'ลาซาด้า - หัวเว่ยฝั่งสหรัฐ-แคนาดา' ปลดพนักงานฉ่ำ! - ไนกี้ จีเอ็ม จ่อเลิกจ้าง

'ลาซาด้า - หัวเว่ยฝั่งสหรัฐ-แคนาดา' ปลดพนักงานฉ่ำ! - ไนกี้ จีเอ็ม จ่อเลิกจ้าง

ต้นปี 2567 “ลาซาด้า” “หัวเว่ยฝั่งสหรัฐ-แคนาดา” ปลดพนักงานกันฉ่ำ! ส่วนปลายปีที่แล้วทั้ง ไนกี้-จีเอ็ม ก็จ่อ “ปลดพนักงาน” บางส่วนด้วย ปีนี้จึงอาจเห็นสัญญาณการปรับลดพนักงานของอีกหลายบริษัทชื่อดังทั่วโลก

ไม่ใช่แค่ “ลาซาด้า (Lazada)” ที่ประกาศ ปลดพนักงาน ครั้งใหญ่ทุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพนักงานในสิงคโปร์จะถูกเลิกจ้างถึง 30% อีกทั้งมีข่าวลือหนาหูว่า “ลาซาด้าประเทศไทย” ก็เตรียมเลย์ออฟพนักงานเช่นกัน ล่าสุด.. มีรายงานจากสื่อนอกด้วยว่า “หัวเว่ย (Huawei) ในฝั่งสหรัฐ และแคนาดา” ก็ทยอยปลดพนักงานแผนกประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ และพนักงานบางรายถูกปลดออกหลังปีใหม่อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงก่อนปีใหม่ (เดือนธันวาคม 2566) นอกจากหัวเว่ยแล้วก็มีรายงานข่าวว่า “ไนกี้ (Nike)” และ “จีเอ็ม (GM)” บริษัทชื่อดังระดับโลกก็เตรียม “ปรับลดพนักงาน” ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าจะปลดพนักงานออกบางส่วน ซึ่งจากภาพรวมทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ปีนี้อาจเป็นอีกปีที่เราจะได้เห็นการ Lay Off พนักงานขององค์กรต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ในปีนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน

กรุงเทพธุรกิจ ชวนดูสรุปภาพรวมว่าในช่วงนี้ (ทั้งก่อนปีใหม่และหลังปีใหม่ 2567) มีบริษัทไหนที่ปลดพนักงานออกไปแล้ว หรือเตรียมจะเลิกจ้างในเร็วๆ นี้บ้าง รวมถึงมีตำแหน่งงานไหนที่ตกงานแบบกะทันหันจากการ LayOff เหล่านั้น?  

 

1. หัวเว่ย ปลดพนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ในสหรัฐและแคนาดา (5 ม.ค. 67)

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่าง “หัวเว่ย” ทยอย “ปลดพนักงาน” แผนกประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับรัฐบาลในสหรัฐและแคนาดา เริ่มปลดออกตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พนักงานบางรายก็ถูกปลดหลังปีใหม่ ทั้งๆ ที่บางคนทำงานให้กับหัวเว่ยมานานนับ 10 ปี และรู้สึกผิดหวังต่อเหตุการณ์นี้

พนักงานบางส่วนมองว่า สาเหตุที่หัวเว่ยตัดสินใจเลย์ออฟครั้งนี้ เป็นเพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนย่ำแย่ลง แม้พนักงานที่ถูกปลดในครั้งนี้จะมีจำนวนค่อนข้างน้อย แต่ก็พบว่ามี “พนักงานระดับผู้จัดการ” รวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง แต่การตัดสินใจครั้งนี้บ่งชี้ถึงแนวโน้มของธุรกิจหัวเว่ยในตลาดสหรัฐ 

หัวเว่ยได้ขยายแผนกประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับรัฐบาลในอเมริกาเหนือในช่วงที่หัวเว่ยถูกบรรจุในบัญชีดำของรัฐบาลสหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งช่วงนั้นก็มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินระดับสูงของหัวเว่ย ได้ถูกควบคุมตัวในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในข้อหาฉ้อโกง 

หลังจากนั้น แม้จะมีการวิ่งเต้นขอปล่อยตัวเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวในปี 2564 และหัวเว่ยพยายามพลิกฟื้นสถานการณ์ความสัมพันธ์กับสหรัฐ แต่หลายปีผ่านมา ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนกลับร่วงแตะจุดต่ำสุด จึงส่งผลให้หัวเว่ยถูกรัฐบาลตะวันตกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นอาจเป็นต้นตอของการปลดพนักงานครั้งนี้

ด้านสำนักข่าว CNA รายงานว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างในสิงคโปร์บางรายถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อทราบว่าตนเองได้ถูกปลดออก โดยกล่าวว่า การถูกเลิกจ้างครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน บางรายชี้ว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม และไม่โปร่งใส ขณะที่บริษัทจ่ายเงินชดเชยต่ำกว่าที่คาดไว้

 

2. ลาซาด้า ปลดพนักงานในหลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4 ม.ค. 67)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บริษัทลาซาด้าในเครือของอาลีบาบาจากจีน ได้เริ่มปลดพนักงานรอบใหม่รับต้นปี 2567 แล้วในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะมีจำนวนหลายร้อยคน และกระทบกับทุกตลาดในอาเซียนครอบคลุม “สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม” โดยสิงคโปร์จะถูกเลิกจ้างมากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงถึง 30%

ส่วนตำแหน่งงานที่ถูกเลิกจ้างครั้งนี้มีครอบคลุมไปทุกฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายคอมเมอร์เชียล ค้าปลีก และฝ่ายการตลาดด้วย โดยพนักงานจำนวนหนึ่งได้รับจดหมายเรียกคุยจากบริษัทแล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก ขณะที่ก่อนหน้านี้ลาซาด้าเพิ่งประกาศเลย์ออฟรอบล่าสุดไปเมื่อเดือน ต.ค. 2023 

ส่วนสาเหตุของการปรับลดพนักงานในครั้งนี้ โฆษกของลาซาด้าในสิงคโปร์ระบุเบื้องต้นเพียงว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเชิงรุกเพื่อวางตำแหน่งของตัวเองให้ดีขึ้น ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น รวมถึงปรับวิธีการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในอนาคต จึงจำเป็นต้องประเมินข้อกำหนดด้านบุคลากรและโครงสร้างการทำงานอีกครั้ง ทั้งนี้ ลาซาด้ากำลังเผชิญการแข่งขันอย่างหนักกับ “ชอปปี้” และ “ติ๊กต็อก” ซึ่งรายหลังเริ่มบุกธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น

ขณะที่ล่าสุด.. มีข่าวลือหนาหูว่า “ลาซาด้าประเทศไทย” อาจจะปลดพนักงานในไทยออกตามสำนักงานในสิงคโปร์และมาเลเซียไปติดๆ ถึง 50% โดยตำแหน่งงานที่จะถูกปลดออก ได้แก่ ฝ่ายการตลาด, ฝ่ายครีเอทีฟ, ฝ่ายสื่อและแบรนดิ้ง, ฝ่ายลาซคอยน์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคนภายในวันที่ 15 มกราคม 2566 นี้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงต้องติดตามดูความชัดเจนต่อไป

 

3. Nike เตรียมปลดพนักงาน หลังยอดขายโตเพียง 1% (24 ธ.ค. 66)

สำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานความเคลื่อนไหวของ “ไนกี้” ไว้ว่า ได้มีแผนปรับลดประมาณการรายได้ในปี 2566 เนื่องจากคาดการณ์รายได้จะเติบโตจากปีก่อนเพียง 1% เท่านั้น ไนกี้จึงเตรียมแผนลดต้นทุนลงราว “2,000 ล้านดอลลาร์” หรือคิดเป็นเงินไทย “69,200 ล้านบาท” ภายใน 3 ปีข้างหน้า พร้อมกับมีการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรและ “ปลดพนักงาน” บางส่วน 

แม้ที่ผ่านมาไนกี้จะพยายามกระตุ้นยอดขายในหลายช่วงเวลาตลอดทั้งปี (รวมถึงเทศกาล “Black Friday”) แต่บริษัทก็ยังคงประสบปัญหา เนื่องจากค่ายรองเท้าคู่แข่งก็อัดโปรโมชันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมทั้งยอดเข้าชมดิจิทัลแพลตฟอร์มของไนกี้เองก็ลดลงด้วย ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ไนกี้มีแผนที่จะพับโปรดักต์ที่ไม่สามารถทำรายตามเป้าได้ออกไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเตรียมปรับลดพนักงานบางส่วน

 

4. GM จ่อปลดพนักงานในสหรัฐภายในมกราคม ปี 67 (14 ธ.ค. 66)

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ประกาศเตรียมปลดพนักงานโรงงาน 2 แห่ง ในรัฐมิชิแกน 1,300 คนภายในเดือนมกราคม 2567 เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสายการผลิต โดยจะเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทน

โดยจะเลิกจ้างพนักงาน 945 คนในโรงงานโอเรียน แอสเซมบลี (Orion Assembly) เนื่องจากจะยุติการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชฟโรเลต โบลต์ (Chevrolet Bolt) และจะเปลี่ยนไปผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2568 แทน ขณะเดียวกัน บริษัทจะเลิกจ้างพนักงานอีก 350 คน ในโรงงานแลนซิง แกรนด์ ริเวอร์ เนื่องจากยุติการผลิตรถเชฟโรเลต คามาโร (Chevrolet Camaro) 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 นี้ ยังคงต้องจับตาภาพรวมธุรกิจใหญ่ๆ และบริษัทชื่อดังระดับโลกกันต่อไปว่า จะมีองค์กรไหนธุรกิจใดที่จะประกาศเลิกจ้างหรือปรับลดจำนวนพนักงานออกมาอีก ซึ่งด้านลูกจ้างเองก็ต้องเตรียมรับมือกับมรสุมลูกใหญ่นี้ไว้ให้ดี