เจน4 ‘โอสถสภา’ ควงมืออาชีพ เคลื่อนองค์กร 132 ปี โตยั่งยืน

เจน4 ‘โอสถสภา’ ควงมืออาชีพ  เคลื่อนองค์กร 132 ปี โตยั่งยืน

บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) ได้แสดงความอาลัยกับการถึงอนิจกรรมของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท

การจากไปของ “เพชร” ในวัย 69 ปี ย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวยังคงมีบทบาทและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจการศึกษา กับการเป็นผู้รับไม้ต่อและเคยดำรงตำแหน่ง “อธิการบดี” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องกับคาแร็กเตอร์ และจุดแข็งของ “เพชร”

ขณะที่ “โอสถสภา” องค์กร 132 ปี ทิศทางจะเป็นอย่างไร ยังต้องจับตาการขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันมีนักบริหาร แม่ทัพธุรกิจทำหน้าที่กุมบังเหียนกิจการองค์กรสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ และเบอร์ 1 ค่ายเครื่องดื่มชูกำลังของเมืองไทย ทว่า อีกด้าน “ทายาทรุ่น 4” ยังมีบทบาทดูแลธุรกิจไม่น้อย

  • “เพชร โอสถานุเคราะห์” นักธุรกิจสายพันธุ์ครีเอทีฟ

“เพชร” เป็นบุตรของ “สุรัตน์-ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์” และเป็นพี่ชายของ “รัตน์ โอสถานุเคราะห์” ที่ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่เป็น “แม่ทัพ” เคลื่อนโอสถสภา

“เพชร” เคยให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ ถึงเส้นทางการเริ่มเข้ามาสานต่อกิจการครอบครัวตั้งแต่ปี 2520 กับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ช่วงเรียนรู้ ทำงาน ไม่ได้ชอบการบริหารนัก เพราะส่วนตัวมีความหลงใหลกับงานศิลปะ งานครีเอทีฟต่างๆ ทำให้ใช้เวลาเพียง 5 ปีบนเส้นทางธุรกิจครอบครัว แล้วหันเหไปปลุกปั้นบริษัทโฆษณา “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง” ลุยงานสร้างสรรค์ ต่อยอดจุดแข็ง “ซีอีโอสุดครีเอทีฟ” ให้ลูกค้า รวมถึงมีผลงานโฆษณาให้กับสินค้าหลายตัวของโอสภสภาประสบความสำเร็จในตลาด

เจน4 ‘โอสถสภา’ ควงมืออาชีพ  เคลื่อนองค์กร 132 ปี โตยั่งยืน เพชร โอสถานุเคราะห์

นอกจากนี้ ยังรับบทเป็น “ผู้นำ” บริหารธุรกิจการศึกษา “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ให้เติบใหญ่ และโดดเด่นด้านความสร้างสรรค์ ผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาด ตอบสนองกับงาน และการพัฒนาประเทศชาติไปข้างหน้า

ทว่า เส้นทางการเป็นนักบริหาร กุมบังเหียนธุรกิจเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “รัตน์” น้องชายมีปัญหาด้านสุขภาพ “เพชร” จึงมาดูแล “โอสถสภา” และยังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจครอบครัวไปเป็น “มหาชน” นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

  • ไม้ต่อกิจการครอบครัวสู่มืออาชีพ

เมื่อธุรกิจครอบครัวเปลี่ยนไปสู่มหาชน จึงเห็นการเปิดทางให้ “ผู้บริหารมืออาชีพ” เข้ามาเป็นแม่ทัพนายกองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการบริหาร “วรรณิภา ภักดีบุตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เกริก วณิกกุล” กรรมการอิสระ (อดีต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสภาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.) “พรธิดา บุญสา” กรรมการ ซึ่งคร่ำหวอดในวงการสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ทายาทรุ่น 4 ยังครองอาณาจักร “โอสถสภา”

แม้มีมืออาชีพมาเสริมแกร่ง ทว่า ภายใต้อาณาจักร “หมื่นล้านบาท” โอสถสภา ยังมีทายาทรุ่น 4 ช่วยดูแลและบริหารธุรกิจอยู่หลายคน รายนามสำคัญ เช่น “ธนา-ประธาน ไชยประสิทธิ์” ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหารอาวุโส “ธัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์” รองประธานคณะกรรมการบริหาร “นิติ โอสถานุเคราะห์” กรรมการบริหาร ที่มีตำแหน่งพ่วงท้ายคือเป็น “เศรษฐีหุ้นไทย”

เจน4 ‘โอสถสภา’ ควงมืออาชีพ  เคลื่อนองค์กร 132 ปี โตยั่งยืน

ตระกูล 'โอสถานุเคราะห์-ไชยประสิทธิ์' เจน4 โอสถสภา และนักบริหารมืออาชีพร่วมขับเคลื่อนองค์กร 132 ปี (Cr.โอสถสภา)

บุคคลในตระกูล ที่ยังมีชื่อในทำเนียบบริษัท เช่น สุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ (น้องชายสุรัตน์)เจนเนอเรชั่น 3 นั่งตำแหน่งประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ และเป็นบิดาของ “นิติ โอสถานุเคราะห์” ส่วน “รัตน์” น้องชายของ “เพชร” ยังคงนั่งรองประธานกรรมการบริษัท รวมถึง “นาฑี โอสถานุเคราะห์” บุตรชายของ “รัตน์” โดยเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริษัท หากแต่อีกบทบาทที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดีคือการเป็นหนึ่งในศิลปินวง “เก็ตสึโนว่า”(getsunova)

ทั้งนี้ หากนับสายสัมพันธ์ของทั้งหมดเป็นทั้งพ่อ อา หลาน

  • หนุนองค์กรร้อยปีผงาดภูมิภาค

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก่อน “เพชร” ถึงอนิจกรรม ได้ลดบทบาทการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวด้วยการเทขายหุ้นทิ้งบิ๊กล็อต และขายหุ้นบางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นแบบเจาะจง(Private Placement) สะท้อนการให้นักบริหารมืออาชีพทำงานเต็มที่ ด้วยเชื่อมั่นในทีมงานที่เต็มไปด้วยคนเก่ง มีวิสัยทัศน์ สานต่อองค์กรร้อยปี และเป็นอาณาจักรหมื่นล้านเติบใหญ่อย่างยั่งยืนในประเทศไทย เพื่อผงาดสู่เวทีระดับภูมิภาคต่อไปด้วย

ปี 2565 โอสถภา สร้างรายได้กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และทำ “กำไรสุทธิ” กว่า 1,900 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรก 2566 มีรายได้จากการขายกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และ “กำไรสุทธิ” 1,327 ล้านบาท

ทว่า แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง โจทย์สำคัญคือการ “ทวงคืน” ส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องดื่มชูกำลังให้ได้ 2% หลังจากที่ผ่านมาเผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้แบรนด์เบอร์ 1 อย่าง “เอ็ม-150” ต้องขยับราคาขายเป็น 12 บาทจาก 10 บาท กลายเป็นตัวแปรกระเทือนส่วนแบ่งการตลาดลดลง

กิจกรรม Opportunity Day จิตอาภา อัมราลิขิต หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ทางการเงิน ของบมจ.โอสถสภา ได้ฉายภาพว่า ส่วนแบ่งการตลาดรวมของเครื่องดื่มชูกำลังทั้งพอร์ตโฟลิโอ “โอสถสภา” เคยสูงถึงระดับ 54% ในไตรมาส 1 ปี 2565 ล่าสุดครึ่งปีแรกอยู่ที่ 47.5% ซึ่งสามารถแย่งเค้กกลับมาคืนได้ 0.9% จากภาพรวมตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.4%

เจน4 ‘โอสถสภา’ ควงมืออาชีพ  เคลื่อนองค์กร 132 ปี โตยั่งยืน แม้ต้องการส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม แต่ยอดขายที่ได้ต้องมาพร้อม "กำไร" ที่ดีด้วยโอสถสภาจึงค่อยๆ สร้างการเติบโต

ส่วนเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์ เป็นอีกหมวดที่เผชิญความท้าทาย เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ผู้บริโภคคลายกังวลการสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ตลาดรวมมูลค่า 7,900 ล้านบาท หดตัวถึง 14.5% แต่ “ซี-วิท” ยังครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างแข็งแกร่งที่ 67.5% คิดเป็น 2 ใน 3 ของตลาดรวมและทิ้งห่างคู่แข่งเบอร์ 2 มีส่วนแบ่งตลาดราว 6-8%

  • เดินหน้าลงทุนต่อจิ๊กซอว์โตยั่งยืน

ปี 2566 โอสถสภา วางแผนใช้งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท สานภารกิจเติบโต ซึ่งจะมีทั้ง “ทางลัด” ในการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหลายดีล รวมถึงทุ่มเทสู่แผนพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนด้านการตลาด ยังเดินหน้าออกสินค้าใหม่เติมพอร์ตโฟลิโอ สร้างความหลากหลายเพื่อตอบสนองผู้บริโภค โดยครึ่งปีหลังมีเครื่องดื่ม “ยันฮี แคลเซียม วอเตอร์” สินค้าจากบริษัทร่วมทุนบุกตลาด จะเห็นน้ำอัดลม “ชาร์ค เลมอน ม็อกเทล” เสริมแกร่งชาร์ค อุเมะ โซดา และ “คาลพิส” รสชาติใหม่สร้างสีสัน

สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล แม้เบบี้มายด์ มีการปรับลุคใหม่ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ใช้พลาสติกลดลง 13% ขานรับความยั่งยืน ขณะที่ “ทเวลฟ์พลัส” จะบุกหนักตลาดผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกลายมูลค่า 2,100 ล้านบาท มีการปรับกลยุทธ์ย้ำจุดแข็งของแบรนด์ด้านความหอมทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 1.7% เป็น 12.3% ก้าวเป็น “เบอร์ 2” ของตลาด เป็นต้น 

ส่วนตลาดต่างแดน ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าเสิร์ฟผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายกว่า 38 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมเอเชีย อาฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือฯ แต่ตลาดหลักที่เป็นหมุดสำคัญคือประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม(CLMV)และมีฐานผลิตทั้งโรงงานขวดแก้ว เครื่องดื่มชูกำลังที่ “เมียนมา” จะเป็นขุมทรัพย์สร้างการเติบโตในอนาคต