Family Office ทุนเปลี่ยนทิศ | ต้องหทัย กุวานนท์

Family Office ทุนเปลี่ยนทิศ | ต้องหทัย กุวานนท์

รายงานล่าสุดของ PwC ที่ศึกษาเทรนด์การลงทุนของ Family Office (สำนักงานครอบครัว) ที่เป็นหน่วยงานทางการเงินที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารทรัพย์สินของตระกูลใหญ่ เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งให้กับคนรุ่นต่อไป

 พบว่า Family Office มีการโยกย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงอย่างอสังหาริมทรัพย์ไปสู่การลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัป 

ที่ผ่านมา Family Office มักจะกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ค่อนข้างหลากหลาย แต่ในกลุ่มของธุรกิจที่เป็นอนาคตเช่นเทคโนโลยีและนวัตกรรม มักจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนอื่นมากกว่าการลงทุนในสตาร์ตอัปโดยตรงแบบ Direct Investment 

ข้อมูลล่าสุด ระบุว่าสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปเพิ่มสูงขึ้นจาก 51% ในปี 2562 มาเป็น 63% ในปี 2566 ในขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนลดลงจาก 38% เป็น 22%

และประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ Family Office เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยตรงกับสตาร์ตอัปเพิ่มมากขึ้นถึง 15% ภูมิภาคที่ดึงดูดเงินลงทุนจากกลุ่มทุน Family Office ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา

แต่ในปีล่าสุดธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้มากเป็นประวัติการณ์โดยมีเม็ดเงินลงทุนเป็นสัดส่วนถึง 23% ของดีลทั้งหมด

ตัวอย่างของประเทศที่ Family Office มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ คือ อินเดีย ถ้ามองในมุมของมูลค่าการลงทุน อินเดียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเงินลงทุนของกลุ่มธุรกิจ Family Office ถึงหนึ่งในห้าของโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปกว่า 380 ราย 
 

นักวิเคราะห์ธุรกิจมองว่า อินเดียเป็นประเทศที่จะก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีในทศวรรษหน้า สัญญาณการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีก็ดูจะสอดคล้องกัน เพราะเติบโตแซงหน้าการเติบโตของธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดโลก

เซกเตอร์ที่ดึงดูดเงินลงทุนจากกลุ่ม Family Office มากที่สุดห้าอันดับแรกคือ กลุ่มซอฟต์แวร์ กลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน มีเดีย และโทรคมนาคม

ทิศทางการลงทุนที่เปลี่ยนไปของ Family Office จากการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงไปสู่การลงทุนที่หวังผลระยะยาวส่งสัญญาณให้เห็นว่ากลยุทธ์การลงทุนจากนี้ไปจะมุ่งเน้นไปที่

1) การสร้างมูลค่าระยะยาวในธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและตลาดอนาคต

2) การลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

3) การลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงที่รองรับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน การแพทย์ และ พลังงาน 

ในมุมของธุรกิจสตาร์ตอัป Family Office ที่มีจำนวนกว่า 3000 แห่งทั่วโลกน่าจะเป็นแหล่งเงินทุนแหล่งใหม่ที่น่าสนใจกว่า VC หรือ CVC

เพราะเงินลงทุนของ Family Office เป็นเงินลงทุนที่เรียกได้ว่าเป็น “Patient Capital” ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนที่ปราศจากแรงกดดันจากเจ้าของเงินที่ต้องการผลตอบแทน 10 เท่า หรือ 20 เท่า ในระยะสั้น 

นอกจากนั้นสิ่งที่ Family Office สามารถให้ได้มากกว่า VC หรือ กองทุน CVC ทั่วไป คือการได้เข้าถึงเครือข่ายของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่มีทั้งประสบการณ์ และคอนเนคชันที่ไม่สามารถหากันได้ง่ายๆ

การเข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือผู้บริหารระดับสูงของ Family Office น่าจะเป็นความท้าทายหลัก เพราะ คนกลุ่มนี้มักจะทำตัวโลว์โปรไฟล์และเข้าถึงได้ยาก ส่วนใหญ่มักจะเป็นฝ่ายเข้าหาเป้าหมายที่ต้องการลงทุนผ่านการแนะนำและบอกต่อ

ดังนั้น การทำตัวเองให้เป็นเป้าหมายก็คือการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรใหญ่และสร้าง Success story โดยมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้.