เศรษฐกิจ BCG ในเอเปก, จะไปได้ไกลแค่ไหน | สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
การเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปี 2022 นี้ รัฐบาลไทยได้นำเสนอเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เข้าสู่วาระของการประชุมโดยมุ่งหวังว่าจะให้สมาชิกใช้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุมและสมดุล
โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบการทางธุรกิจเพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสียและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด แต่ดังที่เป็นที่ทราบกันดีว่า เอเปกนั้นมีวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และแผนปฏิบัติการโอแตโรอา
รวมทั้งแผนการอื่นๆ อีกมากมายที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้ต้องดำเนินการอยู่แล้วจนเต็มมือ บรรดาเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีและผู้นำก็จดจำแผนงาน โครงการ เอกสารต่างๆ ของเอเปกกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว ยังจะสามารถบรรจุโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้าไปได้อีกหรือ
เจ้าหน้าที่อาวุโสของเอเปกซึ่งมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานได้นำเสนอ BCG เข้าสู่วาระตั้งแต่การประชุมครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยความตั้งใจที่จะทำเป็นเอกสารแยกต่างหากภายใต้ชื่อ Bangkok Goal on BCG Economy หรือในภาษาไทยเรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG”
จัดได้ว่าเป็นความทะเยอทะยานอันสูงสุดของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ชื่อเมืองหลวงติดอยู่ในเอกสารสำคัญของเอเปกเทียบชั้นได้กับ Bogor Goal ที่เคยเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปิดเสรีทางด้านการค้าและการลงทุนภายในปี 2020 เมื่อครั้งที่เอเปกได้ประชุมกันที่เมืองโบกอร์ประเทศอินโดนีเซียปี 1994 ที่ยังคงมีการอ้างอิงกันจนถึงปัจจุบัน
เจ้าหน้าที่ของไทยในฐานะเจ้าภาพและประธานในที่ประชุมทำหน้าที่ในการจัดทำร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ และรายงานความคืบหน้าให้กับที่ประชุมทราบอีกครั้งหนึ่งในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคม
เพื่อให้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้เอกสารฉบับนี้เป็นสถาปัตยกรรมของเอเปก เป็นกลไกที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
มีภาคส่วนที่ว่าด้วยการปฏิบัติ มีเป้าหมาย มีการบังคับใช้และที่สำคัญมีกลไกติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในเอเปกตลอดเวลา ฝ่ายไทยมีความมุ่งหวังว่า สำนักงานเลขาธิการและคณะทำงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการจะมีส่วนร่วมในการผลักดันและการบังคับใช้เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG นี้ด้วย
รายงานของหน่วยสนับสนุนนโยบาย ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักเลขาธิการเอเปกได้นำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่าสมาชิกเอเปกอาจจะสามารถบูรณาการโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ากับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียนได้
หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ของไทยก็เริ่มเวียนเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ให้สมาชิกได้พิจารณาพร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขจนกลายเป็นร่างที่สองนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนสิงหาคมที่เชียงใหม่
รัฐบาลไทยได้จัดสัมมนาโต๊ะกลมว่าด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจ BCG เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่เชียงใหม่ ที่น่าสนใจการสัมมนาครั้งนั้นมีผู้แทนบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง SCG และมิตรผล เข้าร่วมนำเสนอและมีองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร AGROS ที่ทำงานกับเกษตรกรในละตินอเมริกามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่อาจจะใกล้เคียงกับโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG
เอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG จะปรากฏสู่สาธารณะในวันสุดท้ายการประชุมสุดยอดหลังจากที่ผู้นำให้การรับรองเพื่อให้มีฐานะเป็นเอกสารของเอเปก แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้มีเอกสารนั้น ฝ่ายไทยพยายามจะทำให้คำว่า BCG ปรากฎอยู่แถลงการณ์ของการประชุมสำคัญๆระดับรัฐมนตรีเกือบทุกรายการ
เช่น แถลงการณ์ของประธานในที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกในเดือนพฤษภาคมในหัวข้อการสร้างสมดุลในทุกมิติ เขียนว่า “เราได้จดบันทึกความพยายามของเอเปกรวมทั้งการจัดทำแถลงการณ์แยกเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 อย่างยั่งยืน สมดุลและเสมอภาครวมทั้งให้เป็นแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ถ้อยแถลงของประธานที่ประชุมรัฐมนตรีป่าไม้เอเปกเดือนสิงหาคมที่เชียงใหม่ กล่าวถึงเศรษฐกิจ BCG ในย่อหน้าสุดท้ายว่า “สนับสนุนให้มีการใช้แนวทางที่มีลักษณะเป็นองค์รวมและหลอมรวมอย่างเช่นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคส่วนป่าไม้ เฉพาะอย่างยิ่งการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เพื่อทำความก้าวหน้าให้กับแผนงานที่มีอยู่แล้วในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างเสมอภาคไปทั่วภูมิภาค”
แถลงการณ์ของประธานที่ประชุมรัฐมนตรีทางด้านความมั่นคงทางอาหารในเดือนสิงหาคม เขียนว่า “เราสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกลองพิจารณาแนวทางเศรษฐกิจ BCG และนวัตกรรมเพื่อเกื้อหนุนการฟื้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19”
ถ้อยแถลงของประธานที่ประชุมว่าด้วยสตรีและเวทีเศรษฐกิจในเดือนกันยายนที่กรุงเทพฯ เขียนว่า “เราต้อนรับสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นคงทนที่เป็นหัวข้อหลักของการเสริมความเข้มแข็งให้สตรีผ่านวิสัยทัศน์เศรษฐกิจ BCG”
ทั้งหมดนั้นคือ ความพยายามที่จะทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้าไปอยู่ในเอเปกให้มากที่สุดและนานที่สุด แต่จะนานแค่ไหนหรือไปไกลแค่ไหนคงจะต้องว่ากันอีกที เพราะเมื่อการเป็นเจ้าภาพของไทยผ่านพ้นไปในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้เรื่องทั้งหมดก็อาจจะนอนนิ่งอยู่ในแถลงการณ์
เจ้าภาพในปีถัดไปคือ สหรัฐ อาจจะเสนอประเด็นใหม่ๆ เข้าสู่วาระการประชุมและเจ้าหน้าที่ของไทยที่ไปร่วมการประชุมจะมีความเพียรพยายามสักเพียงใดในการติดตามคำว่า BCG ไม่ให้ตกหล่นจมหายไปในกองเอกสารอันพะเนินเทินทึกของเอเปก