ไม่เก็บค่าเช่าร้าน อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัว หลักคิด ‘เสถียร’ แห่ง ‘CJ Express’

ไม่เก็บค่าเช่าร้าน อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัว หลักคิด ‘เสถียร’ แห่ง ‘CJ Express’

อ่านกลยุทธ์เดินหมากของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” หลังแต่งตัวเดินหน้า ส่ง “CJ Express Group” เข้าตลาดฯ แม้มาทีหลังแต่เร่งเครื่องโต “หมื่นล้าน” สำเร็จ ชี้ ธุรกิจจะไปต่อได้อย่าเอาแต่ประโยชน์ ต้องรู้จักให้ ไม่มองตัวเองถูกที่สุด เร่งถ่ายเลือดให้ทายาทรับลูกธุรกิจครอบครัวต่อ

Key Points: 

  • “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าพ่อคาราบาวที่ปัจจุบันเตรียมเร่งเครื่องธุรกิจค้าปลีกมาแรงอย่าง “ซีเจ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป” เข้าตลาดหลักทรัพย์ และล่าสุดกับธุรกิจน้ำเมาในเครือ “คาราบาว กรุ๊ป” มีวิธีคิดในการทำธุรกิจแบบ “เถ้าแก่” มองว่า ธุรกิจจะโตได้ต้องมีรากฐานจากคนในองค์กร ไม่ใช่การจ้างผู้บริหารมืออาชีพ
  • “เสถียร” มองว่า การทำธุรกิจจะหวังแต่ผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกันในสังคม มากกว่าผลประโยชน์ในแง่ตัวเลข คือความใกล้ชิดเชื่อมโยงกับชุมชนรอบข้าง
  • บอกตัวเองทุกวันว่า เราไม่ได้คิดถูกไปตลอด ถ้าคิดได้แบบนี้จะทำให้รู้สึกเบามากกว่าโยนความผิดไปที่คนอื่นอย่างเดียว สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้


ตลาดค้าปลีกดุเดือดแค่ไหน เห็นได้จากการปรับเปลี่ยนพอร์ตธุรกิจในปีที่ผ่านมาของบรรดา “ยักษ์รีเทล” ที่มีการเสริมเติมแต่ง สร้างความปราดเปรียวให้ตนเองวิ่งได้เร็ว อึด และไกลกว่าคู่แข่งในตลาดเดียวกัน แม้ว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกจะสูงกว่า “3.7 ล้านล้านบาท” จนเป็นที่หมายตาจากทั่วทุกสารทิศ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ต้นทุนในการลงแข่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกเซกเมนต์ล้วนมี “เจ้าสนาม” ครองส่วนแบ่งอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีธุรกิจค้าปลีก “น้องใหม่” ที่ค่อยๆ เติบโต จากการฝ่าวงล้อมด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” จนทำให้ชื่อของ “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” (CJ Express) อยู่ในการรับรู้ของผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย มีที่ตั้งสาขาโดดเด่นประชันกับ “ยักษ์รีเทล” ได้สบายๆ ทั้งยังมีแผนเตรียมยื่นไฟลิ่ง เข้าตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ด้วย

โดย “เสถียร เสถียรธรรมะ” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ซีเจ” เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา “ซีเจ กรุ๊ป” ทำกำไรเฉียด “2 พันล้านบาท” โดยไม่ต้องใช้วิธีการดึงตัวผู้บริหาระดับสูงจากที่อื่นมากุมบังเหียน แต่ทั้งหมดเกิดจากความเชื่อเรื่องฐานรากธุรกิจที่ต้องมีจุดเริ่มต้นจาก “เถ้าแก่” และการสร้างคนทำงานมืออาชีพด้วยตัวเอง

ไม่เก็บค่าเช่าร้าน อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัว หลักคิด ‘เสถียร’ แห่ง ‘CJ Express’ -“เสถียร เสถียรธรรมะ” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ซีเจ”-

  • มืออาชีพไม่ใช่เป็ด-ไก่ตามท้องตลาด หาซื้อไม่ได้ ต้องสร้างด้วยตัวเอง

องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งมักใช้วิธี “ดึงตัว” หรือ “ซื้อตัว” คนเก่งๆ เข้ามานั่งแท่นบริหาร หวังช่วยผลักดัน-สร้างการเติบโตไปอีกขั้น เรื่องนี้ “เสถียร” เล่าว่า เพื่อนรอบข้างเคยแนะนำให้หาผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยเช่นกัน เมื่อ 5 - 6 ปีที่แล้ว ตนจึงตัดสินใจจ้างผู้บริหารด้วยค่าตอบแทน “2.5 ล้านบาทต่อเดือน” พร้อมโจทย์สำคัญ คือต้องทำให้บริษัทมีกำไร “1,000 ล้านบาท” ภายใน 3 ปี

ผ่านไปเพียง 6 เดือน ผู้บริหารท่านนั้นก็ยื่นลาออก จนเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน ผลประกอบการ “บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด” มีรายได้ “35,556 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “1,772 ล้านบาท” โดยปราศจาก “ผู้บริหารมืออาชีพ” ตามคำแนะนำของคนรอบข้าง

“เสถียร” เปรียบเทียบว่า มืออาชีพไม่ใช่เป็ดหรือไก่ที่แขวนอยู่ตามตลาดสดจึงจะสามารถเลือกสรรได้ตามใจชอบ หากปีนี้บริษัททำเงินได้มากหน่อยก็อาจจะจ่ายมืออาชีพไหว แต่ถ้าปีไหนรายได้ลดลง “เป็ด” หรือ “ไก่” ที่เลือกช้อปปิ้งก็คงมีขนาดเล็กตามไปด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือการกลับมามองตนเองว่า เราทำงานได้อย่างมืออาชีพแล้วหรือยัง หากองค์กรมืออาชีพมากพอก็จะสามารถสร้าง “เป็ด” หรือ “ไก่” ตัวอวบอ้วนด้วยตัวเองได้ ความเชื่อที่ว่า ต้องไปจ้างคนเก่งข้างนอกเพื่อให้บริษัทเจริญก้าวหน้าจึงเป็นไปไม่ได้ และไม่มีอยู่จริง

“บางธุรกิจซื้อตัวผู้บริหาร ขนคนทำงานกันไปทีละ 200 - 300 คน มันไม่มีมืออาชีพในความหมายที่เราอยากได้ ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า เราไม่มีคนที่มีมายด์เซ็ตมืออาชีพในสังคมไทยมากเท่าไร ก่อนหน้านี้ธุรกิจในไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กๆ ทั้งนั้น ก่อนปี 2520 คนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ทำงานแบงก์ก็โก้หรูแล้ว และอย่าลืมว่า ธนาคารก็เป็นธุรกิจครอบครัวด้วย

“ฉะนั้น คุณไม่มีทางจ้างใครเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจได้ ไม่อย่างนั้นบริษัทใหญ่ๆ ทำไมถึงไปซื้อสตาร์ตอัปกัน เพราะธุรกิจเหล่านั้นเริ่มต้นจากเถ้าแก่ เราจะจ้างใครมาปั้นธุรกิจได้ เพราะเมื่อเขาเป็นพนักงานการตัดสินใจมันไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน เวลาอยู่ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จแล้วมีมืออาชีพมาบริหาร มันคือการต่อยอด-ทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม คุณดูบางแบงก์ที่ล้มสิ ล้มเพราะอะไร เพราะจ้างมืออาชีพมาบริหารทั้งนั้น”

ไม่เก็บค่าเช่าร้าน อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัว หลักคิด ‘เสถียร’ แห่ง ‘CJ Express’

  • “ถ้าเขาขายส้มตำไก่ย่างหน้าร้านได้ เราก็ขายเครื่องดื่มได้ด้วย”

สิ่งที่ “เสถียร” ย้ำชัด ยึดเป็นหลักและ “วิถี” ในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด คือการหยิบยื่นโอกาสให้คนอื่นๆ ในฐานะที่ตนได้เปรียบ-มีโอกาสทางสังคมมากกว่า อะไรที่พอจะช่วยเหลือแบ่งปันกันได้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เจ้าพ่อค้าปลีกคนนี้เล่าว่า ช่วงที่ร้าน “ซีเจ” มีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ก็เริ่มมีคนในชุมชนใกล้เคียงเข้ามาขอใช้พื้นที่ ทั้งใช้ในการค้าขาย รวมถึงบางครั้งก็มีสถานที่ราชการมาขอใช้เป็นพื้นที่จอดรถด้วย ช่วงแรกตนให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาทดลองขายดูก่อนสัก 3 เดือน หากกิจการไปได้ดีก็จะเริ่มเก็บค่าเช่าด้วยราคาเท่าที่จ่ายไหว เอาให้พอครอบคลุมค่าน้ำค่าไฟก็เพียงพอแล้ว

“เสถียร” ระบุว่า พื้นที่ให้เช่าค้าขายหน้าร้านอาจไม่ได้ประโยชน์สูงสุดในแง่ตัวเลข เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายหลัก จะกลายเป็นเรามองเพียงว่า ใครให้เงินมากที่สุด แน่นอนว่า การทำธุรกิจต้องมีเรื่องกำไรขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าของพื้นที่อย่าง “ซีเจ” ได้ค่าเช่าประมาณหนึ่ง แต่ที่มากไปกว่านั้น คือธุรกิจได้เชื่อมร้อยยึดโยงกับผู้คนในชุมชนด้วย

“สมมติ เขาขายส้มตำไก่ย่างหน้าร้านซีเจ เราก็จะได้ขายเครื่องดื่มไปด้วย ผมคิดว่า ถ้าเราอยู่ในองค์กรที่มีแนวคิดหรือนโยบายที่หยิบยื่นโอกาสให้คนเล็กคนน้อย คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เขาจะตอบแทนเรา อยากมาทำงานกับเรามากกว่า เพราะเขาเห็นแล้วว่า เราทำอะไร ผมทำซีเจก็ไม่จำเป็นต้องให้เขาเช่าด้วยราคาสูงสุด ยิ่งให้คนในท้องถิ่นได้เช่ายิ่งดี รวมทั้งเมื่อมีสถานที่กว้างขวางมากขึ้นแล้วเขามาขอใช้สถานที่เพราะเรามีพื้นที่จอดรถสักไร่หนึ่ง ถ้าคิดเป็นเงินก็คงจะยุ่งยาก พอเราทำแบบนี้ก็ทำให้ธุรกิจกับชุมชนใกล้กันมากขึ้น”

ไม่เก็บค่าเช่าร้าน อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัว หลักคิด ‘เสถียร’ แห่ง ‘CJ Express’ -พื้นที่บริเวณหน้าร้าน “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” มักมีลักษณะเป็นลานกว้าง-

  • ให้ “คนใหม่” ทำเรื่องใหม่ แล้ว “คนเก่า” จะค่อยๆ ซึมซับไปเอง

แม้เจ้าพ่อคาราบาวจะเป็นคนรุ่นเก่าที่คลุกคลีกับการก่อร่างสร้างธุรกิจในฐานะ “เจเนอเรชันที่ 1” แต่เขาก็มีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง พร้อมโอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ “เสถียร” บอกว่า เทคโนโลยีส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ เป็นเรื่องที่คนทำธุรกิจปฏิเสธไม่ได้ ถ้าไม่ปรับธุรกิจจะเดินต่อไปได้ยาก 

นอกจากประเด็นเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ยังหมายรวมไปถึงวิธีการดำเนินธุรกิจ และมุมมองที่มีต่อสังคมด้วย “เสถียร” ระบุว่า ถ้ายังเป็นเทคโนโลยีแบบเดิม วิธีคิดเดิมๆ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม องค์กรจะไม่มีทางได้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วยเลย เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อมโยงโลกเข้าถึงกันทุกมิติ แต่การเปลี่ยนแปลงในที่นี้ก็ต้องเจือไว้ด้วยความเข้าใจคนรุ่นก่อนด้วย หากเป็นเรื่องใหม่ให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้กรุยทาง จากนั้นเมื่อคนรุ่นเก่าเห็นเขาจะค่อยๆ ซึมซับเองว่า ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารด้วยที่ต้องทำให้พวกเขาเหล่านี้เชื่อว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้

“ตอนที่ผมเปลี่ยนกระบวนการผลิตของ “คาราบาวแดง” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลังจากเรามีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 10 ปีก่อน โรงงานเดิมของเรามันเก่าเพราะทำตอนทำกันใหม่ๆ ยังจนอยู่ เทคโนโลยีก็เก่า วันหนึ่งผมตัดสินใจปิดโรงงานนั้นเลยแล้วมาตั้งโรงงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ เดิมทีเรามีไลน์การผลิตได้สัก 250 กระป๋องหรือขวดต่อ 1 นาที พอเราใช้เทคโนโลยีใหม่มีอัตราการผลิตประมาณ 1,200 กระป๋องหรือขวดต่อ 1 นาที เทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจ แต่ก็อย่าคิดว่าเทคโนโลยีคือคำตอบของทั้งหมด เราต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ บางทีคนในครอบครัวคิดไม่ตรงกัน มองว่า แพงไป ถูกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไม่คิดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกอยู่คนเดียว”

ไม่เก็บค่าเช่าร้าน อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์เข้าตัว หลักคิด ‘เสถียร’ แห่ง ‘CJ Express’ -เบียร์คาราบาว สินค้าใหม่จาก “คาราบาว กรุ๊ป”-

  • เราไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด งานหนักเป็นเรื่องจริง ความทุกข์คือสิ่งปรุงแต่ง

คำแนะนำที่ “เสถียร” ต้องการส่งต่อถึงคนทำงานรุ่นใหม่ คือ บอกกับตัวเองว่า ทุกสิ่งที่เราคิดไม่ได้ถูกต้องไปทั้งหมด เขาเผยว่า เมื่อครั้งยังวัยรุ่นแล้วเกิดความขัดแย้ง สิ่งที่คิดเสมอคือคนอื่นคิดผิด มาวันนี้สิ่งที่ตกตะกอนได้จากการทำงานมาหลายทศวรรษ คือเราเองก็ผิดเป็น ถ้าวันไหนที่คิดเช่นนี้ได้ทุกอย่างจะเบาลง เมื่อคิดว่าคนอื่นไม่ถูกทุกอย่างจะหนักเพราะเราแก้ไขอะไรไม่ได้ สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

นอกจากนี้ “เสถียร” ยังบอกด้วยว่า เมื่อทำงานมาเรื่อยๆ มีหลายส่วนที่ต้องดูแล บางครั้งก็เกิดความทุกข์ว่า ทำไมงานเยอะและเหนื่อยมาก แต่ถึงที่สุดแล้วก็พบว่า งานเยอะ งานหนักเป็นเรื่องจริง แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งปรุงแต่ง บางอย่างอาจจะไม่ได้คิดได้ทันทีภายในวันนี้ ต้องลองปรับวิธีคิด-ต่อสู้กับตัวเองไปเรื่อยๆ การทำงานมักมาพร้อมกับความเหนื่อย แต่จงถามตัวเองอยู่เสมอว่า ความเหนื่อยเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขหรือไม่