บอร์ดอีวี เคาะแพคเกจแบตเตอรี่ อัดเงิน 24,000 ล้าน ดึงเทคโนโลยีระดับเซลล์
บอร์ดอีวีเคาะมาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ อนุมัติงบ 24,000 ล้านบาท ดึงตั้งโรงงานผลิตตั้งแต่เทคโนโลยีระดับเซลล์ ใช้หลัก "ผลิตก่อน ได้รับเงินก่อน"
วันนี้ (2 ก.พ. 2566) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่ 1/2566
พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณามาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่เพื่อส่งเสริมให้เกิดฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรในประเทศไทย
นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ เช่น
1. ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือ การผลิตร้อยละ 30 ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ที่ชัดเจนและออกมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น
2. ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบอร์ดอีวีได้อนุมัติไปเมื่อปีที่แล้ว และ 3. การที่ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีน และค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว
โดยการประชุมบอร์ดอีวีนัดนี้ ได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้ง มาตรการที่สำคัญคือ การให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า
โดยเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh
โดยเนื่องจาก วงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย
นอกจากนี้ บอร์ดอีวีได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น มาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion)
รวมทั้ง รับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐซึ่งในขณะนี้ ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว
"เชื่อว่ามาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply เหล่านี้ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้"