ธุรกิจหวั่นขึ้นค่าแรงกระทบต่างชาติลงทุนไทย-โรงแรมวอนแตะเบรก600บาทปี70

ธุรกิจหวั่นขึ้นค่าแรงกระทบต่างชาติลงทุนไทย-โรงแรมวอนแตะเบรก600บาทปี70

ภาคธุรกิจเตือนขึ้นค่าแรงกระทบรอบด้าน แนะรอบคอบรอจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน หวั่นต่างชาติหันลงทุนเพื่อนบ้าน ‘สทท.’ ขอขึ้นค่าแรง 400 บาทแบบค่อยเป็นค่อยไป ส.โรงแรมไทย วอนยับยั้งสเต็ป 600 บาท อสังหาฯ-รับสร้างบ้าน กระทบต้นทุนหนัก ดันราคาที่อยู่อาศัย ราคาสินค้า จ่อขยับ

การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน หนึ่งในนโยบายรัฐบาล 'เศรษฐา 1' เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น แม้จะส่งผลดีต่อตลาดแรงงานและเม็ดเงินที่สะพัดในระบบ แต่ด้านหนึ่งสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจอยู่ไม่น้อย กับภาวะ 'ต้นทุน' ปรับขึ้นรอบทิศทาง ท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจที่ยังอยู่ในห้วงการฟื้นฟูหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 มายาวนานนับจากปี 2562 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลใหม่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี สมาคมโรงแรมไทยจึงขอให้ยับยั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้ตระหนักถึงความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และศักยภาพในแต่ละพื้นที่จังหวัดที่หลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัว ยังมีประเด็นเรื่องของราคาพลังงาน ค่าแก๊ส ค่าไฟ ที่ยังคงเป็นต้นทุนที่สูงมากในภาคธุรกิจโรงแรม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการด้วย

ขึ้นค่าแรง 400 บาทแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหากับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน แต่อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เพราะถ้าปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมจะได้รับความเดือดร้อน

ส่วนภายในปี 2570 ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวันนั้น มองว่าเป็นนโยบายที่ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องปรับหาวิธีจ้างงานเพื่อควบคุมต้นทุน เช่น เพิ่มสัดส่วนการจ้างงานเป็นแบบพาร์ต-ไทม์ (Part-Time) รายชั่วโมงมากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการผลิต (Productivity)

“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมมีการจ่ายค่าแรงและปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะอยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรง ก็อยากให้เป็นการขึ้นค่าแรงตามทักษะที่มีการ Upskill และ Reskill มาแล้ว และต้องช่วยเหลือภาคเอกชนในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานด้วย”

ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องลดต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าไฟ และน้ำมัน รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบบูสเตอร์ช็อต (Booster Shot) เหมือนโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อกระตุ้นรายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย และลดความเสี่ยงของตลาดต่างประเทศ

หวั่นต่างชาติหนีลงทุนเพื่อนบ้าน

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน และ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 จากเดิมค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาทต่อวัน เฉลี่ยปรับขึ้น 14-15% นั้น ทั้งหมดต้องผ่านคณะกรรมการเกี่ยวกับค่าจ้างทุกฝ่ายต้องหารือร่วมกัน เพราะอัตราค่าแรงสูงเกินไปแต่อาจไม่มีงานทำ เพราะกระทบหลายภาคส่วน อาทิ ผู้ประกอบการอาจมีการลดบุคลากรในการทำงาน ส่วนผู้ที่ยังอยู่ต่อก็จะทำงานมากขึ้น เป็นต้น 

หากมองในระยะยาวในเรื่องการลงทุน หากมีการปรับขึ้นค่าแรงที่สูง นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย อาจเปลี่ยนแผนลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่าแทน

“รัฐบาลต้องมองหลายด้าน มิเช่นนั้นจะกระทบประชาชน ต้องให้มีความสมดุล เพราะหากขึ้นค่าแรงแต่ไม่มีการควบคุมราคาสินค้า ก็จะมีผลกระทบอย่างแน่นอน ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นจะกระทบราคาที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้นตามต้นทุน"

แนะธุรกิจบริหารจัดการต้นทุน

นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคม และการเงิน เป็นวาระด่วนของประเทศไทยที่มองว่าไตรมาส 4 จะเห็นมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ หนึ่งในนั้น คือ มาตรการขึ้นค่าแรง ตนมองว่ายอมรับได้ เพราะทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อที่จะกลับมาซื้ออสังหาฯ 

“ในแง่ผลกระทบที่มีต่อต้นทุนนั้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน กระทบน้อย แทบไม่ต้องปรับราคาขาย ยกเว้นถ้าขึ้น 600 บาทต่อวันทันทีจะส่งผลกระทบเยอะ”

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน น่าจะส่งผลต่อต้นทุน 1-2% อาจมีผลต่อราคาได้ เนื่องจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ค่าวัสดุก่อสร้าง ที่ดินปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยรวมๆ จึงมีผลต่อการปรับราคา แม้ว่าต้นทุนค่าแรงดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นก็ตาม

สำหรับ เอพี ได้มีการวางแผนในการบริหารจัดการต้นทุนด้วยการซื้อล่วงหน้าเพื่อคุมราคาต้นทุน ทำให้สามารถตรึงราคาสินค้าให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

ชี้กระทบธุรกิจรับสร้างบ้านครั้งใหญ่

นายสุธี เกตุศิริ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบิวท์ ทู บิวด์ บริษัทรับสร้าง กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลและหลีกเลี่ยงไม่ได้จากนโยบายทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 จากเดิมค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 353 บาทต่อวัน เท่ากับปรับขึ้นประมาณ 70% ภายในระยะเวลา 4 ปี หรือ 18% ต่อปี ส่งผลกระทบธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจรับสร้างบ้านครั้งใหญ่ เพราะทำให้ราคาบ้านปรับสูงอีกครั้ง จากต้นทุนค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น หรืออาจมีการปรับรอไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 รวมถึงรัฐบาลยังมีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าต่างๆ จะปรับราคาสูงขึ้นแบบชัดเจน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เริ่มมีสัญญาณของการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ทั้งด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคการส่งออกที่จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวมาต่อเนื่องรวมถึงแรงหนุนจากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวเสริมหลักในการพยุงรายได้ของประเทศปีนี้

“เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่มีความชัดเจนของในเรื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้ประกาศเอาไว้ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและการลงทุนให้เกิดการหมุนเวียนได้คล่องตัวมากขึ้น และเติบโตต่อเนื่องได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567”

ขึ้นค่าแรงมีผลต่อราคาบ้าน

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง หากเป็นการช่วยภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว กำลังทรัพย์ของลูกค้าในอนาคตดีขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ค่าแรงมีความสัมพันธ์กับราคาบ้านที่จะขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เงินในกระเป๋าของลูกค้าโดยรวมมีมากขึ้นก็ไม่มีปัญหา หากการปรับขึ้นค่าแรงส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

“การกระตุ้นภาคอสังหาฯ รัฐบาลต้องนำงบประมาณที่มีออกมาใช้โดยเร็วและโปร่งใสเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งอสังหาฯ จะต้องเติบโตควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนนตัดใหม่ รถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ก็จะเปิดตลาดมีพื้นที่ให้ดีเวลลอปเปอร์สามารถทำโครงการเลือกทำเลได้มากขึ้น รวมถึงการทำผังเมืองใหม่ที่กำลังประกาศใช้ ตลาดก็พร้อมเติบโต หากรัฐบาลสตาร์ทเศรษฐกิจใหม่ได้ จะทำให้ตลาดอสังหาฯ ไปได้ดีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน”

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาทต่อวัน มีผลต่อต้นทุนการก่อสร้าง เพิ่มขึ้นกว่า 10% มองในแง่บวกแรงงานขาดแคลน เราต้องยอมจ่ายแพงเพื่อให้มีคนทำงานให้ได้ เพราะงานก่อสร้างขาดแรงงานไม่ได้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย สามารถทำได้แค่บางส่วนเท่านั้น จึงต้องยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้แรงงาน ขณะเดียวกัน ราคาค่าแรงที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน และส่งผลต่อรราคาขายที่ต้องแพงขึ้น ผู้บริโภคคงต้องยอมรับราคาผลกระทบ

“โควิดที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาฯ จ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นกว่าปกติ อยู่แล้ว เพราะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นการที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทำให้ค่าแรงงานก่อสร้างขยับขึ้นอีกส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกระนาดตามมา”

กระทบเกษตรกรต้นน้ำแนะเร่งเพิ่มมูลค่า

นายเขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรคุณภาพสูงของประเทศไทยและของโลก กล่าวว่า  ในมุมมองภาคเอกชนเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง ที่จะมีผลต่อกลุ่มภาคเกษตรกรต้นน้ำที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก

ทั้งนี้จะส่งผลต่อภาคการเกษตรหลายด้าน โดยในด้านบวก ทำให้สามารถก้าวข้ามผ่านสู่ภาคแรงงานที่มีค่าแรงในระดับต่ำ ไปสู่ภาคแรงงานที่มีค่าแรงสูงขึ้น ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐเข้าไปร่วมสนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ภาคการเกษตร เพื่อปรับเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น

ในผลกระทบอีกด้านภาคการเกษตร ที่มีปลูกมันสำปะหลังส่งให้แก่บริษัทและเป็นกลุ่มต้นน้ำที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว จะทำให้เกษตรกรต้องมีการปรับราคาผลิตเกษตรต่อเนื่องไปด้วย ซึ่งไทยเป็นประเทศฐานผลิตสินค้าเกษตรจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงครั้งนี้ทั้งหมด หลังจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเกษตรตามไปด้วย

สำหรับบริษัทได้มีการจ่ายอัตราค่าแรงส่วนใหญ่สูงเกินอัตราดังกล่าวอยู่แล้ว และในโรงงานก็เป็นการใช้เครื่องจักรภายในโรงงานในการผลิตสินค้า และพนักงานส่วนใหญ่ในโรงงานจะเป็นกลุ่มวิศวกรเป็นหลัก จึงไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องการขึ้นค่าแรงครั้งนี้

หวั่นราคาสินค้าพุ่งตามค่าแรง

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ในมิติภาคเอกชนมองว่าไม่ควรมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในอัตราเดียวกัน เนื่องจากจะมีผลกระทบทางลบแก่ผู้ประกอบการ ภาคการผลิตมากกว่าเชิงบวก โดยตัวเลขการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศมีผลพิสูจน์และบทเรียนในอดีตมาแล้วเมื่อปี 2554 ที่ปรับเป็น 300 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ ต่อความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะส่งผลให้มีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าประเทศไทยจำนวนมาก มองว่าประเด็นดังกล่าวไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะในความเป็นจริง ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรือ labor intensive ดังนั้น อีกด้านหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้แรงงานไทยที่ออกจากระบบกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งเป็นได้

“นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ได้ แต่ไม่อยากให้ดำเนินการทั่วประเทศ เพราะอดีตถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช้คำตอบที่ถูกต้อง ไม่ได้ทำให้การบริหารจัดการต่ำกว่า เกิดการกระจุกตัว ไม่กระจาย เพราะไม่มีผู้ประกอบการรายใดย้ายฐานผลิตไปจังหวัดที่เล็ก ค่าแรงต่ำกว่า เนื่องจากอาจมีแค่ที่ดินต่ำกว่า”

หากค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ สิ่งที่ต้องจับตาคือ ราคาสินค้าอาจขยับตาม แม้ว่าภาครัฐจะมีแนวทางขอความร่วมมือกับผู้ผลิตในการตรึงราคาสินค้า แต่หากขึ้นแรง เช่น 500 บาทต่อวัน ย่อมทำให้ต้นทุนขยับ 20% เป็นต้น ซึ่งภาครัฐห่วงและขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า แต่ตรึงได้ หากค่าแรงไม่ขึ้น