ธุรกิจล้มเหลวเพราะอะไร? | พสุ เดชะรินทร์

ธุรกิจล้มเหลวเพราะอะไร? | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อไม่นานมานี้ “กรุงเทพธุรกิจ” มีบทความเกี่ยวกับธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองในไทยแต่สุดท้ายล้มเหลว เช่น คาร์ลซ จูเนียร์ เอแอนด์ดับบลิว โรตีบอย

ก็นึกได้ว่านอกจากในไทยแล้ว มีบริษัทระดับโลกที่เคยประสบความสำเร็จแล้วล้มเหลวอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยดีก็เช่น โกดัก โนเกีย Blockbuster Toy “R” Us Compaq หรือ ร้านขายเทปซีดี Tower Records เป็นต้น 

จุดจบของบริษัทที่ล้มเหลวแตกต่างกันไป บางแห่งก็เข้าสู่กระบวนการล้มละลายแล้วหายไปเลย บ้างก็ก้าวข้ามการล้มละลายและกลับมาได้ โดยอาจจะไปมุ่งเน้นธุรกิจอื่นหรือมีขนาดที่เล็กลง บ้างก็ถูกควบรวมโดยคู่แข่งหรือบริษัทอื่นแล้วก็สูญหายไป

เมื่อลองรวบรวมสาเหตุของความล้มเหลวของธุรกิจต่างๆ (ทั้งในไทยและต่างประเทศ) ก็พอจะจัดหมวดหมู่ออกมาได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นบริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของคู่แข่งขันใหม่ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป พัฒนาการของเทคโนโลยี ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ พฤติกรรมของลูกค้า รวมถึงปัจจัยในเชิงมหภาค เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว บริษัทที่ล้มเหลวจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น

เช่น Blockbuster ที่เจอคู่แข่งขันใหม่ที่มาด้วย Business model ใหม่อย่าง Netflix หรือโกดัก ที่เผชิญกับดิจิทัลเทคโนโลยี หรือหลายธุรกิจที่ต้องปิดตัวไปเนื่องจากเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

ความไม่สามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ยังมาจากอีกหลายสาเหตุย่อย ทั้งการที่บริษัทขาดความยืดหยุ่นและขาดความสามารถในการปรับตัว หรือบริษัทไม่ยอมเปลี่ยน เปลี่ยนได้ช้า

เนื่องจากยังยึดติดกับรูปแบบและความสำเร็จจากการดำเนินงานในอดีต ทั้งๆ ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น หรือการละเลย ไม่สนใจต่อคู่แข่งใหม่ที่เป็นรายเล็ก ที่สุดท้ายมีการเติบโตและมาแย่งลูกค้าจากธุรกิจเดิม หรือการไม่สามารถ Disrupt ธุรกิจเดิมของตนที่ไม่ตอบโจทย์ของลูกค้า จนเปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นเข้ามา Disrupt ตัวเองแทน

กลุ่มที่สอง เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ซึ่งยังสามารถแยกออกมาได้ว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือผิดพลาดเพราะตั้งใจ กลุ่มที่ผิดพลาดเพราะตั้งใจคือบริษัทที่ผู้บริหารตั้งใจทุจริต ปกปิดข้อมูล

ใช้บริษัทเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ส่วนตน สุดท้ายต่อให้เป็นบริษัทที่ดีเพียงใด ก็ล้มเหลวลงได้ ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลกคือ Enron หรือล่าสุดก็กรณีบริษัทจดทะเบียนของไทยแห่งหนึ่งที่เป็นข่าวกันอยู่

ส่วนการบริหารที่ผิดพลาดเนื่องจากผู้บริหารไม่ได้ตั้งใจนั้น อาจจะมาจากการขาดความสามารถของผู้บริหาร ทั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือการสร้างค่านิยมในการทำงานที่ไม่สนับสนุนคนดีคนเก่ง จนคนที่เก่งต้องลาออกกันหมด หรือการบริหารการเงินที่ผิดพลาดจนทำให้ขาดสภาพคล่อง

หรือการไม่เตรียมบริษัทให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หรือการขาดการกำกับดูแลที่ดีจากคณะกรรมการบริษัท หรือการไม่สามารถพัฒนาระบบในการสร้างตัวแทนหรือทายาทขึ้นมาได้ หรือการมีปัญหากับหน่วยงานกำกับภาครัฐ เป็นต้น

กลุ่มที่สาม เป็นความล้มเหลวที่มาจากความสำเร็จ ความสำเร็จในอดีตทำให้ผู้บริหารเกิดความเชื่อมั่น ประมาท ขาดความระมัดระวังและรอบคอบในการตัดสินใจ หลายครั้งจะนำไปสู่การขยายกิจการที่มากขึ้นและเกินตัว การขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ นั้น

ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้น ผู้บริหารขาดโฟกัส ขาดระบบและคนที่จะพร้อมรองรับการขยายตัว ไม่ยอมรับและพร้อมรองรับต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (เนื่องจากความมั่นใจ) สุดท้ายก็จะพบว่าธุรกิจเริ่มประสบปัญหาและเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น

สาเหตุที่ทำให้บริษัทล้มเหลว ไม่ได้จำเป็นจะต้องมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หลายบริษัทที่ล้มเหลวก็มาจากทั้งสามสาเหตุข้างต้นผสมผสานกัน สิ่งที่ผู้บริหารต้องตระหนักคือไม่ว่าธุรกิจจะใหญ่หรือประสบความสำเร็จเพียงใด แต่ก็สามารถที่จะล้มเหลวได้ทั้งสิ้น

ตัวอย่างยักษ์ล้มในอดีตก็มีให้ศึกษากันอยู่มากมาย หวังว่าธุรกิจของท่านคงจะไม่ได้เป็นกรณีศึกษาในเรื่องของความล้มเหลวให้กับคนรุ่นหลังเหมือนตัวอย่างต่างๆ ที่ยกมานะครับ