‘ททท.-หอการค้า’ จ่อคลอด 10 เมืองรอง นำร่องปั้นสู่เมืองหลัก เปิดตัว ม.ค. 67

‘ททท.-หอการค้า’ จ่อคลอด 10 เมืองรอง นำร่องปั้นสู่เมืองหลัก เปิดตัว ม.ค. 67

'ททท.' ผนึก 'หอการค้า' คลอดโปรเจกต์ใหม่ นำร่องปั้นศักยภาพ '10 เมืองรอง' สู่เมืองหลัก! ครบเครื่องทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เตรียมลั่นฆ้องเปิดตัวหลังปีใหม่ในเดือน ม.ค. 2567 รับลูกนายกฯ 'เศรษฐา' สั่งการโปรโมตท่องเที่ยวเมืองรอง หวังรายได้ไม่กระจุกแค่เมืองหลัก

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยากให้โปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น เพื่อกระจายรายได้ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในเมืองหลัก สอดรับกับทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เตรียมคลอดโครงการใหม่ ผลักดัน “10 เมืองรอง” ให้เป็นเมืองหลัก ซึ่งเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ครบเครื่องทั้งมิติการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดย ททท.จะร่วมกับหอการค้าฯ คัดเลือกเมืองรอง 10 จังหวัดขึ้นมาโปรโมตเป็นการนำร่อง มีกำหนดเปิดตัวโครงการดังกล่าวในเดือน ม.ค. 2567 และทางนายกฯ จะเป็นประธานในการแถลงข่าว

สำหรับภาพรวมแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของ ททท. ในปี 2567 จะต่อยอดจากแคมเปญหลักของตลาดในประเทศ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” สู่แคมเปญใหม่ “365 วัน มหัศจรรย์เที่ยวเมืองรอง” เร่งประชาสัมพันธ์ภายใต้แนวคิด “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม” มุ่งเน้นการบอกต่อประสบการณ์ทรงคุณค่า และสะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองรองในเรื่องของงานเทศกาลประเพณีและอาหารถิ่น เพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายตัวด้านการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 365 วัน

นอกเหนือจากการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์คอนเทนต์สะท้อนอัตลักษณ์เมืองรอง และสนับสนุนร่วมจัดกิจกรรมการตลาดด้านอีเวนต์ (Event Marketing) รวมถึงงานเทศกาลประเพณีต่างๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นแล้ว ทาง ททท. ยังได้จัดแคมเปญและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองร่วมกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น กรุงศรีออโต้, ไปรษณีย์ไทย, ลาซาด้า (Lazada), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.), หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, อมรินทร์ เทเลวิชั่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และทราเวลโลก้า (Traveloka), สายการบินแอร์เอเชีย และ ณ สัทธา อุทยานไทย

หลังจาก ททท.ได้ทบทวนอัตลักษณ์ร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พบว่าอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่คือ 1.ภาคเหนือ เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ 2.ภาคกลาง เทรนดี้ C2 ภาคกลาง 3.ภาคอีสาน หลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน 4.ภาคใต้ หรอยแรงแหล่งใต้ และ 5.ภาคตะวันออก สบ๊ายสบาย ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่มีการคำนึงถึงความพร้อมของปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว ที่พักและการเข้าถึง การส่งมอบประสบการณ์ ร้านอาหาร และกิจกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. พบว่า “เมืองรอง 55 จังหวัด” มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยว 73.32 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 34.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว 169,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.86% เทียบกับปี 2562 โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางท่องเที่ยวประมาณคนละ 2,313 บาทต่อทริป เพิ่มขึ้น 3%

“ทั้งนี้คาดว่าตลอดปี 2566 ประเทศไทยจะมีรายได้การท่องเที่ยวในเมืองรองเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2562 ส่วนปี 2567 ประเมินว่ารายได้การท่องเที่ยวเมืองรองจะเติบโต 10-15% จากปี 2566”

ฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ททท. ได้ดำเนินการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ “เมืองรอง 55 จังหวัด” ซึ่งตามนิยามคือจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไม่เกิน 4 ล้านคนต่อปี ภายใต้แนวคิดต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2558 อาทิ ในปี 2558 ด้วยแนวคิด “12 เมืองต้องห้ามพลาด” จากนั้นในปี 2559-2561 ใช้แนวคิด “12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus” ส่วนในปี 2562-2563 แนวคิด “เมืองรอง ต้องลอง” ขณะที่ปี 2564-2565 แนวคิด “เมืองรองต้องไป” และล่าสุดในปี 2566-2567 แนวคิด “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม” โดยหลังจาก ททท.ได้ดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง ทำให้ปัจจุบันบางจังหวัดมีนักท่องเที่ยวเกิน 4 ล้านคนแล้ว