IMF แนะ APEC รวมกลุ่มเศรษฐกิจ เปิดกว้าง มุ่งเศรษฐกิจสีเขียว

IMF แนะ APEC รวมกลุ่มเศรษฐกิจ เปิดกว้าง มุ่งเศรษฐกิจสีเขียว

ไอเอ็มเอฟ เตือนเศรษฐกิจโลกปีหน้าขยายตัวลดลงที่ 2.7% แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะยังเป็นความหวังและขยายตัวได้ 4.3% แนะต้องทำงานร่วมกัน เปิดกว้าง และผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวบนเวที APEC CEO Summit 2022 ในหัวข้อ “หนทางเร่งการฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเปค” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ว่า ตามที่ไอเอ็มเอฟเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะอยู่ที่ 3.2% และขยายตัวลดลงเป็น 2.7% ในปี 2566 ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจที่คิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลกส่อเค้าจีดีพีที่แท้จริง (Real GDP) หดตัวยาวสองไตรมาสในปลายปีนี้หรือปีหน้า 

ขณะที่การขยายตัวอย่างโดดเด่นของเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกในปี 2564 ที่ 6.5% สูญเสียแรงส่งในไตรมาสที่สองของปี 2565 ทำให้คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวอยู่ที่ 4.0% และขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ในปี 2566 ท่ามกลางความท้าทายของวิกฤติโลกรวนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นความหวังสำหรับเศรษฐกิจโลกที่ดูซบเซา แม้อัตราการเติบโตต่อปีจะยังต่ำว่าค่าเฉลี่ยที่ 5.5% ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ประการแรก การใช้นโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเกินเพดานเป้าหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินในเอเชียไปโดยปริยาย 

“ธนาคารกลางจะต้องดำเนินมาตรการที่จริงจังในการรับมือกับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปมีความเสี่ยงน้อยกว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยเกินไป จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ธนาคารกลางจะต้องเดินหน้าชนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ”

ประการที่สอง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวลดลงมาก ซึ่งไอเอ็มเอฟคาดว่าปี 2565 จีนจะขยายตัว 3.2% นับเป็นจุดต่ำสุดครั้งที่สองตั้งแต่ปี 2520 สะท้อนถึงผลการล็อกดาวน์เมืองหลายต่อหลายครั้งจากมาตรการซีโร่โควิด และวิกฤติของภาคอสังหาริทรัพย์ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะดึงให้ภูมิภาคโตชะลอลงเนื่องจากความเกี่ยวข้องด้านการค้าและการเงิน

ประการที่สาม สงครามในยูเครน ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมต่อภูมิภาคเอเชีย ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาน้ำมันและราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ปัญหาในระดับโลกคือการเกิดซัพพลายเชนดิสรัปชั่น ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน 

รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการแตกกลุ่ม (Fragmentation) ของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจทำให้การผลิตในเอเชียลดลงถึง 1.5- 3% อันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของผู้กำหนดนโยบายในการสนับสนุนความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนผู้กำหนดนโยบายจะต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้าง มีการวางนโยบายทางการคลังอย่างระมัดระวังไปในทิศทางที่สนับสนุนนโยบายการเงิน โดยออกมาตรการเฉพาะกิจและพุ่งเป้า เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจะการวิกฤติขาดแคลนอาหารอาหารและพลังงาน รวมถึงชดเชยความสูญเสียจากการโยกงบประมาณส่วนหนึ่งมาแก้ปัญหาโรคระบาดใหญ่ อาทิ การศึกษา การส่งเสริมความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาด้านดิจิทัล

ในขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวทั้งหมดนี้้เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินต่อไป”