โลกธุรกิจยุคใหม่ ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การตลาดไร้รูปแบบ

โลกธุรกิจยุคใหม่ ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การตลาดไร้รูปแบบ

นักการตลาดชี้เทรนด์การค้าภาคค้าปลีกยุคใหม่ เทคโนโลยีร่วมพลิกบทบาทผู้นำธุรกิจ แบรนด์ Amazon ก้าวสู่ผู้นำในเวลารวดเร็ว แนะผู้ประกอบการติดตามเทรนด์ อย่ายึดติดสิ่งเดิม โลกเปลี่ยนสู่การตลาดแบบไร้รูปแบบ

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน "สัมมนาประจำปี (TRA Conference 2023) ครั้งที่ 2/2566 การค้ายุคยุค Post Modern Trade ไม่ใช่! แค่ค้าปลีกแบบ ออฟไลน์ และ ออนไลน์ หรือ Omni Channel แต่ต้องเป็นการค้าปลีก ที่ต้องฉีกกฎ ! จัดโดย สมาคมผู้ค้าปลีกไทยว่า ภาคค้าปลีกในตลาดโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป จาก “เทคโนโลยี” เข้ามามีบทบาทพลิกโฉมธุรกิจ ทำให้ค้าปลีกรายใหญ่ในโลกเปลี่ยนเกมนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน

ยกตัวอย่าง Amazon ที่มีเทคโนโลยีลำโพงอัจฉริยะ สามารถทำหน้าที่ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การสั่งอาหารดีลิเวอรี การซื้อสินค้าออนไลน์ การเปิดและปิดระบบไฟฟ้า เชื่อมต่อกับระบบอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน

Amazon ก้าวสู่บริษัทชั้นนำในโลก พร้อมสร้างการเติบโตที่รวดเร็วมาก ทั้งที่แบรนด์ไม่มีการลงทุนทำโฆษณาเลย โดยลำโพงอัจฉริยะ ที่เมื่อมีการสั่งสินค้าผ่านลำโพง Amazon ก็จะซื้อสินค้าในเครือ Amazon ทั้งหมด กลายเป็น Post Modern Retailing ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดสหรัฐแล้ว

จากทิศทางดังกล่าวมีความสอดคล้องกันระหว่าง Post Modern Marketing และ Post Modern Retailing โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.ความปลอมที่จริง หมายถึง แนวคิดเดิมในการทำธุรกิจที่คิดว่าใช่อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป อย่าง ลำโพงอัจฉริยะ Amazon ที่ทำให้เราสงสัยได้ว่า ซื้อสินค้าจากโลกจริงหรือโลกปลอม

กรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่าง พิมรี่พาย เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยจากการขายน้ำหอม ทั้งที่ไม่ได้ทำแบรนด์น้ำหอม หรือ กรณีศึกษา อย่าง เบลล์ ที่เปิดร้านขายชุดนอน แต่ขายโดยการนอนให้ลูกค้าดูการนอนวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อบอกว่า ชุดนอนทำให้นอนได้จริง และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทั้งหมดมาจากการมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเสมอ

2. ความไม่ที่เหมาะ ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว ยังมีธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ดีอยู่ ยกตัวอย่าง การมีเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ในอาคาร สามารถใช้ส่งข้อความให้แก่ลูกค้าที่กำลังเดินไปซื้อเครื่องดื่มอีกแบรนด์ให้เข้ามาซื้อสินค้าที่ร้านแทน โดยมีคูปองส่วนลดพิเศษ อีกสิ่ง คือ ต้องมีความเข้าใจลูกค้า โดยเฉพาะพฤติกรรมและความต้องการ เพื่อสร้างความแตกต่างและนำเสนอสิ่งที่ดีสุดให้แก่ลูกค้า หากแบรนด์สร้างความแตกต่างในธุรกิจได้จะเป็นแรงดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการระยะยาวและสามารถแข่งขันกับองค์กรขนาดใหญ่ได้

3. ความผิดที่ถูก หมายถึง สิ่งที่เคยคิดว่าผิดในการทำธุรกิจอาจถูกต้องได้เสมอ  การทำธุรกิจที่ต้องเลือกทำสิ่งที่ใช่ก่อนสิ่งที่ชอบเสมอ และมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่สร้างการเติบโต ยกตัวอย่าง เฮียฮ้อ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ผู้ก่อตั้งอาร์เอส ที่มีความชื่นชอบในธุรกิจเพลง แต่ได้ขยายทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยง เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก มีโอกาสสูง เมื่อขยายธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตดี ก็สามารถมีเวลาไปขยายธุรกิจเพลงที่เป็นสิ่งที่ชอบควบคู่กันไปด้วย 

ทั้งหมด คือการก้าวข้ามขีดจำกัดไปสู่การทำตลาดแบบไร้รูปแบบ