ธุรกิจหวัง 'เงินดิจิทัล-อีรีฟันด์' ปลุกใช้จ่าย แนะรัฐต้องกระจายทั่วถึง

ธุรกิจหวัง 'เงินดิจิทัล-อีรีฟันด์' ปลุกใช้จ่าย แนะรัฐต้องกระจายทั่วถึง

ภาคธุรกิจมั่นใจแจกเงินดิจิทัลปลุกใช้จ่าย รอความชัดเจนแนวทางใช้ แนะรัฐสร้างความโปร่งใส กระจายทั่วถึงชุมชน ประเมิน อุปโภคบริโภค สินค้าราคาสูง รับอานิสงส์ หวังมาตรการภาษี 'อี-รีฟันด์' 50,000 บาท ควบคู่ หนุนเงินหมุนในระบบหลายรอบ สทท.ลุ้นเพิ่มเงื่อนไขใช้จ่ายท่องเที่ยว

รัฐบาลเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประกาศการจ่ายเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาทให้คนไทย ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท และมีฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะมีผู้เงินดิจิทัลรวม 50 ล้านคน เริ่มใช้จ่ายตั้งแต่เดือน พ.ค.2567 เป็นต้นไป  

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BRC) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลที่จะออกมาในปี 2567 ประเมินว่า จะร่วมกระตุ้นภาคเศรษฐกิจไทย จากการส่งเงินเข้าสู่ระบบทำให้เกิดการหมุนของเงินหลายรอบ เมื่อภาคเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ต่อเนื่อง จะทำให้ทุกคนในประเทศได้รับประโยชน์และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ บิ๊กซี พร้อมปรับระบบการบริหารจัดการภายในรองรับกับโครงการนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างติดตามแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนของนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังมีมาตรการทางด้านภาษี หรือ อี-รีฟันด์ (e-Refund) ควบคู่กันไปด้วย เชื่อว่า จะเป็นการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกทาง

“ภาคเศรษฐกิจอยู่ที่ความเชื่อมั่น หากคนไทยมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ทุกคนจะกลับมาจับจ่ายใช้สอย”

ธุรกิจรอความชัดเจนแนวทางใช้ ดิจิทัล วอลเล็ต

นายรัฐ ตระกูลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องรอให้มีความชัดเจนรอบด้านก่อนแล้วโอกาสจะตามมา 

"วันนี้เหมือนยังมีหลายซินาริโอ ต้องรอดูว่าร้านค้าช่องทางไหนที่ผู้ประกอบการจะได้รับอานิสงส์สูงสุด  หากมองเซ็กเตอร์ธุรกิจร้านอาหาร ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหรือวิธีไหน เช่น การเพิ่มค่าแรง การช่วยค่าครองชีพค่าน้ำค่าไฟ เพราะทำให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น"

อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เงินเข้าระบบเศรษฐกิจล่าช้า ขณะเดียวกันการกู้เงินกระตุ้นใช้จ่าย อาจส่งผลกระทบกำลังซื้อประชาชนในระยะยาว ยังเป็นสถานการณ์ที่คาดเดายากจะมีผลต่อการค้าขายเช่นไร แต่ในฐานะผู้ประกอบการต้องเตรียมตัว วางแผนธุรกิจให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์

“หากนโยบายรัฐประกาศชัด เราจะเริ่มวิ่ง เพื่อวิ่งยังไงให้เร็วกว่าคนอื่น (การทำตลาดดึงการใช้จ่ายมาที่ร้าน) แต่ตอนนี้ต้องให้ภาพโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชัดเจนก่อนทั้งวิธีการหาเงิน เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับไม่ว่าจะวิธีไหน ในส่วนของบาร์บีคิวพลาซ่า สปีดแผนงานของเราเร็วอยู่แล้ว"

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกในการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ได้มองเพียงโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เพราะเป็นหนึ่งในอีกหลายปัจจัยเท่านั้นที่จะมีผลต่อธุรกิจ และไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโครงการดังกล่าว ธุรกิจก็ต้องเดินหน้าเพื่อเอาตัวรอดอยู่ดี แต่ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่เพิ่มเงินในกระเป๋าผู้บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคือโบนัสผู้ประกอบการ

นายจักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นหมวดหมู่ที่ได้รับประโยชน์เหมือนกับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาดำเนินการ สำหรับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ร้านค้าในรัศมีจะได้รับอานิสงส์ ขณะที่ในมิติของภาคธุรกิจจะเห็นการแข่งขันกลุ่มสินค้าต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคนำเงินที่ได้รับไปจับจ่าย ซึ่งบริษัทก็ต้องเตรียมแผนงานเพื่อรับมือมุมนี้ด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาทุกครั้งที่มีนโยบายการแจกเงินให้ประชาชนโดยตรง หรือ Helicopter Money สินค้าที่ราคาสูงค่อนข้างจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากสินค้าราคาต่ำประชาชนยังพอจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อยู่แล้ว เมื่อมีเงินพิเศษย่อมต้องการซื้อของราคาสูงขึ้น

“เอกชนทำในจุดที่เราทำได้ในความสามารถที่มี เราทำเต็มที่ในมุมของเรา เอกชนไม่ได้รอ แต่หากมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากรัฐบาล คือโบนัส ซึ่งเรามีแผนงานรองรับ และประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันเพื่อให้ผู้บริโภคมาจับจ่ายที่ร้านค้า เพราะไม่มีใครที่ win กันหมด”

ลดหย่อนภาษี'อี-รีฟันด์'กระตุ้นใช้จ่าย

นางประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า หากรัฐเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ประชาชนย่อมรู้สึกดี เนื่องจากมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเพื่อจับจ่ายใช้สอย แต่ขณะนี้้รายละเอียดของโครงการยังไม่ชัดเจนนัก ทั้งแหล่งที่มาของเงิน ผู้บริโภคนำเงินหมื่นบาทไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง

ในส่วนของธุรกิจเสื้อผ้า ซึ่งบริษัทมีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ เช่น จู๊สส์ (Jousse) กีลาโรซ (Guy Laroche) จีเอสพี (GSP) และเอ-เมส (A`MAZE) มองว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ร้านค้าจะได้รับอานิสงส์คือโครงการ e-Refund ที่ประชาชนจะได้รับภาษีคืนเมื่อมีการจับจ่ายสินค้าและบริการรวมมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท ผ่านผู้ประกอบการร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics

“ผู้บริโภคมีความฉลาดและการเอาตัวรอดหรือเซอร์ไวเวอร์โหมดในการใช้เงินอยู่แล้ว ขณะที่การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอยากให้พิจารณาหลายมุม คำนึงถึงพื้นฐานต่างๆ คิดให้รอบคอบว่าจะทำให้ประชาชนดีใจ กระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวหรือสร้างความยั่งยืน”

ดิจิทัล วอลเล็ต ควบคู่ e-Refund หนุนเงินสะพัด

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่านโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” และ “e-Refund” เชื่อว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ คุ้มหรือไม่ ตอบไม่ได้ ต้องดูภาพรวมการนำเงินก้อนนี้ไปใช้ทำอะไรถึงจะคุ้มค่าที่สุด เหมือนที่หลายคนมองว่าคอนโดมิเนียมโอเวอร์ซัพพลาย แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการกู้เงินมาพัฒนาคอนโด

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี นี้ตลาดน่าจะติดลบ เนื่องจากรัฐยังไม่มีนโยบายออกมากระตุ้น คาดว่า เป็นปีหน้า หลังจากที่ปีนี้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศด้วยการออกนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตและe-Refund ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจรีเทลช่วงปลายปีคักคักมากขึ้น

แนะกระจายเงินให้เข้าถึงชุมชน

นายบุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT)กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อน เงินดิจิทัล เป็นนโยบายใหม่ของภาครัฐในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ และประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน หากต้องการสร้างผลลัพธ์ที่ดีต้องร่วมสนับสนุนและทำให้มีการนำไปใช้ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย

อีกทั้งต้องวางกรอบทำให้เกิดการขยายต่อเนื่อง สร้างแรงกระเพื่อมไปยังส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจไทย สร้างผลกระทบต่อในวงกว้าง หรือ Multiple Effect รวมถึงทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์ พร้อมกันนี้ควรกำหนดนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมและมีความโปร่งใส รวมถึงต้องมีการสร้างวินัยทางการเงินไปควบคู่กัน

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสาร และการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดฯ หัวหน้าภาควิชาการตลาด ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด คณะบัญชีฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัล เป็นการดำเนินการในมุมมองใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยทำ สิ่งสำคัญคือ เมื่อภาครัฐต้องการขับเคลื่อนนโยบายนี้ จะวางแนวทางอย่างไร เพื่อให้มีเงินหมุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และหาแนวทางทำให้เงินที่เข้าไปในระบบแล้ว มีการหมุนต่อเนื่อง และมีเงินทบเข้ามาในระบบมากขึ้น ยกตัวอย่าง การมีมาตรการทางภาษีมาร่วมช่วยผลักดัน เพื่อร่วมกระตุ้นทำให้มีเงินหมุนต่อยอดจากโครงการนี้ หรือแนวทางอื่นๆ ที่ทุกคนสามารถร่วมระดมความคิดเห็นกันได้ต่อไป

อีกสิ่งสำคัญ ควรหาทางควบคุมเงินที่เข้าไปในระบบให้เกิดการกระจายและไม่กระจุกตัวในด้านใด หรือมุ่งไปในด้านเดียวเท่านั้น รวมถึงหาแนวทางป้องกันการทุ่มการตลาด ควรมีการใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่เคยดำเนินนโยบายของภาครัฐมาหลายครั้ง และดำเนินการได้สำเร็จ เชื่อว่า จะช่วยป้องกันเงินไม่ให้รั่วไหล ไปจนถึงการร่วมป้องกันการดึงเม็ดเงินไปในส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น

หวังรัฐเพิ่มเงื่อนไขใช้จ่ายท่องเที่ยว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลปรับเงื่อนไขโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) เพิ่มเติม เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวและบริการไม่ตกขบวน ประชาชนผู้ได้รับสิทธิสามารถนำเงินดิจิทัลมาใช้จ่ายกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ ในเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวอยู่แล้ว และยกให้เป็นนโยบายหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมองว่าหากมีการจำกัดรัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลแค่ในระดับอำเภอ ให้คนไทยท่องเที่ยวภายในพื้นที่ที่มีทะเบียนบ้านอยู่เท่านั้น คงไม่ช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวได้มากนัก

“อยากให้ทั้งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และโครงการ e-Refund ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท มีส่วนช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวตลาดในประเทศได้ด้วย เพราะภาคท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งภาคการเกษตร ภาคค้าปลีก และอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม แม้สุดท้ายรัฐบาลจะเคาะข้อสรุปเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทอย่างเป็นทางการ ว่าไม่สามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวได้แบบข้ามจังหวัดหรือทั่วประเทศ ทาง สทท.ก็อยากให้รัฐบาลเร่งจัดทำโครงการหรือมาตรการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นการเฉพาะออกมาเพิ่มเติม”

แนะใช้เริ่มใช้ เม.ย.สร้างผลทางเศรษฐกิจสูง 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินโครงการนี้หากทำได้จริงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะสั้น ทั้งช่วยอัดฉีดเม็ดเงินให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินอย่างมีศักยภาพ ช่วยบรรเทาภาระ ค่าครองชีพ และร่วมส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการทุกระดับ

โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มีข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายนี้เพิ่มเติม ทั้งการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้รัดกุม รวมถึงควรเริ่มใช้ในเดือน เม.ย.2567  จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง จากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ผู้คนคนเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก นอกจากนี้ โครงการควรใช้โครงการ e-Refund กระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการ วงเงิน 50,000 บาท ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งอนุมัติและเพิ่มระยะเวลาใช้จ่ายให้มากกว่าที่ผ่านมาจะช่วยกระตุ้นกรใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด