศรษฐศาสตร์โดยตรง และเมื่อเศรษฐกิจโลกทรุดเราต้องรีบลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนให้ได้เร็วที่สุด และยังมีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งเรื่องคน สิ่งแวดล้อม การค้า ที่ต้องพัฒนาให้ยั่งยืนต่อเนื่อง ซึ่งคนทั่วโลกกว่า 7,000 ล้านคน ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ที่ประชุม World Economic Forum มีหลายคนพยายามสร้างบรรยากาศให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่เลวร้ายมากนัก โดยมุ่งเน้นทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย 

1.เศรษฐกิจปีนี้ไม่น่าห่วงเพราะมีปัจจัยมาจากจีนเปิดประเทศจากที่จีนใช้นโยบายซีโรโควิด ซึ่งจีนมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่คิดเป็น 19% ของเศรษฐกิจโลก และเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ โดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวในช่วงการประชุมว่า โควิดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตเท่าก่อนเกิดโรคระบาดที่ระดับ 5.5-6.0% ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลก

 

“พลังงาน-โลกร้อน”โจทย์ใหญ่

 2.ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อไม่ใช่เพราะธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% แต่เป็นเพราะเรื่องพลังงาน ปัจจุบันพบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่บาร์เรลละ 78 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาแก๊สลดลงจากเดิมอยู่ที่ 80% แต่พบว่าทางยุโรปมีการกดราคาน้ำมันน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ไม่เกินบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ทำให้ราคาพลังงานลดลงมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ความตึงเครียดด้านพลังงานลดลงไป

3.กรณีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) โดยกฎหมายนี้ ครอบคลุมถึงการลงทุนมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนโดยจะเน้นขึ้นภาษี รวมถึงลงทุนพลังงานสะอาด แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะอุดหนุนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งแตกต่างกับยุโรปที่เก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน

“ทั้ง 3 เรื่องนี้ที่ประชุม World Economic Forum พูดกันมาก ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในส่วนของเอเชียเมื่อเทียบกับยุโรปปัญหาด้านเศรษฐกิจน้อยกว่า แต่สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวรับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความตึงเครียดต่างๆที่เกิดขึ้น”นายศุภชัย กล่าว

แนะไทยถอนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับนโยบายทางการเงินของไทยเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ใช้วิธีทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงตามทิศทางธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยกับสหรัฐไม่เหมือนกัน 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยขณะนี้มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แทนที่จะนำนโยบายการเงินไปดึงเศรษฐกิจให้ตึงตัว ซึ่งก็จะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในอนาคตได้ การที่เรามีนโยบายการเงินที่ช่วยปัญหาเอ็นพีเอล โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งช่วยให้เอสเอ็มอีไทยฟื้นตัวได้ใหม่ แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องไม่ดี แต่ปัญหาความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวคือปัญหาที่หนักกว่า

ดังนั้นนโยบายการเงินต้องรับมือด้วยส่งเสริมการลงทุน โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใหม่ของไทยค่อนข้างฝืดมาก เราเคยมีการลงทุนถึง 30-35% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 15% ของ GDP ถือว่าน้อย โดยจะต้องเร่งลงทุนขึ้นไปถึง 20% ขณะที่เศรษฐกิจโลกในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง เราต้องมาดูความสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ยังเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

รับมือสังคมผู้สูงอายุ

สำหรับเศรษฐกิจในประเทศเราเข้าสู่ Aged Society หรือสังคมผู้สูงอายุ โดยขณะนี้ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรไทยแล้ว หรือมีผู้สูงอายุจำนวนเท่ากับประเทศจีนแล้ว ขณะที่ประชากรวัยแรงงานของเราลดลงต่อเนื่อง แต่มีผู้สูงอายุมากขึ้น โดยตอนนี้ 1 คนแบกภาระ 70 คน 

ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างการกระตุ้นในภาคแรงงานให้มากขึ้น เช่น ยืดอายุเกษียณออกไปอีกเพื่อให้ยังมีอัตราแรงงานอยู่ต่อไป รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในการ upskill และ reskill เพื่อให้ภาคแรงงานผลิตมีศักยภาพที่ดีขึ้น

นอกจากนี้สิ่งที่ไทยควรต้องการ คือ Creative Economy ทั้งเรื่องวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่หรือดิจิทัล รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ควรเดินหน้าอย่างเต็มที่ เนื่องจากส่วนใหญ่การระดมเงินจากต่างประเทศราว 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีการลงทุนที่อีอีซี

เตือนไทยต้องสู้บนเวทีโลก

ทั้งนี้ ไทยควรพร้อมรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 

1.ความพร้อมด้านพลังงาน ไทยต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น 

2.ความพร้อมด้านอาหาร รักษาตำแหน่งแหล่งอาหารโลก หลังจากที่ไทยถูกลดอันดับไป 13 อันดับกลายเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียนในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งมาจากการพิจารณาหมวดด้านความยั่งยืนทางอาหาร,ความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร ซึ่งเมื่อรวมค่าเฉลี่ยแล้วไทยต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ควรเร่งแก้ปัญหาว่าไทยจะทำอย่างไรให้สามารถกลับมาอยู่ในอันดับต้นได้

3.ด้านสุขภาพที่ไทยถือว่าแข็งแกร่งมาก โดยปัจจุบันไทยสามารถนำไลเซ่นมาผลิตยาที่สำคัญในประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน WTO อยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องนี้ โดยอยากไทยลงทุนในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น

4.ต้องพยามต่อสู้บนเวทีโลกให้มากขึ้น ถ้าโดดเดี่ยวไทยจะไม่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก ซึ่งที่ผ่านมานายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้มีการประชุมในไทย โดยมีการนำเสนอความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)