'สกินแคร์' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน

'สกินแคร์' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน

ทิศทางโฆษณาดิจิทัลปี 67 เงินสะพัด 31,558 ล้านบาท โต 8% เจาะเทรนด์แรง "สกินแคร์" ทุ่มใช้เงินแซง "ยานยนต์" ปีที่ 2 หลังรถอีวีจีนมาแรงแห่ทุ่มงบลุยสื่อโฆษณานอกบ้าน แบรนด์ญี่ปุ่นไม่ยอมเปย์สื่อทีวี สื่อนอกบ้านด้วย "TikTok"ฮอต ชิงเค้กอันดับ 3

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAATจับมือ คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจมูลค่างบโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 และคาดการณ์ทิศทางเม็ดเงินลงทุนโฆษณาดิจิทัลปี 2567 หมวดหมู่สินค้าที่ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นลดลง

บทสรุปปี 2566 โฆษณาดิจัลโต 14%

ดร. อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารฝ่ายการพัฒนาธุรกิจประจำภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) พร้อมด้วย ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ และชาญชัย พงศ์นันท์ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) ร่วมให้ข้อมูล

สำหรับภาพรวมปี 2566 เม็ดเงินโฆษณาดิทัลมีมูลค่า 29,283 ล้านบาท เติบโต 14% ซึ่งเป็นการกลับมาเติบโตในอัตรา 2 หลักอีกครั้ง จากปี 2565 การเติบโตอยู่ที่ 4% เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ระบาด

\'สกินแคร์\' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน

หมวดหมู่สินค้าที่ใช้จ่ายเงินมากสุด คือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณหรือสกินแคร์ มูลค่า 3,463 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% และถือว่าเป็นการ “แซง” กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นแชมป์ใช้เงินมากสุด โดยปี 2566 กลุ่มยานยนต์ใช้จ่ายเงินโฆษณาดิจิทัล 3,000 ล้านบาท สัดส่วน 10% อันดับ 3 คือกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,393 ล้านบาท สัดส่วน 8% ตามด้วยการสื่อสาร 1,869 ล้านบาท สัดส่วน 6% และผลิตภัณฑ์นม 1,853 ล้านบาท สัดส่วน 6% ค้าปลีก 1,459 ล้านบาท สัดส่วน 5% เครื่องสำอาง 1,235 ล้านบาท สัดส่วน 4% และธนาคารมูลค่า 1,153 ล้านบาท สัดส่วน 4% เป็นต้น

“ท็อป 5 หมวดหมู่สินค้าที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาดิจิทัลมีการขึ้นลงสลับกัน แต่ปี 2566 สกินแคร์ มาแรงแซงทางโค้งแชมป์เก่าอย่างกลุ่มยานยนต์ในการใช้จ่ายเงินมากสุด”

\'สกินแคร์\' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน

ปี 67 ยานยนต์เดือด! บิ๊กแบรนด์หันเปย์สื่อโฆษณานอกบ้าน ทีวี

ส่วนแนวโน้มโฆษณาดิจิทัลปี 2567 คาดการณ์เติบโต 8% ซึ่งเป็นอัตรา 1 หลักอีกครั้ง และเม็ดเงินจะสะพัด 31,558 ล้านบาท ทั้งนี้ การเติบโตปีนี้ที่ไม่หวือหวา เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว สงครามปะทุครั้งใหม่ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง สินค้าราคาแพง ทองคำแพงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ผู้คนมีการนำเงินไปลงทุนกับทองคำมากขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงลูกค้า

ด้านหมวดหมู่สินค้าสายเปย์ปี 2567 จะเป็นอีกปีที่ “สกินแคร์” ครองแชมป์ใช้เงินมากสุด ด้วยมูลค่า 5,040 ล้านบาท เติบโต 46% ครองสัดส่วนเพิ่มเป็น 16% จากปีก่อน ขณะที่กลุ่มยานยนต์ จะใช้จ่ายลดลงมาอยู่ที่ 2,957 ล้านบาท ลดลง 1% มีสัดส่วน 9%

เหตุผลที่กลุ่มยานยนต์ใช้จ่ายเงินผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลลด เพราะการแข่งขันของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี) โดยเฉพาะจากจีนที่ยกทัพมาบุกตลาดไทย จะโยกเงินไปทุ่มกับการสร้างแบรนด์ สื่อสารการตลาดผ่านสื่อโฆษณานอกบ้านหรือ Out of Home: OOH มากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้ “ค่ายรถยนต์เจ้าตลาดแบรนด์ใหญ่เดิม” ไม่ยอมอ่อนข้อ ต้องหันไปเปย์งบซื้อสื่อโฆษณานอกบ้านเช่นกันเพื่อรักษาแชมป์ และขุมทรัพย์รายได้

\'สกินแคร์\' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน สกินแคร์เปย์งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลแซงยานยนต์อีกปี

 

“ปี 2566 สกินแคร์และยานยนต์เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาดิจิทัลเติบโต 14% ส่วนปี 2567 การใช้จ่ายเงินโฆษณาดิจิทัลของกลุ่มยานยนต์ลดลง 1% หรือค่อนข้างนิ่ง เพราะเห็นเทรนด์รถยนต์อีวีจากจีนไปแข่งขันทำแคมเปญสื่อสารการตลาดบนสื่อโฆษณานอกบ้านหมด แบรนด์หรือค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าเก่าจึงเริ่มรู้สึกสั่นคลอน หันไปใช้เงินผ่านสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภควงกว้างหรือแมสมากๆ เช่น ทีวีมากขึ้น รวมถึงสื่อโฆษณานอกบ้านด้วย”

 

วิตามิน-อสังหาฯ-ค้าปลีก กลับมาใช้เงินร้อนแรง

ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆ ปี 2567 มีทั้งใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และ “ลดลง” เริ่มที่สายเปย์งบเพิ่ม ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ค้าปลีก 1,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เครื่องสำอาง 1,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% แต่เทียบกับปี 2565 ถือว่าน้อย เพราะช่วงพ้นโควิด-19 ใช้จ่ายโต 111% วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และอสังหาริมทรัพย์ 1,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%

\'สกินแคร์\' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน

ขณะที่หมวดสินค้าใช้จ่ายลดลง ได้แก่ การสื่อสาร 1,854 ล้านบาท ลดลง 1% ผลิตภัณฑ์นม 1,798 ล้านบาท ลดลง 3% และธนาคาร 1,105 ล้านบาท ลดลง 4%

“เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ใช้จ่ายเงินโฆษณาดิจิทัลมาก เพราะหมวดน้ำอัดลม บิ๊กแบรนด์กลับมาทำตลาดกันคึกคัก เปิดตัวสินค้าและพรีเซ็นเตอร์ใหม่ทั้งโค้ก เป๊ปซี่และเอส สินค้าวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ค้าปลีก อสังหาฯ ก็ใช้จ่ายเงินมาก ส่วนที่ลดลง เช่น แบงก์ เพราะให้ความสำคัญกับการนำเงินไปลงทุนด้านแอป แพลตฟอร์ม นโยบายความเป็นส่วนตัวต่างๆ การสื่อสารเน้นใช้ช่องทางสื่อที่ตัวเองมีมากขึ้น เป็นต้น”

 

TikTok เบียดชิงเม็ดเงินอันดับ 3 ไลฟ์คอมเมิร์ซโตพุ่ง 97%

ปี 2567 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล “หมื่นล้านบาท” เมื่อแพลตฟอร์ม “ติ๊กต๊อก” (TikTok) จะเบียดแซงแบ่งเค้กเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่า 3,070 ล้านบาท เติบโต 44% และครองสัดส่วน 10% จากปี 2566 รั้งอันดับ 6 ครองเม็ดเงิน 2,130 ล้านบาท สัดส่วน 7%

\'สกินแคร์\' เปย์งบโฆษณาดิจิทัลแซงยานยนต์ TikTok เบียดขึ้นที่ 3 ชิงเม็ดเงิน TikTok Ad จากโกยเม็ดเงินขึ้นอันดับ 3 จากอันดับ 6 ปีก่อน 

ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง “เมตา”(Meta: Facebook Instagram ad) ยังครองเม็ดเงินมากสุด 8,870 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2% ครองสัดส่วน 28% ยูทูป 4,477 ล้านบาท เติบโต 5% สัดส่วน 14% ติ๊กต๊อก 3,070 ล้านบาท เติบโต 44% สัดส่วน 10% ออนไลน์วิดีโอ 2,677 ล้านบาท เติบโต 19% สัดส่วน 8% และโซเชียล 2,614 ล้านบาท เติบโต 15% ครองสัดส่วน 8%

นอกจากนี้ การไลฟ์ และไลฟ์คอมเมิร์ซ จะเห็นการเติบโตสูงถึง 97% ครองเม็ดเงิน 100 ล้านบาท หลังจากมีการเก็บข้อมูลเพียง 3 ปี

ด้านแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง เช่น ครีเอทีฟ 2,193 ล้านบาท หดตัว 1% ดิสเพลย์ 1.440 ล้านบาท หดตัว 9% วิทยุออนไลน์(Online Audio) 43 ล้านบาท ลดลง 23% โฆษณาแฝงผ่านคอนเทนต์(Native Ads) 43 ล้านบาท ลดลง 30% เป็นต้น