ขายดีก็มีปัญหา ‘อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

ขายดีก็มีปัญหา ‘อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าพ่อชาเขียว “ตัน ภาสกรนที” ออกมาโพสต์ภาพขอโทษลูกค้าที่ผลิตชาเขียวพร้อมดื่ม “อิชิตัน” ส่งมอบไม่ทัน จนมีออเดอร์ค้างต้องผลิตส่งมอบคิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านบาท จึงต้องแก้เกมการผลิตระยะสั้น-ยาว เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสยอดขาย การเติบโต

การขายดีหรือ Demand ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวกลับมาคึกคัก การเติบโตจนครองแชมป์ในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ติดต่อกัน 3 ปี กลายเป็น “ปัญหา” ที่ผู้ผลิตต้องบริหารจัดการ

ตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ อภิชาติ สุขจิรวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการสายการเงินและบัญชี และธนพันธุ์ คงนันทะ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจ ตลอดจนภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลงลึกหมวดย่อยชาเขียวพร้อมดื่มปี 2566

  • เมื่อขายดีมีปัญหา

สถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ครึ่งปีแรกมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท หมวด “ชาเขียวพร้อมดื่ม” เติบโตสูงสุด 19.1% ซึ่งตัวเลขอัตรา 2 หลัก ไม่ได้เห็นมาหลายปี ยิ่งกว่านั้นการโตกว่าทุกหมวด ยังติดต่อกัน 3 ปีซ้อนด้วย และไม่เพียงแค่มูลค่าหรือวัดจากราคาขายที่โต ปริมาณการบริโภคยังหนุนการขายเชิงปริมาณขยายตัว 16.8%

ขายดีก็มีปัญหา ‘อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่ “อิชิตัน” ขายดีกว่านั้น เพราะยอดขายเติบโตสูงกว่าตลาดรวม ไตรมาส 2 สร้างยอดขาย 2,029.7 ล้านบาท เติบโต 25.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนครึ่งปีแรกโกยยอดขาย 3,862.3 ล้านบาท เติบโต 26.3%

“ในดีมีเสีย ในเสียมีดี บางครั้งการขายดีก็เป็นปัญหา เราต้องบริหารจัดการการผลิต จัดสรรการผลิตสินค้าให้ถูก เพื่อไม่ให้กระทบ หรือเสียหายในอนาคต”

อิชิตัน มีกำลังการผลิตเครื่องดื่ม 1,500 ล้านขวดต่อปี หรือใช้กำลังการผลิตล่าสุดราว 70% ไม่สามารถใช้เต็ม 100% เพราะโรงงานไม่ได้ผลิตสินค้าเพียงรายการเดียว แต่ต้องบริหารพอร์ตโลิโอ ทั้งขนาดหรือไซส์สินค้า เครื่องดื่มแต่ละประเภท บริหารการผลิตสินค้าขายดี สินค้าทำกำไรสูง รวมถึงสินค้าที่จะเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน เครื่องดื่มสมุนไพรเย็นเย็น อิชิตันน้ำด่าง รวมถึงชาเขียวขวดใหญ่ เป็นต้น ทำให้ 30% เป็นการสำรองเพื่อสับเปลี่ยนกระบวนการผลิตนั่นเอง

  • ทุ่ม 460 ล้านบาท แก้เกมผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่

เมื่อสินค้าขายดี จนเกิดภาวะ “ขาดตลาด” การส่งมอบให้ลูกค้าไม่ได้ตามที่ออเดอร์บ้าง ส่งช้าบ้าง บริษัทจึงแก้เกมด้วยการจ้างผลิต(โออีเอ็ม)กับค่ายยูโรเปี้ยน ฟู้ด คู่ค้าที่เคยจ้างผลิตช่วงที่บริษัทกำลังสร้างโรงงาน

“ซัพพลายสินค้ายังไม่พอขายเล็กน้อย ตอนนี้เรามีออเดอร์เก่าค้างต้องผลิตให้ลูกค้ามูลค่า 100 ล้านบาท กระแสสินค้าขาดตลาด น่ากลัว เพราะทำให้ลูกค้ายิ่งสั่งเยอะขึ้น ต้องกระจายและส่งสินค้าให้ทัน แต่ก็ต้องขอโทเพราะยังส่งได้ไม่ทั่วถึง”

ขายดีก็มีปัญหา ‘อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่ การขายดีของเครื่องดื่มอิชิตัน เช่น ช่องทางร้านค้าทั่วไปและสินค้าเกือบทุกรายการ(SKUs) สินค้าขายออกจากร้านเพิ่มขึ้นเป็น 44 ขวดจาก 34 ขวด หรือเติบโต 30% อัตราการการะจายสินค้าครอบคลุมถึง 60% จาก 50% เจาะร้านค้าได้หลัก “แสนจุด” ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ยังเคาะอนุมัติงบลงทุน 460 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่สำหรับบรรจุเครื่องดื่ม จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตอีก 200 ล้านขวดต่อปี เป็น 1,700 ล้านขวดต่อปี

“การติดตั้งเครื่องจักรจะแล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2567”

สเต็ปถัดไป จะเห็นการลงทุนใหญ่ 1,500-2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่ บนพื้นที่ 70 ไร่ ซึ่งบริษัทซื้อที่ดินตระเตรียมไว้ตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน ขณะที่โรงงานเดิมยังมีพื้นที่เหลือราว 6 ไร่ รองรับการผลิตสินค้าได้อีก

“โรงงานใหม่จะใช้เงินลงทุน 1,500-2,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นบริษัทคงมียอดขายเกินหมื่นล้านบาท(เป้าหมายปี 2568) จึงไม่น่าจะมีปัญหาทั้งเงินสด กำไร และการสร้างยอดขาย”

ขายดีก็มีปัญหา ‘อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

  • ปรับเป้ายอดขายปี 66 แตะ 7,600 ล้านบาท

ยอดขายไตรมาส 2 ทำนิวไฮติดต่อกัน 29 ไตรมาส และหวังต่อว่าไตรมาส 3 จะทำนิวไฮต่อเป็นไตรมาสที่ 30 เพราะผ่านครึ่งทางเห็นการฟื้นตัวอย่างดี และสัญญาณยอดขายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อิชิตัน ยังเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% โดยแรงหนุนตั้งแต่ต้นปีคือปัญหาภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ การท่องเที่ยวกลับมากระตุ้นการบริโภคเพิ่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทจึงปรับเป้าหมายยอดขายปี 2566 ให้เป็น 7,600 ล้านบาท เติบโต 20% จากเป้าเดิมตั้งไว้ 7,300 ล้านบาท

ขายดีก็มีปัญหา ‘อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่ ตันซันซู รสชาติใหม่ เล็งขายตุลาคม 2566

กลยุทธ์สานเป้าโตครึ่งปีหลัง อิชิตัน ยังบุกหนักทำตลาด เสริมทัพด้วยน้ำอัดลมสไตล์เกาหลี “ตันซันซู” ออกรสชาติน้ำผึ้งมะนาวให้มีความ Mass ขึ้น และยังใช้นักมวยญี่ปุ่น “โคตะ มิอูระ” สร้างการรับรู้ให้กับชาเขียวพรีเมียม “ชิซึโอกะ” ส่วนอิชิตันน้ำด่าง จะไทอินกับรายการดัง เพื่อให้ความรู้กับกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ เป็นต้น

ด้านสถานการณ์ต้นทุนการผลิตเครื่องดื่มครึ่งปีหลัง วัตถุดิบบางอย่างราคาอ่อนตัวลง แต่พลังงานมีราคาสูงขึ้น การจ้างผลิตมีต้นทุนเพิ่ม แต่บริษัทมุ่งบริหารจัดการต้นทุน บริหารพอร์ตสินค้าทำกำไรให้เหมาะสม และปัจจุบันยืนยันไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาสินค้า