‘ประวิตร’ยึดอำนาจ‘เบ็ดเสร็จ" นั่งหัวโต๊ะ ครม.นัดแรกเคาะ 6.3 พันล้าน

‘ประวิตร’ยึดอำนาจ‘เบ็ดเสร็จ"  นั่งหัวโต๊ะ ครม.นัดแรกเคาะ 6.3 พันล้าน

“ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ครม.นัดแรกอนุมัติ 6.3 พันล้านบาท อัดงบลงท้องถิ่นซ่อมถนน-แหล่งน้ำ 5.2 พันล้าน พร้อมจ่ายเบี้ย อสม. ถอนวาระของบอุ้มค่าไฟฟ้า 8 พันล้าน กันไว้เหตุฉุกเฉิน รอมหาดไทยเสนออีกครั้ง “สุพัฒนพงษ์”ห่วงปมพลังงานแพง-ดอกเบี้ยขึ้น หารือแบงก์พาณิชย์ตรึงดอกเบี้ย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกวานนี้ (30 ส.ค.) โดยมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณหลายวาระ หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 215/2565 เรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ส.ค.2565 และให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 24 ส.ค.2565

สำหรับคำสั่งดังกล่าวให้ พล.อ.ประวิตร รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และกรณี พล.อ.ประวิตร ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับดังนี้ นายวิษณุ เครืองาม ,นายอนุทิน ชาญวีรกูล ,นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ,นายดอน ปรมัตถ์วินัย และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นอกจากนี้กำหนดให้ พล.อ.ประวิตร มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการหรือองค์กรใด

ทั้งนี้ กรณีผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีที่มาทำหน้าที่แทน พล.อ.ประวิตร จะสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติงบประมาณที่อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประวิตร ก่อน

‘ประวิตร’ยึดอำนาจ‘เบ็ดเสร็จ\"  นั่งหัวโต๊ะ ครม.นัดแรกเคาะ 6.3 พันล้าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุม ครม.ว่า ได้ชี้แจง ครม.ว่าไม่มีสุญญากาศ โดย ครม.มีอำนาจเต็มไม่ใช่ ครม.รักษาการ รวมทั้งรักษาการนายกรัฐมนตรีมีคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งระบุว่าถ้านายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนตามที่ ครม.มีมติมอบหมาย

รวมทั้งหากมีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้ ครม.จัดลำดับ แต่หากไม่มีการจัดลำดับให้ ครม.เลือกรัฐมนตรีขึ้นมา ซึ่งวันนี้ไม่ไปไกลถึงขั้นนั้นเพราะมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2563 จัดลำดับไว้แล้ว

นายวิษณุ กล่าวว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่จัดลำดับไว้ระบุว่าเวลารักษาราชการจะจัดการงานได้หมดยกเว้นการแต่งตั้งและเรื่องงบประมาณที่ต้องปรึกษานายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งวันนี้มีการเสนอคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีปรับปรุงคำสั่งดังกล่าว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พล.อ.ประวิตร เมื่อรักษาการแล้วหากมีการแต่งตั้งโยกย้ายหรือมีเรื่องงบประมาณจะต้องไปปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่จึงต้องแก้คำสั่งตัดประโยคนี้ออกไป เพื่อให้มีอำนาจเต็มและมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 24 ส.ค.2565

“ประวิตร”เคาะงบ6.3พันล้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้อนุมัติงบประมาณ 6,3000 ล้านบาท รวม 2 โครงการ ได้แก่

1.อนุมัติวงเงิน 1,050 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม 2565 เพื่อเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1.03 ล้านคน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 10,577 คน รวม 1.05 ล้านคน อัตราคนละ 500 บาท/เดือน ระยะเวลาเดือน เม.ย.-พ.ค.2565

 

ทั้งนี้รัฐบาลได้เคยให้ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่ อสม.และ อสส.ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในชุมชนไปก่อนหน้านี้เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564-มี.ค.2565 วงเงิน 3,150 ล้านบาท

2.อนุมัติงบประมาณ 5,282 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน 69 จังหวัด จำนวน 2,086 โครงการ เพื่อเร่งฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง ถนนและพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ อปท.ให้กลับมาใช้งานปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 12 จังหวัด 414 โครงการ , เทศบาลนคร 1 จังหวัด 2 โครงการ ,เทศบาลเมือง 10 จังหวัด 19 โครงการ ,กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 68 จังหวัด 1,651 โครงการ , เทศบาลตำบล 58 จังหวัด 430 โครงการ , องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 68 จังหวัด 1,221 โครงการ

ภาคอีสานรับงบมากที่สุด

ส่วนวงเงินงบประมาณจำแนกตามภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 9 จังหวัด 183 โครงการ วงเงิน 346.13 ล้านบาท ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด 883 โครงการ วงเงิน 1,884.28 ล้านบาท ,ภาคกลาง 6 จังหวัด 580 โครงการ วงเงิน 1,146.00ล้านบาท

ภาคตะวันออก 7 จังหวัด 52 โครงการ วงเงิน 142.02 ล้านบาท ,ภาคตะวันตก 5 จังหวัด 65 โครงการ วงเงิน 325.90 ล้านบาท และภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด 323 โครงการ วงเงิน 1,438.24 ล้านบาท

“โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความร่วมรับผิดชอบของ อปท. เช่น ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซ่อมแซมถนนลาดยางมะตอย ปรับปรุงผิวจราจรจากลูกรังเป็นถนนหินคลุกบดอัด ซ่อมแซมไหล่ถนน ขุดลอกคูคลองและขุดสระน้ำเป็นต้น ซึ่ง ครม.ย้ำให้ทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของราชการและประชาชน”

ถกนอกรอบก่อนถอนวาระค่าไฟ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้งบประมาณอุดหนุนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) 8,000 ล้านบาท งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ได้หารือนอกรอบระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ โดยวงเงิน 8,000 ล้านบาท ไม่สามารถใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2565 ได้เพราะเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยมีคำขอใช้งบประมาณมาแล้ว 5,000 ล้านบาท ขณะที่งบกลางต้องกันไว้กรณีเกิดภัยพิบัติเร่งด่วน

ทั้งนี้การเยียวยาค่าไฟให้ประชาชนมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.กรณีอุดหนุนประชาชน 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค.) ให้กระทรวงมหาดไทยขอใช้งบประมาณ 2 ส่วน คือ เดือน ก.ย.ขอใช้งบกลาง 2565 และช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ขอใช้งบกลาง 2566 

2.กรณีการอุดหนุนประชาชน 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) ให้ขอใช้งบประมาณกลาง 2566 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.2565

มหาดไทยเสนองบฯมาใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมช่วงที่เหลือปีนี้ แต่โฟกัสในส่วนมาตรการที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะยุโรปใกล้เข้าฤดูหนาวที่ต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ช่วงขาขึ้นซึ่งผลกระทบประชาชนทั้ง 2 เรื่องรัฐบาลพยายามหามาตรการช่วยเหลือ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยยังไม่ได้พิจารณาใน ครม.แต่ได้รายงาน ครม.ว่ามาตรการช่วยเหลือจะสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะทำรายละเอียดเสนอ ครม.โดยเสนอภายในเดือน ก.ย.ได้เพราะค่าไฟฟ้าจะคิดปลายเดือน ก.ย.ซึ่งยังพอมีเวลาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือได้

ชงประวิตรประชุม กพช.

นอกจากนี้ได้แจ้งให้ พล.อ.ประวิตร ถึงการประชุมสำคัญด้านเศรษฐกิจที่ค้าง คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีวาระต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่วนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ คาดว่าจะเข้าสู่ กพช.ครั้งถัดไป โดยเบื้องต้นหารือกันได้ใน กบง.ถึงสัดส่วนการผลิตเชื้อเพลิงของประเทศที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดควบคู่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (โซลาลูฟท็อป)

ส่วนใการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนในวันที่ 1 ก.ย.2565 กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งแบ่งตามกลุ่มผู้มีหนี้สินแบ่งเป็นกลุ่มเขียว เหลือง แดง โดยมีมาตรการที่จะช่วยเหลือรายกลุ่ม ซึ่งต้องระวังวินัยการเงินการคลัง ส่วนหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยได้ให้นโยบายไปแล้วว่าให้พยายามยืดหยุ่นอย่าไปใช้กระบวนการทางศาลเพื่อบังคับคดีจนประชาชนเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย

หารือแบงก์ตรึงดอกเบี้ย

สำหรับความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นได้หารือธนาคารพาณิชย์ โดยขอความร่วมมือให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด โดยมองว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารของไทยยังคงเหลืออยู่และไม่จำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะเร่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามประเทศอื่นๆ

“เรื่องอัตราดอกเบี้ยได้พยายามขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการประคับประคองที่จะไม่ให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดเรายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว