ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

อ่านบทสัมภาษณ์ “กรณ์ สงวนแก้ว” อุปนากยกสมาคมกาแฟพิเศษประเทศไทย ถึงสาเหตุที่ทำให้ราคากาแฟต่อแก้วในประเทศไทยสูงทะลุ 100 บาท ตั้งแต่กำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ สภาวะโลกร้อน รวมไปถึงภาษีนำเข้ากาแฟของไทยที่สูงเฉียด 100%

ทุกวันนี้ “กาแฟ” อาจเป็นเหมือนปัจจัยที่ห้าของใครหลายคนถึงขนาดที่ว่าตื่นเช้ามาต้องรีบตรงดิ่งไปที่เคาน์เตอร์กาแฟสุดโปรดเพื่อชง “กาแฟยามเช้าที่หอมกรุ่นอยู่เสมอ” แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาราคากาแฟแก้วโปรดของใครหลายๆ คนกลับพุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สวนทางกับค่าครองชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

โดย “ราคากาแฟ” ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าอย่าง ดัชนีนิวยอร์ก อาราบิก้า ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาเมล็ดกาแฟที่ใช้ในร้านกาแฟทั่วไปปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว และปรับตัวขึ้นประมาณ 15% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านสิ้นสุด ณ เดือนมี.ค. 2567

รวมทั้ง สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า สัดส่วนราคาเมล็ดกาแฟเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเมล็ดกาแฟในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น 120% อินโดนีเซีย 90% และเวียดนาม 60%

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

สอดคล้องกับบทความ “เทียบ 10 กาแฟแบรนด์ดังในไทย เมนูยอดฮิต ราคาเท่าไรกันบ้าง” ของกรุงเทพธุรกิจเคยเปรียบเทียบราคากาแฟอเมริกาโน่เย็นแก้วเล็กของแต่ละแบรนด์ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า ราคาสูงที่สุดสามอันดับแรกอยู่ที่ Starbuck, The Coffee Club, และ TrueCoffee คือ 120 บาท 115 บาท และ 105 บาทตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า "ราคากาแฟไทย" จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกอยู่บ้าง แต่สถานการณ์กาแฟในบ้านเราก็มีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้ราคาต่อหนึ่งแก้วพุ่งทะลุ 100 บาทเช่นกัน  ดังนั้นวันนี้ (13 เม.ย. 2567) กรุงเทพธุกิจชวนพูดคุยกับ “คุณกรณ์ สงวนแก้ว” อุปนากยกสมาคมกาแฟพิเศษประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์กาแฟในประเทศไทย

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

ผลิตกาแฟได้น้อยสวนทางกับการบริโภค

คุณกรณ์เริ่มต้นอธิบายว่า ปัญหาราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นทะลุ 100 บาทต่อแก้วเกิดจากสี่ปัจจัยหลัก อย่างแรกคือ ความต้องการบริโภคกาแฟในประเทศไทยสูงมากเมื่อเทียบกับซัพพลายกาแฟที่สามารถผลิตได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือประเทศไทยเป็นประเทศที่บริโภคกาแฟมากกว่าที่เกษตรกรสามารถผลิตได้

โดยปริมาณการบริโภคเมล็ดกาแฟอาราบิก้าสูงกว่าที่ผลิตได้อยู่ 2-3 เท่าในขณะที่เมล็ดกาแฟโรบัสต้าอยู่ที่ราว 10 เท่า และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วคนไทยบริโภคกาแฟทั้งอาราบิก้าและโรบัสต้ามากกว่าที่สามารถผลิตได้ประมาณ 4-5 เท่า

สาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรกาแฟไทยไม่สามารถปลูกกาแฟได้มากตามความต้องการบริโภคเป็นเพราะกาแฟอาราบิก้าที่ดีส่วนใหญ่ต้องปลูกบริเวณที่มีความสูง 800 – 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนทำให้เกษตรกรกาแฟไม่สามารถขยายพื้นที่การเกษตรออกไปเพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นได้

ประกอบกับเมื่อไร่กาแฟอยู่บนพื้นที่ราบสูงทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถนำเครื่องทุ่นแรงขึ้นไปเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จึงต้องอาศัยเพียงแรงกายของเกษตรกรเท่านั้น (ซึ่งก็มีจำกัดและไม่สามารถทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนเครื่องจักรได้) ทั้งสองปัจจัยจึงเป็นตัวบีบซัพพลายกาแฟของไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

'โลกร้อน' ตัวป่วนกาแฟไทย

ปัจจัยต่อมาคือ “สภาวะโลกร้อน” ที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนจนฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล โดยคุณกรณ์เล่าว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่ราคาเมล็ดกาแฟในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากฝนกลับตกลงมาในช่วงเวลาที่กาแฟกำลังออกดอกซึ่งเป็นสถานากรณ์ที่ไม่ปกติ จึงทำให้ในปีนั้นปริมาณกาแฟที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ลดน้อยลงไป 50% ทั้งหมดก็ยิ่งกดดันสถานการณ์ราคากาแฟในประเทศไทยมากขึ้นไปอีก

คนปลูกไม่ได้คั่ว คนคั่วไม่ได้ขาย 

ส่วนประเด็นที่สามคือธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจที่ห่วงโซ่อุปทานยาวมากตั้งแต่คนต้นน้ำคือเกษตรกรกาแฟ คนกลางน้ำคือโรงคั่วกาแฟ และคนปลายน้ำคือร้านกาแฟ ดังนั้นทุกขั้นตอนล้วนดันราคากาแฟให้สูงขึ้นไปทีละระดับ

นอกจากนี้ คุณกรณ์อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างราคาเมล็ดกาแฟบนดอยกับเมล็ดกาแฟหน้าร้านว่า “หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมกาแฟกาแฟกิโลกรัมละ 30 บาทบนดอยพอมาถึงหน้าร้านราคากลับพุ่งสูงขึ้นไปแตะ 300 บาทต่อกิโลกรัม ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะต้องใช้กาแฟเยอะมากกว่าจะได้กาแฟคั่วสุกหนึ่งกิโลกกรัม”

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

“อธิบายคร่าวๆ คือผลกาแฟจากต้น 7 กิโลกรัมจะได้เมล็ดกาแฟดิบที่ยังไม่คั่ว 1 กิโลกกรัม ขณะที่เมล็ดกาแฟดิบที่ยังไม่คั่ว 1.2 กิโลกกรัมจะได้เมล็ดกาแฟคั่วสุก 1 กิโลกรัม ดังนั้นหากต้องการกาแฟคั่วสุก 1 กิโลกกรัมต้องใช้ผลกาแฟจากต้นสูงถึง 8.5 กิโลกรัม”

เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการกาแฟบางรายจะพยายามครอบครองซัพพลายเชนให้มากขึ้น เช่นเป็นทั้งร้านกาแฟ โรงคั่วกาแฟ รวมทั้งเดินทางเพื่อไปซื้อเมล็ดกาแฟจากร้านเองด้วยจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ คุณกรณ์อธิบายว่า วิธีการเช่นนั้นอาจทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้นจริง แต่ก็แลกมาด้วยต้นทุนอื่นๆ เช่นค่าเดินทางไปไร่กาแฟและค่าเครื่องคั่วกาแฟที่เพิ่งขึ้นด้วย

“ถ้าเราซื้อกาแฟคั่วสุกกิโลกรัมละ 800 บาท และจากประสบการณ์กิโลกรัมนึงสามารถชงได้ 50 แก้ว หมายความว่าต้นทุนเมล็ดกาแฟต่อแก้วจะอยู่ที่ 16 บาท นี่ยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่นนม ฝา แก้ว ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ บวกไปบวกมาต้นทุนอาจสูงถึง 60% ของราคาขาย ส่วนกำไรก็อาจอยู่ที่ 15-20% เป็นต้น”

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

“เพื่อให้เห็นภาพ ถ้าร้านกาแฟขายกาแฟแก้วละ 100 บาท ก็อาจจะได้กำไร 15-20 บาท  ซึ่งถ้าทำกำไรได้ 20 บาทถือว่าเก่งมากๆ แล้ว ถ้าขายได้ 100 แก้ว วันนึงก็ได้กำไร 2,000 บาทแล้วถ้าขายทั้งเดือน เปิดร้านทุกวันก็ได้ 60,000 บาท รายได้ก็อาจจะประมาณนึง แต่ก็ไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถกอบโกยกำไรได้อย่างจริงจัง”

ภาษีนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศสูงเฉียดฟ้า

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือภาษีนำเข้ากาแฟในประเทศไทยสูงเฉียด 100%โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยว่าคนไทยบริโภคกาแฟโดยรวมประมาณ 80,000 ตันต่อปี ขณะที่เกษตรกรผลิตได้เพียง 16,000 ปีด้วยเหตุผลที่อธิบายไปข้างต้น ดังนั้นส่วนที่เหลือจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คือลาว 62% เวียดนาม 31% อินโดนีเซีย 3% บราซิล2% เมียนมา 1% และอื่นๆ 1%

ทำไมคนไทยได้กินกาแฟแพง ทั้งที่เกษตรกรปลูกเองได้ ?

ดังนั้นเมื่อต้องนำเข้ากาแฟจำนวนมากเพื่อให้รับกับความต้องการบริโภคในประเทศไทยท่ามกลางภาษีนำเข้ากาแฟที่สูงถึง 90% ซึ่งมากที่สุดอันดับสองของโลกรองจากอินเดียที่ 100% ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวจึงมีส่วนดันราคากาแฟหนึ่งแก้วให้สูงทะลุ 100 บาทในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม คุณกรณ์เล่าทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่รัฐบาลไทยตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากาแฟสูงมากเนื่องจากในปี 2515 รัฐบาลต้องการกระตุ้นให้ประชาชนในภาคเหนือปลูกพื้นอย่างอื่นนอกจากฝิ่นจึงสนับสนุนให้ปลูกกาแฟและบัญญัติให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ด้วยภาษีนำเข้ากาแฟที่สูงถึง 90% ทำให้เกษตรกรกาแฟไทยได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรที่มี “คุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในโลก”

ภาพ: ทีมงานกรุงเทพธุรกิจ