เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า  ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

ยอดขายรวมตก 5.9% พ่วงด้วย 2 โปรดักต์แชมป์เปี้ยนแสนล้าน “เหล้า-เบียร์” ปริมาณการขายลดลงแพ็กคู่ โดยเฉพาะ “เบียร์” ร่วงแรง 15% เหตุพิษเศรษฐกิจตลาดหลัก “ไทย-เวียดนาม” ขณะที่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์-ธุรกิจอาหาร ยังเติบโต ด้าน “เมียนมา” ทำผลงานเด่น แม้สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ

“ไทยเบฟเวอเรจ” เบอร์ 1 น้ำเมาเมืองไทย และยังเป็นยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มระดับภูมิภาคเอเชีย มีเบียร์ในไทยและเวียดนามภายใต้ บริษัท ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก้ (SABECO) เป็นหัวหอกหลักทำการตลาดจนครองส่วนแบ่งเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาค

ทว่า ช่วงปี 2566 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2567 หรือตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2566 (ปีงบประมาณ ต.ค.66 - ก.ย.67) ยอดขายเบียร์ของไทยเบฟยังคง “หดตัวลง” อย่างต่อเนื่อง เพราะพิษสงของเศรษฐกิจไทยและเวียดนามที่ยังไม่ฟื้นตัว

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ถึงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้จากการขายรวมอยู่ที่ 76,107 ล้านบาท ลดลง 5.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

 

ยอดขายเบียร์ตกหนัก 15%

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งยอดขายตามกลุ่มธุรกิจพบว่า เบียร์ ซึ่งเป็นสินค้าทำเงินอันดับ 2 ของพอร์ตโฟลิโอบริษัทมียอดขายรวม 32,619 ล้านบาท ลดลง 14% และมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) อยู่ที่ 3,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% แต่ยอดขายในเชิงปริมาณกลับลดลงมากถึง 15% และบริษัทให้เหตุผลที่ยอดขายหดตัว เกิดจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยและประเทศเวียดนามมีการฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า  ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

 

นอกจากนี้ SABECO ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม (HOSE) ผลประกอบการช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2566 (ต.ค.-ธ.ค.) ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลงถึง 15% พร้อมแจงปัจจัยเกิดจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก ทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลง

สำหรับสถานการณ์ของยอดขายเบียร์ไทยเบฟ ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งปิดปีงบประมาณยอดขายรวมเชิงปริมาณอยู่ที่ 2,240.4 ล้านลิตร ลดลง 6.6% แต่เมื่อตัด SABECO ออกไปยอดขายเบียร์จะลดลงเพียง 2%

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวไทยเบฟเวอเรจ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยอดขายที่ลดลงมากนั้นมาจากตลาดประเทศเวียดนาม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า  ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

 

ตลาดเบียร์ในไทยแข่งเดือด

ปี 2566 ภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยมูลค่าประมาณ 2.6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเซ็กเมนต์พรีมียม 5% เซ็กเมนต์สแตนดาร์ด 20% และเซ็กเมนต์แมส-ล่าง 75% ปีที่ผ่านมา ตลาดเบียร์มีการแข่งขันรุนแรงมาก เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่ภายใต้ คาราบาว กรุ๊ป นำโดย “เสถียร เสถียรธรรมะ” ทุ่มเงินหลักพันล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ 2 ยี่ห้อเข้าทำตลาด

รายงานข่าวจากวงการเบียร์ระบุว่า กลุ่มเบียร์ของไทยเบฟ มีส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง ขณะเดียวกัน เบียร์ใหม่ของ “เสถียร” เผชิญการรับน้องเช่นกัน โดยเฉพาะช่องทางจำหน่าย และตัวแทนผู้ค้ารายใหญ่หรือเอเยนต์ ทำให้มีการเตรียมพร้อมรับมือด้วยการปลุกปั้นร้านค้าปลีกค้าส่งชุมชน “ซีเจ เอ็กซ์” เข้ามาปิดจุดอ่อน

ด้านเจ้าตลาดเบียร์อย่างค่ายบุญรอดฯ นอกจากออกเบียร์ใหม่มาเสริมทัพ และเบียร์ลีโอ มีการปรับโฉมผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาบัลลังก์เบอร์ 1 เป็นต้น 

เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า  ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2565 ไทยเบฟมีการรายงานถึงสถานการณ์ตลาดเบียร์ในประเทศ ซึ่งพอร์ตโฟลิโอมี เบียร์ช้าง, อาชา, เฟเดอร์บรอย, แทปเปอร์ และ แบล็คดราก้อน ฮันท์สแมน มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และช่องว่างระหว่างผู้นำตลาด(ค่ายบุญรอดบริวเวอรี่ เบียร์สิงห์ ลีโอ มายเบียร์) แคบสุดในรอบ 13 ปีด้วย และภารกิจสำคัญของบริษัทคือการนำพาเบียร์ให้ก้าวเป็นผู้นำตลาดให้ได้

 

กลุ่มเหล้าไม่โต

ส่วนภาพรวมกลุ่มธุรกิจสุรา ยอดขายไตรมาส 1 อยู่ที่ 33,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อมาดูยอดขายในเชิงปริมาณ(จำนวน)ปรับตัวลดลง” 1.4% ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 9,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.4%

ธุรกิจสุรา นอกจากไทยเป็นฐานทัพทำเงิน สร้างความมั่งคั่งให้กับไทยเบฟ ตลาดประเทศเมียนมา ยังเป็นอีกหมุดหมายสำคัญ เนื่องจากบริษัทมี “แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป” ผู้เป็นเจ้าตลาดวิสกี้ ยังสร้างผลงานแข็งแกร่งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขาย และกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายในประเทศที่มีความท้าทาย

เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า  ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

 

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์-อาหาร ยังโต

ด้านกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(NAB) ไตรมาส 1 สร้างยอดขาย 4,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% และยอดขายเชิงปริมาณเพิ่มขึ้น 4.5% กำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% เนื่องจากบริษัทบริหารการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่วนต้นทุนบรรจุภัณฑ์ต่ำลงด้วย

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจอาหาร มียอดขายอยู่ที่ 4,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% และกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% เนื่องจากแบรนด์แข็งแกร่งเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงการเปิดร้านอาหารสาขาใหม่เพิ่ม การใช้กลยุทธ์ราคาที่แตกต่างกัน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่ม การมีสินค้า โปรโมชั่นใหม่ๆ ช่วยสร้างความตื่นเต้นให้ตลาดและดึงดูดลูกค้า ซึ่งพอร์ตโฟลิโออาหารของบริษัทมีมากมาย เช่น โออิชิ, 

เศรษฐกิจ ‘ไทย-เวียดนาม’ฟื้นช้า  ฉุดยอดขายเบียร์ไทยเบฟวูบ15%

 

ออกหุ้นกู้ 2.2 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ดี ช่วงต้นเดือน ก.พ. 2567 ไทยเบฟ ยังมีการออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 วงเงินรวม 22,000 ล้านบาท เพื่อนำไปไปชำระหนี้ และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดการไถ่ถอนเดือน มี.ค. และเดือน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทย้ำฐานะการทางการเงินยังแข็งแกร่งจากกระแสเงินสดอิสระ(FCF)ที่แกร่งเช่นกัน