ททท. ดึงทัวริสต์ระยะไกล 9.2 ล้านคนปี 67 จ่อตั้ง 2 สนง. ริยาด-ชิคาโก รุกตลาดใหม่

ททท. ดึงทัวริสต์ระยะไกล 9.2 ล้านคนปี 67 จ่อตั้ง 2 สนง. ริยาด-ชิคาโก รุกตลาดใหม่

นักท่องเที่ยวต่างชาติ “ตลาดระยะไกล” (Long Haul) โดยเฉพาะจากยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง “แบกภารกิจ” ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยไปให้ถึงเป้าหมาย! ด้วยยอดวันพักและการใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงกว่าตลาดระยะใกล้จากเอเชีย

โดยในปี 2566 “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) วางเป้ารายได้จากตลาดระยะไกลว่าต้องไปให้ถึง 6.6 แสนล้านบาท ตลาดระยะใกล้ 9.6 แสนล้านบาท จากรายได้ตลาดต่างประเทศรวม 1.62 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ตลาดระยะไกล 7.21 แสนล้านบาท ตลาดระยะใกล้ 1.2 ล้านล้านบาท รวมรายได้ตลาดต่างประเทศปีหน้าอยู่ที่ 1.92 ล้านล้านบาท

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวว่า ททท.ตั้งเป้าหมายตลอดปี 2567 มีนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลในพื้นที่ที่รับผิดชอบ จำนวน 9.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 26% ของเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 35 ล้านคน แต่ต้องสร้างรายได้ในสัดส่วน 37% หรือคิดเป็น 7.21 แสนล้านบาท จากเป้ารายได้ตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกามีวันพักเฉลี่ยยาวนานกว่าตลาดระยะใกล้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงกว่า

อ้างอิงข้อมูลจากโครงการสำรวจเพื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศปี 2566 ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) พบว่าตลาด “ยุโรป” มีวันพักเฉลี่ย 19.40 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 71,718 บาทต่อทริป ตลาด “ตะวันออกกลาง” มีวันพักเฉลี่ย 16.17 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 99,172 บาทต่อทริป และตลาด “อเมริกา” มีวันพักเฉลี่ย 15.26 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 76,297 บาทต่อทริป

“แนวโน้มนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลปี 2566 คาดว่าจะทำได้เกินเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ 7 ล้านคนอย่างแน่นอน ไปอยู่ที่ระดับ 8 ล้านคน สร้างรายได้ 6.6 แสนล้านบาท”

จากปัจจัยภาพรวมตารางบินฤดูร้อน 2566 ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค. มีจำนวน “เที่ยวบินระหว่างประเทศ” จาก “ทุกภูมิภาค” เข้าไทยรวมกว่า 100,493 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากตารางบินฤดูหนาว 2565/2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 - มี.ค.2566 ซึ่งมีจำนวนรวม 53,839 เที่ยวบิน และแนวโน้มการเดินทางในช่วง “ไฮซีซัน” ปลายปีนี้น่าจะมี Pent Up Demand” หรือดีมานด์คั่งค้างที่พร้อมจับจ่าย หลังต้องชะลอการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้าจากวิกฤติโควิด-19

ททท. ดึงทัวริสต์ระยะไกล 9.2 ล้านคนปี 67 จ่อตั้ง 2 สนง. ริยาด-ชิคาโก รุกตลาดใหม่

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) มีนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้าไทย 2,933,660 คน อเมริกา 620,474 คน ตะวันออกกลาง 231,206 คน และแอฟริกา 45,663 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกครองสัดส่วนมากกว่าด้วยจำนวน 8,813,123 คน จากยอดรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทั้งหมดช่วงครึ่งปีแรกรวม 12,661,747 คน

ตลาดที่โดดเด่นอย่างมากคือ “รัสเซีย” เพราะจากที่ตั้งเป้าตลอดปี 2566 ไว้ที่ 1 ล้านคน ผ่านไปครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวรัสเซียสะสม 789,947 คน ททท.จึงตั้งเป้าขยายการเติบโตในปี 2567 ให้ได้ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีนี้ จากปัจจัยจำนวนเที่ยวบินประจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ของสายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot) และการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ขณะเดียวกันชาวรัสเซียที่เดินทางเข้าไทยยังเป็นกลุ่มใช้จ่ายสูง ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสอย่างมาก

อีกตลาดที่มีศักยภาพสูงคือ “ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-10 ก.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 75,652 คน มากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคตะวันออกกลาง แซงหน้าตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งมีจำนวน 49,905 คน หลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ซาอุฯ เมื่อต้นปี 2565 โดย ททท.เตรียมตั้งสำนักงานใหม่ในกรุงริยาด เพื่อรุกทำตลาดนักท่องเที่ยวซาอุฯ อย่างเต็มที่ พร้อมดูแลพื้นที่ใกล้เคียง เช่น แอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งมีความใกล้เคียงกันในเชิงวัฒนธรรมกับตลาดซาอุฯ

นอกจากนี้ ททท.ยังมีแนวโน้มตั้งสำนักงานชิคาโก ในสหรัฐ เพื่อดูแลการทำตลาดในพื้นที่ “ตอนกลางของสหรัฐ” สามารถดึงชาร์เตอร์ไฟลต์เข้าไทยได้ มาเสริมกำลังจากที่มีอยู่ 2 สำนักงานในสหรัฐ ได้แก่ สำนักงานนิวยอร์ก และสำนักงานลอสแอนเจลิส โดยเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด มีนักท่องเที่ยวสหรัฐเดินทางเข้าไทย 1,136,210 คน และในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-10 ก.ค. 2566 มีจำนวนสะสม 472,317 คน

ขณะเดียวกัน สำนักงานชิคาโกจะรับผิดชอบพื้นที่ตลาดแคนาดา ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานนิวยอร์ก หลังจากก่อนหน้านี้ ททท.เคยตั้งสำนักงานโทรอนโต แต่ต้องพักดำเนินการไป โดยเมื่อปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวแคนาดาเดินทางเข้าไทย 252,574 คน กลุ่มหลักเดินทางจากโทรอนโตและแวนคูเวอร์ ขณะที่ในช่วง 1 ม.ค.-10 ก.ค. มีจำนวนสะสม 114,071 คน

“อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลในปี 2567 ยังมีอยู่ เช่น ปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศจากตลาดนี้คาดกลับมาแค่ 70% ในปีนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันสูงในทุกมิติ ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินยังแพง ต้องใช้เวลาอีก 2 ปีจำนวนเที่ยวบินถึงจะกลับมา 100%”

ศิริปกรณ์ เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดระยะไกล จากในปี 2566 ได้ใช้กลยุทธ์ ABCD” ได้แก่ A: Airline Focus, B: Big Cities & Beyond, C: Collaboration is Key และ D: Destination For All เพื่อฟื้นฟูตลาดจากการระบาดของโควิด-19

ททท.จะเดินหน้าทำการตลาดปี 2567 ด้วยกลยุทธ์ EFG” ประกอบด้วย E: Ecosystem Sustainability” สร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนแก่ภาคท่องเที่ยวไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวยุโรปที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างมาก เห็นได้จากการจัดอันดับ Greenest Countries in The World” ด้วยดัชนีชี้วัด EPI (Environmental Performance Index) พบว่า 10 อันดับแรกเป็นประเทศในยุโรปทั้งสิ้น ได้แก่ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ มอลตา สวีเดน ลักเซมเบิร์ก สโลวีเนีย ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์ นอกจากนี้ ททท.จะเสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยวที่มีโปรแกรมของพันธมิตรด้านรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวเลือกแก่นักท่องเที่ยวด้วย

F: Fantastic Four” แต่ละตลาดต้องเน้นรุก 4 เซ็กเมนต์เป็นอย่างน้อย เช่น กลุ่มมิลเลนเนียลส์ กลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มแอคทีฟซีเนียร์ กลุ่มนักเดินทางผู้หญิง กลุ่มลักชัวรี กลุ่มครอบครัว กลุ่มดิจิทัลนอแมด กลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มคู่รักคู่แต่งงาน สุดท้าย G: Go Beyond A Million” แต่ละกลุ่มสำนักงานของ ททท. ในพื้นที่ตลาดระยะไกล จะต้องช่วยกันดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยให้ได้เกิน 1 ล้านคนต่อกลุ่มสำนักงาน