รัฐบาลดิจิทัล (2): ทำอย่างไรให้ ‘ช้างเต้นระบำ’

ลู เกอร์สท์เนอร์ (Lou Gerstner) อดีต CEO IBM เขียนหนังสือ ชื่อ “ใครว่าช้างเต้นระบำไม่ได้” (Who Says Elephants Can’t Dance?) เล่าประสบการณ์การพลิกโฉมไอบีเอ็มจากบริษัทขายคอมพิวเตอร์ที่ใกล้ล้มละลาย มาเป็นบริษัทให้บริการและที่ปรึกษาไอที ที่เฟื่องฟูได้สำเร็จในยุค 90

บทความตอนนี้ จะเสนอว่าทำอย่างไรจึงให้ภาครัฐไทยเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลได้

สำหรับหน่วยงานภาครัฐ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระดับประเทศและองค์กร เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะงบประมาณจะถูกจัดสรรให้กับโครงการที่สอดคล้องกับแผนต่างๆ เช่น แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พอมาถึงเรื่องรัฐบาลดิจิทัล เราจึงต้องเริ่มจากแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

การเขียนแผนที่ดีนั้น “เป้าหมายต้องชัด” มีตัวชี้วัดไม่กี่ตัว หน่วยงานไหนรับผิดชอบอะไรและสำคัญที่สุด คือต้องสำเร็จภายในเมื่อไร ไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดมากมายแต่ “ยุทธศาสตร์ต้องคม” คือมีแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจน สร้าง “ความแตกต่าง” จากที่เคยทำมาในอดีตหรือคนอื่นๆ และคาดหวังได้ว่าจะนำไปสู่ “การบรรลุผล” ได้อย่างแท้จริง ส่วนรายละเอียดนั้น ต้องปล่อยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ ไป “คิดและดำเนินการเอง”

อันที่จริง ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน การคาดการณ์อนาคตและเขียนแผนดำเนินการโดยละเอียดในระยะ 5 ปีเป็นเรื่องยากมาก แผนระยะยาวจึงควรระบุเพียงความมุ่งหมาย (Purpose) และทิศทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเท่านั้น โครงการและวิธีดำเนินการควรปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และผลจากการดำเนินการจริง (แบบ Agile)

แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ฉบับปัจจุบัน (ปี 2566-2570) จึงกำหนดเป้าหมายของแผนไว้เพียง 2 เป้าหมาย คือ ความพึงพอใจในคุณภาพของบริการออนไลน์ภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ไม่เกินอันดับที่ 40 ของโลก (จากปัจจุบัน อันดับที่ 55)

สาระสำคัญของแผนฉบับนี้คือการยกระดับจากการเป็น “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” (E-Government) ซึ่งเน้นการให้บริการ e-service ไปสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” (Digital Government) ซึ่งคือภาครัฐที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data-Driven) และนำไปสู่บริการประชาชนที่เป็นเลิศ (Smart Services) ในระยะต่อไป

ส่วนเป้าหมายย่อยจึงเน้นมิติต่างๆ ที่จะทำให้ภาครัฐเกิดความคล่องตัว (Agile) ตอบสนองประชาชน (Responsive) และให้ประชาชนมีส่วนร่วม (Participative) มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสีย 4 กลุ่มคือ ภาครัฐที่ต้องทำให้ตัวเองคล่องตัว ภาคประชาชนที่ได้รับสิทธิสวัสดิการโดยสะดวก ภาคธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ และภาคประชาสังคมที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนจะสัมผัสได้ชัดเจนที่สุด คือภาพของบริการที่ประชาชนจะได้รับจากภาครัฐในภาคส่วนต่างๆ เราจึงกำหนดสาขาหรือโดเมนสำคัญ ที่จะต้องมีการบูรณาการข้อมูลเพื่อให้เกิด “บริการใหม่” ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไว้ 10 โดเมน ได้แก่ ด้านสิทธิสวัสดิการ สุขภาพการแพทย์ การศึกษา สิ่งแวดล้อม เกษตร แรงงาน ท่องเที่ยว SME การมีส่วนร่วมของประชาชน และด้านการยุติธรรม

ตัวอย่างเช่น ในด้านสิทธิสวัสดิการประชาชนนั้น DGA ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บูรณาการข้อมูลสิทธิสวัสดิการของประชาชนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด คนชรา คนพิการ และอื่นๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลสิทธิสวัสดิการของตนเองได้ ผ่านแอปเดียวคือ แอปทางรัฐ

เมื่อมีแผนแล้ว การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญและยากที่สุด การขับเคลื่อนหน่วยงานกว่า 7,850 กว่าหน่วยงาน เป็นเรื่องท้าทายมาก เราจึงแบ่งกลุ่มของหน่วยงานรัฐ และบทบาทหน้าที่ของ DGA ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานเหล่านั้นแตกต่างกันดังนี้

กลุ่มแรกคือ หน่วยงานที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลสูง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น หน่วยงานกลุ่มนี้ได้พัฒนาด้านดิจิทัลไปได้ในระดับก้าวหน้า และมีแรงผลักสำคัญคือเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเชื่อมต่อและแข่งขันได้ในระดับโลก

บทบาทของ DGA จึงเป็นการเข้าร่วมกับโครงการริเริ่มสำคัญๆ ในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เช่น ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เพื่อนำแนวทางมาพัฒนาเป็นมาตรฐานสำหรับการใช้งานของภาครัฐในกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

กลุ่มที่สองคือ หน่วยงานที่มีความสำคัญในโดเมนต่างๆ ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กลุ่มนี้จะมุ่งทำให้เกิดการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานในแต่ละโดเมน บทบาทของ DGA จึงเป็นเรื่องการขับเคลื่อนให้หน่วยงาน ทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ซึ่งก็คือการกำหนดกรอบการทำงานของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพ การจัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญ และการพัฒนาให้เกิดบริการใหม่ที่เป็นผลมาจากการบูรณาการข้อมูลร่วมกันนั้น

กลุ่มที่สามคือ หน่วยงานที่เหลือซึ่งมีจำนวนมากที่สุด DGA ไม่สามารถไปให้คำแนะนำรายหน่วยงานได้ จึงใช้วิธีกำหนดเป้าหมายผ่านตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งกำหนดไว้ 2 เรื่องหลัก คือ การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

นอกจากนี้ เราก็จัดทำมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นแนวทางทำงาน ตลอดจนจัดให้มีแพลตฟอร์มกลาง เพื่อให้หน่วยงานที่มีความพร้อมจำกัดด้านเทคนิค สามารถเข้ามาใช้ระบบเพื่อก้าวกระโดดไปสู่ดิจิทัลได้โดยเร็วยิ่งขึ้น

ดังเช่น “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” ที่ DGA พัฒนาขึ้นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มให้บริการประชาชนเป็นออนไลน์ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไปพัฒนาระบบเอง

ในตอนต่อไป เราจะมาดูผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาในแต่ละมิติของผลลัพธ์กัน