นายกโรงแรมไทยคนใหม่ หวั่นขึ้นค่าจ้าง 400 บาท แรงงานกระจุก 10 เมืองท่องเที่ยว

นายกโรงแรมไทยคนใหม่ หวั่นขึ้นค่าจ้าง 400 บาท แรงงานกระจุก 10 เมืองท่องเที่ยว

'เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์' นายกสมาคมโรงแรมไทยคนใหม่ สะท้อน 'ความกังวล' ถึงผลกระทบเรื่องการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท นำร่องกลุ่มธุรกิจ 'โรงแรม' ว่าจะเกิดผลกระทบ ทำให้ 'แรงงาน' ในโรงแรมขนาดเล็กและกลาง ไหลไปในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยวแทน

และอาจไหลไปยังโรงแรมขนาดใหญ่ 4-5 ดาวขึ้นไปด้วย จากกำลังจ่ายค่าจ้างที่มากกว่า!

หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบ 2 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ในการกำหนดอัตรา “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ประเภท “กิจการโรงแรม” เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการ “โรงแรมระดับ 4 ดาว” ขึ้นไปและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567

โดยปรับนำร่องในเขตพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่

  1. กรุงเทพฯ เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา
  2. กระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง
  3. ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
  4. เชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
  5. ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
  6. พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
  7. ภูเก็ต เท่ากันทั้งจังหวัด
  8. ระยอง เฉพาะเขต ต.บ้านเพ
  9. สงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
  10. สุราษฎร์ธานี เฉพาะเขต อ.เกาะสมุย

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) คนใหม่ เปิดใจภายหลังได้รับการเลือกตั้งวานนี้ (28 มี.ค.) หลังจาก มาริสา สุโกศล หนุนภักดี เป็นนายกสมาคมฯ ครบ 4 ปี (2 วาระ) ว่า ตามที่คณะกรรมค่าจ้างฯ มีมติกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท เฉพาะกิจการโรงแรมก่อน มองว่า “ไม่แฟร์” สำหรับธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็น “ผู้ถูกเลือก” ให้เป็นด่านหน้ากลุ่มแรก! และ “ไม่เห็นด้วย” ที่มีการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายเซ็กเตอร์

สมาคมฯ จึงเตรียมรวบรวมปัญหาของผู้ประกอบการโรงแรมจากแต่ละภาค ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวดังกล่าว เพื่อนำหารือกับ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ “ไตรภาคี” ก่อนจะมีการเสนอเรื่องขึ้นค่าจ้างฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 เม.ย.นี้

ด้วยสถานการณ์แรงงานกลุ่มโรงแรมในตอนนี้เป็นตลาดของ “พนักงาน” ไม่ได้นิ่งเหมือนยุคก่อนโควิด-19 ทุกโรงแรมเจอเรื่อง “ขาดแคลนแรงงาน” หลายคนทำงานไปด้วย แต่ก็พยายามหาที่ทำงานใหม่ไปด้วย ถ้าจ่ายให้มากกว่า ได้เซอร์วิสชาร์จมากกว่า เขาก็พร้อมไป! โดยปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งมีผลการดำเนินงานดี เขาให้เซอร์วิสชาร์จแก่พนักงานสูงกว่าตอนปี 2562 ก่อนโควิดระบาดด้วยซ้ำ

“ตอนนี้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง เขาก็เริ่มกลัว อย่างในจังหวัดทางภาคใต้ ทราบมาว่าเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในเร็วๆ นี้”

แม้การขึ้นค่าจ้างกลุ่มโรงแรมฯ ในครั้งนี้จะเพิ่มไม่ถึง 10% ยกเว้นบางจังหวัด ถ้าปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นถึง 17% แต่สิ่งที่สมาคมฯ ต้องการทราบคือ “หลักการและเหตุผล” อย่างชัดเจนในการขึ้นค่าจ้างเฉพาะกลุ่มโรงแรม 4-5 ดาว อยากให้ภาครัฐตอบคำถามเรื่องนี้กับเราให้ได้!

“แม้ตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม 4-5 ดาวจะกลับมาดีจริงในยุคหลังโควิด-19 แต่อยากให้มองว่าเซอร์วิสชาร์จขึ้นสูงกว่าตอนก่อนโควิดระบาดอีกเหมือนกัน”

ประกอบกับในอดีต การขึ้นค่าแรงจะมาจากปัจจัยค่าครองชีพตามความเหมาะสม แต่ตอนนี้เหมือนมีเป้ามา เอามาตั้ง ถึงเวลาก็ขึ้นเลย ไม่ได้เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยตรง

เทียนประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึง “ภารกิจ” และ “วิสัยทัศน์” ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทยคนใหม่ด้วยว่า หลังจากภาคธุรกิจโรงแรมผ่านวิกฤติโควิด-19 ตอนนี้การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ในบางพื้นที่มีผลการดำเนินงานดีกว่าตอนก่อนโควิดระบาด แต่บางพื้นที่ก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่นัก จึงต้องการพัฒนาสมาคมฯ และภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม โดยเฉพาะ “คุณภาพบริการ” เพราะเริ่มได้รับเสียงบ่นมาจากนักท่องเที่ยวเหมือนกันว่าโรงแรมในไทยบางแห่งมีคุณภาพบริการต่ำลง ต่างจากยุคก่อนโควิด ถือเป็นจุดที่ต้องเร่งพัฒนา!

ภาคธุรกิจโรงแรมขาดรายได้ไป 2-3 ปีจากวิกฤติโควิด ส่งผลให้ขาดแคลนทุนทรัพย์ไปด้วย โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 3 ดาวลงไป ที่เคยรับตลาดกรุ๊ปทัวร์ โลเกชันไม่ได้ติดสถานีรถไฟฟ้า พบว่าธุรกิจยังไม่กลับมา แม้แต่ใน จ.ภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวกลับมามากแล้วก็ตาม เรียกได้ว่ายัง “Suffer” ทุกข์ทรมานอยู่ ประกอบกับเจอสถานการณ์เที่ยวบินระหว่างประเทศฟื้นตัวไม่เต็มร้อย ราคาตั๋วเครื่องบินยังค่อนข้างแพงอีก

สมาคมฯ จึงเตรียมนำเรื่องนี้หารือกับรัฐบาลว่าจะมี “มาตรการสนับสนุน” (อินเซนทีฟ) หรือวิธีช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างไร ให้สามารถฟื้นตัวได้ดีและยั่งยืน โดยเฉพาะการลงทุนปรับปรุงรีโนเวตโรงแรม เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว และจะร่วมมือกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เพื่อจัดงานส่งเสริมการขายให้ผู้ซื้อ (บริษัทนำเที่ยว) และผู้ขาย (โรงแรม) ในสเกลนี้ได้มาพบปะเจรจาธุรกิจกัน

“ปัญหาของผู้ประกอบการโรงแรมรายเล็ก 2-3 ดาวในตอนนี้คือ ธุรกิจยังไม่กลับมา แต่ยังต้องจ่ายภาษีที่ดิน และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ วิ่งเข้ามา เป็นเรื่องที่สมาคมฯ ต้องเร่งคุยกับภาครัฐเช่นกัน”

นอกจากนี้ “ความท้าทาย” เรื่อง “ต้นทุน” เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องรับมืออย่างต่อเนื่อง เพราะในยุคหลังโควิด ต้นทุนการทำโรงแรมขยับขึ้น 10-20% เมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด ถ้าเจาะเฉพาะเรื่อง “ค่าจ้างพนักงาน” ก็มีการปรับขึ้นเพื่อแย่งชิงพนักงานกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย ทำให้บางแห่งลดจำนวนพนักงานลงได้ ก็น่ากังวลตรงที่คุณภาพบริการอาจลดลงตามไปด้วย

“ในภูมิภาคอาเซียนตอนนี้ ระดับราคาห้องพักเฉลี่ย (ADR) ของไทยอยู่ที่อันดับ 2 เป็นรองแค่สิงคโปร์ แต่พอมาดูดีๆ ราคาของเรายังห่างกับเขามากถึง 1 เท่าตัว ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทยคนใหม่ จึงอยากเข้ามายกระดับคุณภาพบริการของโรงแรมไทยในภาพรวมเพื่อยกระดับราคาห้องพัก”

ขณะเดียวกัน “ระเบียบการคลัง” ที่กำหนดงบประมาณให้ข้าราชการจัดงานสัมมนาหรือออกนอกพื้นที่ ปรากฏว่าไม่ได้ปรับงบประมาณในส่วนนี้มานานกว่า 18 ปีแล้ว! สวนทางกับต้นทุนโรงแรมที่ทยอยขึ้นมาตลอด 18 ปี สมาคมฯ จึงอยากให้มีการบาลานซ์ (Balance) โดยเริ่มจากภาครัฐขยับก่อน เพื่อให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมรู้สึกว่าได้รับการดูแล