“เศรษฐกิจ” คู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ธงนำกู้วิกฤติ ทิศทางใหม่โลก (2)

“เศรษฐกิจ” คู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ธงนำกู้วิกฤติ ทิศทางใหม่โลก (2)

Geopolitics กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในประชาคมโลก เมื่อความขัดแย้งทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการเมือง และการค้าระหว่างประเทศ มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างอีกระลอก

"โควิด-19" ที่พบครั้งแรกจากการระบาดในเมืองอูฮั่น ประเทศจีน (ค.ศ.2020) เมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั้งโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6.5 ล้านคน ในระยะเวลาสั้นๆ เศรษฐกิจโลกได้เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง มีผลต่อการส่งออกในห่วงโซ่อุปทาน 

จากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ลดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่และประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดลง การบริโภคชะลอตัว ส่งผลกระทบไปถึงภาคการค้า การลงทุน บริการ และท่องเที่ยว รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยตกงาน มีความยากลำบากในการเข้าสู่บริการสาธารณสุขภายในประเทศ และระหว่างประเทศ 

“เศรษฐกิจ” คู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ธงนำกู้วิกฤติ ทิศทางใหม่โลก (2)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องอยู่กับโควิด โลกจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะ

  1. พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำมาหากินของผู้คนจะเปลี่ยนไป  
  2. สังคมจะเข้าสู่ระบบดิจิทัล อย่างเต็มรูปแบบ 
  3. เทคโนโลยีจะพัฒนาไปในอัตราที่เร็วกว่าเดิม
  4. ในภาคธุรกิจ ห่วงโซ่อุปทานโลกที่กระจุกตัวอยู่ จะกระจายอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงกันอยู่ภายในประเทศตัวเอง หรือภายในภูมิภาคเดียวกัน
  5. รัฐบาลของทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับโควิด-19 และการแพร่เชื้อของโรค เป็นภัยพิบัติของประเทศ เป็นปัญหาของส่วนรวม ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะเสริมระบบสาธารณสุขของประเทศให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

สงครามรัสเซีย-ยูเครน” เมื่อรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.2022 ถึงวันนี้ การสู้รบยังคงเกิดอย่างต่อเนื่องถึง 10 เดือน และยังไม่มีทีท่าจะเกิดการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ความพยายามของรัสเซียในการเข้ายึดครองยูเครนครั้งนี้ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน 

โดยเฉพาะท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับต้องมาเจอกับวิกฤติใหม่ จนทำให้ราคาพลังงาน อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ แพงขึ้น ซ้ำเติมเงินเฟ้อให้ทะยานขึ้น 

Reuters รายงานเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน กว่า 40,000 คน สูญหายกว่า 15,000 คน ประชาชนกลายเป็นผู้อพยพ ไร้ที่อยู่อาศัย 14 ล้านคน และอาคารที่พักเสียหายมูลค่าถึง 350,000 ล้านดอลลาร์

สงครามนี้ แม้ไม่นับเป็นสงครามขนาดใหญ่ แต่มีส่วนทำให้ชาวโลกหวาดผวา เพราะสุ่มเสี่ยงจะพัฒนาไปเป็นสงครามโลกได้ เมื่อประธานาธิบดี ปูติน ประกาศว่า มีแนวคิดจะหันมาใช้อาวุธนิวเคลียร์

“เศรษฐกิจ” คู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ธงนำกู้วิกฤติ ทิศทางใหม่โลก (2)

แม้จะไม่สามารถรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ และไม่มีใครล่วงรู้ความในใจ ว่าเหตุใดประธานาธิบดี ปูติน ถึงตัดสินใจรุกรานยูเครน แต่ที่คาดการณ์กันคือ

ประธานาธิบดี ปูติน ต้องการอยู่ในประวัติศาสตร์ ที่สามารถรวบรวมดินแดนที่เคยเป็นของโซเวียตกลับมาอีกครั้ง และพร้อมขยับขึ้นเป็นมหาอำนาจ ขั้วที่ 3 ของโลก กลับมายิ่งใหญ่อย่างในอดีตที่เคยเป็นมหาอำนาจคู่กับสหรัฐฯ 

ทว่า ในโลกปัจจุบัน ประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจได้ ต้องมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีแสนยานุภาพทางการทหาร และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี

ขณะที่สถานภาพของรัสเซียในวันนี้ ระดับเศรษฐกิจ และเทคโนโลยียังห่างไกลสหรัฐฯ และจีนอยู่มาก จึงมีช่องทางเดียวที่ปูตินหวังจะหวนกลับมาเป็นมหาอำนาจได้อีก

คือ นำด้วยการทหาร โดยขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้ารุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการนำแนวคิดแบบอดีตในช่วงสงครามเย็นกลับมาอีกครั้ง แม้จะยังมองไม่เห็นความสำเร็จในเวลาอันใกล้

ทว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มปัจจัยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ปัจจัยเรื่องขนาดของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จะเป็นตัวกำหนดความเป็นมหาอำนาจได้

แต่ในวันนี้ประธานาธิบดี ปูติน พยายามโชว์ให้เห็นว่า การมีแสนยานุภาพทางการทหาร ก็อาจเป็นหนทางให้ยกระดับขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจได้เช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

15 ปีที่ผ่านมา กับ 4 วิกฤติการณ์ที่โลกต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง แม้วิกฤติซับไพรม์จะผ่านมาได้ แต่ที่คงดำเนินอยู่ อย่าง สงครามการค้า โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลับยังส่งผลกระทบใหญ่หลวง และเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ

ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เกิดขึ้นมาใหม่ ได้เป็นภาคบังคับให้ชาวโลกต้องปรับตัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน 

ภาพจำในอดีต "โลกาภิวัฒน์" และ "ทุนนิยมเสรี" ที่เคยนำทางให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นมาได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนให้เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่อาจเดินในทิศทางเดิม

เพื่อชาวโลกอยู่ดีกินดี มีสังคมสงบสุขเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป เมื่อทั้ง 4 วิกฤติ ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ทิศทางใหม่ของโลกในวันนี้ ไม่ได้มีเฉพาะ “เศรษฐกิจ” ที่เป็นธงนำเดี่ยวเหมือนในอดีต สิ่งสำคัญที่กำลังแทรกเข้ามาคือ "ภูมิรัฐศาสตร์" ความสัมพันธ์ทางการเมือง การค้าระหว่างประเทศ กำลังกลายเป็นธงอีกผืน ที่ต้องนำทางไปพร้อมกับเศรษฐกิจ 

ผมเชื่อว่า เมื่อเรามีความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ภาครัฐจนถึงประชาชน เราจะสามารถปรับตัว เพื่อมองหาโอกาสสำหรับอนาคตได้ อย่างอยู่รอด ปลอดวิกฤติ