มรสุมส่งออกไทยปี66 ความท้าทายภาครัฐ-เอกชน

มรสุมส่งออกไทยปี66 ความท้าทายภาครัฐ-เอกชน

การส่งออกไทยเริ่มส่งสัญญาณรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องทำงานหนักต่อเนื่องเพื่อเร่งหาตลาดใหม่

การแพร่ระบาดแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยติดลบ 12.2% และทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ติดลบ 6.1% ในขณะที่การส่งออกทั้งปีติดลบ 5.94% แต่การส่งออกในช่วงปลายปี 2563 ค่อยๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจะเป็นพระเอกในการพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564-2565 โดยเฉพาะในปี 2564 ที่การส่งออกขยายตัวถึง 17.43%

การส่งออกไทยเริ่มส่งสัญญาณรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน เป็นสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2566 โดยเฉพาะการส่งออกในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะติดลบ และเริ่มมีบางสำนักคาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2566 มีโอกาสกลับมาติดลบอีกครั้งท่ามกลางความเสี่ยงของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่เพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า การส่งออกเดือน ธ.ค.2565 ที่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่รายงานตัวเลขออกมา เชื่อว่าจะติดลบต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ซึ่ง สรท.ได้ประเมินปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2566 หลายปัจจัย ทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจีน ที่แม้จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมแต่เชื่อว่ายังผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะผลกระทบต่อโกลบอลซัพพลายเชน

รวมถึงสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งกินเวลามาเกือบครบ 1 ปี โดยเป็นปัจจัยที่ยังคงส่งผลต่อวิกฤติอาหารโลก ที่แม้จะเป็นผลบวกต่อการส่งออกไทย เพราะดีมานด์สินค้าอาหารไทยเพิ่มขึ้นเร็ว แต่ส่งผลลบต่อต้นทุนนำเข้าของไทย รวมถึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้วิกฤติพลังงานโลกยังมีผลกระทบต่อเนื่องในปี 2566 และเป็นปัจจัยที่จะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่อไปอีกระยะ

การเร่งหาตลาดใหม่เป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องทำงานหนักต่อเนื่อง ขณะที่ในระยะยาวต้องหาทางเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคการส่งออกไทย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายข้อเสนอแนะที่รัฐบาลรับทราบอยู่แล้ว ทั้งการเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากการลงทุนสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งต้องมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการรับมือ ไม่อย่างนั้นการส่งออกไทยคงจะถดถอยลงต่อเนื่องในระยะยาว