'สนธิรัตน์' แนะแก้ราคายางตก รื้อโครงสร้างทั้งระบบ

'สนธิรัตน์' แนะแก้ราคายางตก รื้อโครงสร้างทั้งระบบ

“สนธิรัตน์”เลขาฯ สร้างอนาคตไทย ชูแก้ราคายางตกต่ำ รื้อโครงสร้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ผลิต แปรรูป ตอบสนองความต้องการตลาด และชดเชยเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 21 ธ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพารา หลังได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 
 

นายสนธิรัตน์ ระบุว่า นโยบายยางพารา ต้องดูกันที่ต้นเหตุ และเชิงโครงสร้างครับ

ผมมาเยี่ยมพี่น้องชาวสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านนาพรุ ที่นครศรีธรรมราช เมื่อวันก่อน ได้รับฟังปัญหาพี่น้องประชาชน และร่วมแลกเปลี่ยนหลายเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ยั่งยืน พร้อมกับคุณถาวรวัฒน์ คงแก้ว ผู้แสดงเจตจำนงเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช คุณสมชาย เล่งหลัก ผู้แสดงเจตจำนงเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา พรรคสร้างอนาคตไทย 

หนึ่งในเรื่องที่พูดคุยคือ เรื่องของยางพารา ซึ่งมีปัญหาด้านราคามาโดยตลอด เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ เราต้องแก้เรื่องยางให้ยั่งยืน ไม่เอาเรื่องยางมาเป็นเรื่องหาเสียงทางการเมือง และแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องเอาเรื่องยางมาทำเพื่อปากท้องพี่น้องประชาชน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และเชิงโครงสร้าง นั่นถึงจะเป็นทางออกที่แท้จริงของชาวสวนยาง
 

เมื่อพูดถึงเรื่องยางพารา เราต้องจัดการที่รากของปัญหาโครงสร้างของการจัดการ และการเพาะปลูก เราต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งคือ การไม่สมดุลของผลผลิต และความต้องการผลผลิตของตลาด

การเข้าไปจัดการของรัฐทั้งการจัดการวางแผนพื้นที่เพาะปลูกให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และการชดเชยเกษตรกรจากการจัดการพื้นที่เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างแรก ซึ่งการทำเรื่องนี้นอกจากจะช่วยเรื่องความไม่สมดุลนั้นได้ และก็ยังจะสามารถยกระดับคุณภาพของผลผลิตได้อีก

อีกส่วนของทางออกในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำคือ การส่งเสริมให้เกิดรวมกลุ่มของพี่น้องชาวสวนร่วมกันรวบรวมผลผลิต แปรรูปเป็นยางแผ่นแบ่งปันกำไรกัน สร้างรายได้เพิ่มด้วยการรวมกลุ่มเพื่อเปลี่ยนจากผลิตน้ำยางเพียงอย่างเดียว และถูกกดราคา มาเป็นการต่อรองราคาผ่านการแปรรูปเป็นสินค้ามีราคา และเป็นที่ต้องการของตลาด 

ยกตัวอย่าง หมอนยางพาราในอดีต ราคาสูงมากแต่เราไม่ได้ผลประโยชน์จากราคาผลิตภัณฑ์อันนี้ เพราะชาวสวนยางเน้นผลิตมากกว่าแปรรูป นอกจากหมอนยางพาราแล้ว เรายังแปรรูปน้ำยางเป็นแบริเออร์ พื้นยางพารา ได้อีกด้วย

การเริ่มต้นที่ผมว่า แน่นอนจะต้องถูกประคับประคอง และช่วยเหลือจากรัฐ พื้นที่ไหนผลิตอะไรได้ดี ตลาดเป็นอย่างไร ต้องการให้รัฐช่วยตรงไหน เหล่านี้จะเป็นอีกแรงหนุนในการส่งเสริมให้เราเติบโต และแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

ปัญหาในการแก้ไขปัญหายางโดยโครงสร้างยังมีรายละเอียดอีกเยอะมาก ซึ่งเราจะต้องรับฟังจากชาวสวนจริงๆ ให้เขาได้ประโยชน์จริงๆ วันนี้ต้องการโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงจากวิธีแบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่แล้วครับ ถึงจะเป็นทางออกที่ยั่งยืน และเป็นทางออกระยะยาวในอนาคตต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์