ดีพร้อม อัดสินเชื่อเอสเอ็มอี วงเงิน 20 ล้านบาท ฝ่าวิกฤติอุทกภัย

ดีพร้อม อัดสินเชื่อเอสเอ็มอี วงเงิน 20 ล้านบาท ฝ่าวิกฤติอุทกภัย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ DIPROM Pay วงเงิน 20 ล้าน คิดดอกเบี้ยปีแรก 1% ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฟื้นฟูหลังวิกฤติน้ำท่วม

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อิทธิพลจากพายุโนรูและพายุเซินกา ประกอบกับภาวะฝนตกหนักสะสมในหลายพื้นที่ส่งผลให้ประชาชนในหลายจังหวัดต้องเผชิญสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งกำชับหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน 

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้กำหนดมาตรการเพิ่มสภาพคล่องผ่านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือต้องอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยและเป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนฯ ชั้นดีรายเดิม ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับสิทธิ 3 เด้ง คือ 

1. พักชำระหนี้ไม่เกิน 4 เดือน 

2. ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี 

3. สามารถขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี โดยรวมแล้วต้องไม่เกินระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม

ทั้งนี้ยังมีสิทธิขอกู้เงินเพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ต่อราย/กิจการ กรณีเป็นลูกหนี้รายเดิมที่มีการชำระหนี้เป็นปกติหรือ เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและมีความประสงค์ขอรับสินเชื่อ DIPROM Pay 

พร้อมกันนี้ ดีพร้อมได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ช่วยประเมินสภาพปัญหา พร้อมการวางแผนฟื้นฟูผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC) โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเอง หรือ ส่งคำขอทางไปรษณีย์มาที่ กลุ่มบริหารเงินทุน สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1-11 ที่ประจำอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ ดีพร้อมยังได้เร่งดำเนินมาตรการส่งธารน้ำใจไปยังผู้ประสบภัย ด้วยถุงยังชีพ เครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อเป็นส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ภาคประชาชน พร้อมทั้งส่งทีมวิศวกรและช่างเทคนิคเข้าซ่อมแซมเครื่องจักรกลที่ได้รับความเสียหายฟื้นฟูอาคารโรงเรือนเพื่อให้ภาคการผลิตสามารถกลับมาดำเนินการได้ พร้อมการฝึกฝนทักษะอาชีพดีพร้อมเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนฯ พบว่ามีจำนวนกว่า 200 กิจการ ที่ได้รับผลกระทบมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 13.183 ล้านบาท จากอุทกภัยในครั้งนี้