ใช้ถุงผ้าช่วยลดโลกร้อนได้ยั่งยืนจริงหรือ?

ใช้ถุงผ้าช่วยลดโลกร้อนได้ยั่งยืนจริงหรือ?

ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศประกาศ “ไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้ว” SAY NO TO PLASTIC BAG ตามนโยบายขอความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เพื่อลดปัญหาขยะถุงพลาสติก

จากนั้น แบรนด์สินค้า ห้างร้านต่างๆ รวมถึงงานสัมมนาภาครัฐ เริ่มปรับตัวใช้การแจกถุงผ้า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเรา มีถุงผ้าสวยๆ ไปใช้ใส่ของแทนถุงพลาสติกกันอย่างมากมายจนกลายเป็นเทรนด์ เป็นแฟชั่น เชื่อว่าทุกบ้านน่ามีถุงผ้าไว้ในครอบครองอย่างน้อย 9-10 ใบ หรือบางคนมีมากกว่านั้น จนดูเหมือนเป็นเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อน (Global warming)

คำถามที่หลายคนอาจจะไม่ตระหนัก จากเริ่มต้น ถุงกระดาษ สู่ ถุงพลาสติก และ การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก มันจะยั่งยืนยาวนานจริงหรือ?

จากถุงกระดาษสู่การเข้ามาของถุงพลาสติก

ถุงกระดาษมีต้นกำเนิดจากนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ฟรานซิส โวลล์ (Francis Wolle) ในปี ค.ศ. 1852 แต่เครื่องจักรที่เขาทำนั้นยังไม่สามารถผลิตกระดาษพร้อมตัดแล้วพับขึ้นรูปถุงได้ ต่อมานักประดิษฐ์ที่ชื่อ วิลเลียม กูดเดล (William Goodale) ได้ผลิตและจดสิทธิบัตรเครื่องจักรผลิตกระดาษแบบตัดพร้อมพับขึ้นรูปได้ ในวันที่ 12 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1859 

นับตั้งแต่นั้นจึงยึดเอาวันนี้เป็นวันถุงกระดาษ (Paper Bag Day) เพราะการใช้กระดาษก็เพิ่มขึ้นนั้น กระดาษทำจากพืช โดยส่วนใหญ่แล้ว กระดาษจะทำจากต้นยูคาลิปตัส เมื่อความต้องการใช้กระดาษมากขึ้น ก็จะทำให้มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสมากขึ้น ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเสียงด้านการทำลายดิน ทำให้ดินเสีย ผลกระทบที่ตามมาก็คือ บริเวณที่เคยปลูกยูคาลิปตัส หรือบริเวณใกล้เคียง ก็ยากที่จะปลูกพืชยืนต้นอื่นๆ ได้ รวมถึงอาจมีการถางป่าเพิ่มขึ้น เพื่อหันมาปลูกต้นยูคาลิปตัสกันอีก

ถุงพลาสติกถูกผลิตขึ้นมาในปี ค.ศ. 1965 และหลังจากยุค 80 จนถึงช่วงต้นปี 2000 ที่ถุงพลาสติกเข้ามาแทนที่ถุงกระดาษจนแทบสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อมนุษย์พบว่าถุงพลาสติกนั้นย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก หากไม่ถูกจัดเก็บทำลายให้ดีก็จะสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ไปจนถึงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนบก และในน้ำจึงเกิดการรณรงค์ให้ลดใช้พลาสติก

'ถุงพลาสติก' กลายเป็น ผู้ร้าย 'ถุงผ้า' มาเป็นพระเอกแทน

สำหรับประเทศไทย มีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน จำแนกเป็นถุงพลาสติก 80% ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึง 450 ปี กลายเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านขยะพลาสติก ซึ่งมีปริมาณมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ขยะพลาสติกในครัวเรือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการบริการจัดส่งอาหารทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 35-40%

เรื่องปัญหาขยะพลาสติก ที่นับวันจะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละปีมีขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตัน ไหลลงสู่ทะเล กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อชีวิตของสัตว์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้คงไม่จบกันง่ายๆ เพราะขยะพลาสติกยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ ขณะเดียวกันพลาสติกก็มีอายุนานถึง 500 ปี กว่าที่พวกมันจะย่อยสลายหายไป เพราะพลาสติกถูกออกแบบเพื่อให้มันมีความเหนียวและคงทนในการใช้งานก็เลยมีอายุยาวนานขนาดนั้น

พลาสติกเกิดจากการรวมตัวของโมเลกุล ไฮโดรเจน (H) และคาร์บอน (C) ที่ต่อกันยาวกว่า 7 ล้านหน่วย ทำให้แข็งแรงมาก และความแข็งแรงคือเหตุผลที่ทำให้โมเลกุลแยกออกจากกันได้ยาก จึงเป็นที่มาของข้อด้อยเพียงอย่างเดียวของพลาสติก คือ “ย่อยสลายไม่ได้” (ซึ่งจริงๆ ย่อยสลายได้ แต่ต้องรอประมาณ 500 ปี!)

ข่าวร้าย! เมื่อ 'ถุงผ้า' ทำลายสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่า 'ถุงพลาสติก'

รายงานการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ประเภทถุงหิ้ว โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหารประเทศเดนมาร์ก ระบุว่า การผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำประมาณ 10,000-20,000 ลิตร ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก และอาจไม่สมดุลจนส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหาร ขณะที่ Mental Floss อ้างอิงผลการวิจัยในปี 2011 พบว่าการผลิตกระเป๋า หรือถุงผ้าฝ้าย 1 ใบจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เฉลี่ย 598.6 ปอนด์ หรือ 271.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบที่มีค่าเฉลี่ย 3.48 ปอนด์ หรือ 1.57 กิโลกรัม ก็ถือว่าการผลิตถุงผ้าปล่อยก๊าซที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าการผลิตถุงพลาสติกเสียอีก

แน่นอนว่าข้อดีของการใช้ถุงผ้านั้นมีมากมาย เพราะใช้ซ้ำได้หลายครั้งกว่าถุงพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะไหลลงสู่ท้องทะเล ย่อยสลายได้เร็วกว่าถุงพลาสติกที่ต้องใช้เวลามากกว่า 450 ปี ไม่ตกค้างจนเป็นปัญหาในสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตของถุงผ้าก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมายเช่นกัน ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูกฝ้าย การใช้น้ำและสารเคมี การเก็บเกี่ยว แปรรูป ส่งผลิต ซึ่งแต่ละกระบวนการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเช่นกัน ซึ่งถ้าเราอยากใช้ถุงผ้าให้คุ้มค่ากับกระบวนการผลิต เราจะต้องใช้ซ้ำมากกว่า 7,000 ครั้งเลยทีเดียว

ควรใช้ถุงอะไร ช่วยรักษ์โลกได้ยั่งยืน

คำตอบก็คือ 'ถุงอะไรก็ได้ที่เรานำกลับมาใช้ซ้ำๆ อย่างคุ้มค่า' เพราะไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงผ้า หรือแม้แต่ถุงกระดาษ หากใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป ก็ถือว่าไม่ดีต่อโลกของเราทั้งสิ้น เพราะทุกๆ วัสดุมีต้นทุนของการใช้ทรัพยากรทั้งนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ถุงผ้าอยู่ คุณมาถูกทางแล้ว และขอให้ใช้ถุงผ้าที่มีอยู่ต่อไปด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า ไม่รับถุงใบใหม่มาเพิ่ม 

และเมื่อใดหากคุณได้รับถุงพลาสติกมาบ้างบางครั้ง ก็ขอให้นำถุงพลาสติกเหล่านั้นมาใช้ซ้ำๆ ให้มากที่สุด หรือแยกขยะพลาสติกที่ใช้แล้วส่งไปรีไซเคิล เพื่อให้พลาสติกเหล่านั้นกลับไปทำประโยชน์ได้ไม่ไปเป็นภาระในหลุมฝังกลบอีกต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นถุงกระดาษ ถุงพลาสติก หรือ ถุงผ้า เพียงแค่ช่วยกัน ใช้ซ้ำ ใช้วนไป ใช้ทุกวัน สำคัญสุด!