ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.66 พุ่งสูงสุดในรอบ 26 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.66 พุ่งสูงสุดในรอบ 26 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผย ท่องเที่ยวฟื้น โควิดคลาย น้ำมันลด ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.66 อยู่ที่ 51.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นดีขึ้นหลังไตรมาส 1

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยเยถึงผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนม.ค. 2566 พบว่า   ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.7 เป็น 51.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563  เป็นต้นมา

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 46.0 49.0 และ 60.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธ.ค.2565 ท แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเนื่องมาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากที่จีนเปิดประเทศรวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น

ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงครึ่งปีแรกทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้”นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รวมทั้งปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1 ยังโตแบบรูปตัวเค ยังโตแบบไม่ทั่วถึง  เพราะยังมีปัญหาราคาน้ำมันและราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ภาคการส่งออกอาจชะลอตัวไม่มากจากที่คาด เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวน้อยกว่าที่คาด ด้านภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นเร็วกว่าปกติ จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีน คาดว่าทั้งปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มเป็น 6-7 ล้านคน สร้างรายได้ราว 3-3.5แสนล้านบาท บวกกับเม็ดเงินจากการเลือกตั้ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีก  5 หมื่นล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 จากรูปตัวเค เป็นตัวเจ จึงมองว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตมากได้กว่าคาดการณ์ ขั้นต่ำ 0.3-0.5 % ทั้งปีอาจจะขยายตัวเกิน4% ได้