รัฐบาลเร่งเครื่อง ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ดึงลงทุนเกม - ดิจิทัลคอนเทนท์
อุตสาหกรรมดิจิทัลนอกจากจะเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่ประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคืออุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น ที่สามารถยกระดับสู่การเป็นเจ้าของเนื้อหาและร่วมลงทุนกับบริษัทสตูดิโอแอนิเมชั่นระดับโลก
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลยังเป็นอุตสาหกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อน “Soft Power” ของไทย ซึ่งกำลังเร่งผลักดันผ่านหลายแนวทาง รวมถึงการผลักดันผ่านคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย “Soft Power” ซึ่ง
รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย “Soft Power” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และไปสู่เวทีโลก
คณะกรรมการชุดนี้มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวง และผู้อำนวยการอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ
“สุพัฒนพงษ์” เปิดเผยว่า การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทุกคนติดตาม กิจกรรมต่างๆที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่น กิจกรรมดนตรี งานศิลปะ การถ่ายทำภาพยานตร์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมไทยได้รับการตอบรับในเวทีต่างประเทศมากขึ้น
สำหรับการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์เบื้องต้นได้ทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีงานหลายด้านทั้งการทำหนังสือ ดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งต้องเรียงลำดับจัดความสำคัญแล้วทำโฟกัสกรุ๊ปแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่มีแบบมุ่งเป้าเพื่อให้ขับเคลื่อนได้
ทั้งนี้แนวทางจะใช้วิธีเดียวกับที่แก้ไขปัญหาอุปสรรคเหมือนที่เคยแก้ปัญหาสำเร็จ เช่น การแก้ไขปัญหาให้กองถ่ายทำภาพยนตร์มาถ่ายทำในไทย อีกส่วน คือ การรับฟังปัญหาจากภาคเอกชน และเมื่อมีการวางแผนแก้ปัญหาร่วมกันกับภาคเอกชนแล้วถือว่ามีสัญญาในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วยว่าเมื่อภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาแล้วเอกชนต้องไปส่งเสริมผลักดันให้เกิดการลงทุน เพื่อให้เกิดรายได้และประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ซึ่งต้องหารือว่าจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นแค่ไหน
“เรื่องที่ต้องส่งเสริมเร่งด่วนสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย คือ อุตสาหกรรมเกม ซึ่งขณะนี้เอกชนไปลงทุนที่ย่านบางนา เป็นพื้นที่ที่ทำเป็น Arena ขนาดใหญ่ที่สามารถใช้แข่งขันเกมระดับโลกได้ โดยพยายามดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศมาลงทุนไทย”
ขณะนี้ทีมปฏิบัติการเชิงรุกในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย ที่มี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าทีมกำลังพยายามทำงานอย่างเต็มที่ในการหารือเรื่องนี้กับนักลงทุนต่างประเทศ โดยประเทศที่เจรจา เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเกม และจัดอีเวนต์เรื่องเกมในบริษัทใหญ่
“ในการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียได้ไปทาบทามให้เข้ามาลงทุน โดยไทยมีความพร้อมมีอาคาร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการลงทุน ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนในสาขานี้นอกจากจะช่วยให้เกิดการลงทุนในสาขาเทคโนโลยีใหม่ ยังเป็นเรื่องดีที่จะเกิดเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ในไทย”
ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในส่วนเรื่องของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมเกม แอนนิเมชั่น เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมเกมและแอนนิเมชั่นถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนมาก จึงต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย
ส่วนความพร้อมของบุคลากรไทยถือว่ามีคนที่เก่งในสาขาเกมส์ออนไลน์และการเขียนโปรแกรมเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการวางโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกการลงทุนจะจูงใจนักลงทุนรายใหญ่สาขาเกมส์ แอนนิเมชั่นและกีฬาอีสปอร์ต มาลงทุนไทย
รายงานข่าวระบุว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ขยายตัวมาก เพราะโควิด-19 ทำให้ช่วงล็อกดาวน์มีการใช้งานคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์มากขึ้น โดยช่วงดังกล่าวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุอิอาระเบีย (Saudi sovereign wealth fund) ที่ชื่อว่ากองทุน “Saudi Arabia’s Public Investment Fund” ได้เข้าซื้อหุ้นในกิจการของบริษัทเกมชั้นนำทั่วโลก ประกอบด้วย
Capcom, EA, Activision Blizzard, Take Two, and SNK และล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมากองทุนฯได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Nintendoในสัดส่วน 5.01% วงเงิน 2.98 พันล้านดอลลาร์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดอันดับ 5 ในบริษัท โดยลงทุนอุตสากรรมเกมของซาอุอาระเบียเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียลงภายใน 2030
นอกจากนี้รัฐบาลเร่งความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายเป้าหมายมูลค่าการลงทุน 300,000-600,000 ล้านบาท โดยเดือน มี.ค.2565 กำหนด 7 โครงการเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งเดือน พ.ค.2565 ได้เดินทางเข้าพบเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย
สำหรับแผนดำเนินงานปัจจุบันได้หารือความร่วมมือครอบคลุมธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ การเกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพและบริการ ส่วนแผนดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 จะหารือความร่วมมือการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV เกม และ Metaverse