กำลังซื้อครึ่งปีหลังแผ่วรอรัฐบาลใหม่ฟื้นเชื่อมั่นเร่งบูสต์เศรษฐกิจ

กำลังซื้อครึ่งปีหลังแผ่วรอรัฐบาลใหม่ฟื้นเชื่อมั่นเร่งบูสต์เศรษฐกิจ

ภาคธุรกิจเรียลเซ็กเตอร์ประเมินปัจจัยลบรอบด้าน กระทบกำลังซื้อครึ่งปีหลัง "ทรงตัว" รอรัฐบาลใหม่เดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่น อัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • กำลังซื้อผู้บริโภคฐานรากอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพพุ่งกดดันการใช้จ่ายเน้นสินค้าจำเป็น
  • ไม่มีมาตรการใหม่จากภาครัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย
  • ตลาดรถยนต์ชะลอซื้อรอความชัดเจนนโยบายเศรษฐกิจ 
  • การเมืองไทย-เศรษฐกิจโลก’ผันผวน' ตัวแปรเครื่องยนต์ท่องเที่ยว 

สถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในห้วงสุญญากาศจัดตั้ง 'รัฐบาลใหม่' ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวไม่เต็ม 100% เครื่องยนต์ใหญ่ภาคการส่งออก 'ติดลบ'  ต่อเนื่อง 9 เดือน หนี้ครัวเรือนสูงในกรอบ 90-92% ต่อจีดีพี การจับจ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่งสัญญาณกำลังซื้อและเศรษฐกิจครึ่งปีหลังนี้ยังคงเปราะบาง

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังซื้อผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ สะท้อนจากภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกที่ผ่านมาไม่สดใสเท่าที่ควร ขณะที่แนวโน้มค้าปลีกไตรมาส 3  คาดยัง “ทรงตัว” จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่ที่อาจส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่

หากย้อนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index-RSI) ไตรมาสสองที่ผ่านมาเทียบไตรมาสแรกมีความ “น่ากังวล” เนื่องจากปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ทั้งดัชนียอดขายสาขาเดิม ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง และ ความถี่ในการจับจ่าย 

"สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคฐานรากยังอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร กดดันให้ผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งยังไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย"

การลดลงของดัชนีตามภูมิภาคต่างๆ บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกราว 12.4 ล้านคนก็ตาม 

อย่างไรก็ดี สมาคมฯ มอง 3 แนวทางหลักที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ เริ่มจาก 

1.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วและราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า 

2.จัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นเจาะแต่ละกลุ่มเป้าหมายและไม่ซับซ้อน โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มฐานรากและเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งลดขั้นตอนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก

3.ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติและคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย เช่น การขยายเวลาVisa on Arrival ให้ต่างชาติพำนักในไทยได้นานขึ้น, การเพิ่มความถี่เที่ยวบินมาประเทศไทย รวมถึงมุ่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น

“ขอส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ชุดใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาบริหารประเทศ ได้ออกนโนบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะมาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคให้กลับมาคึกคัก”

กำลังซื้อครึ่งปีหลังแผ่วรอรัฐบาลใหม่ฟื้นเชื่อมั่นเร่งบูสต์เศรษฐกิจ

'ชะลอซื้อ' รอความชัดเจนนโยบายเศรษฐกิจ

โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว โดยมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่มีผลต่อตลาด 

ปัจจัยบวกคือ  แรงหนุนด้านอุปสงค์ของสภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการใช้รถยนต์มากขึ้น 

นอกจากนี้การที่บริษัทรถยนต์เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และการจัดแคมเปญการะตุ้นการขาย เป็นแรงจูงใจผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง 

ขณะที่ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ เช่น จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะสินเชื่อตึงตัว และความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงของการเลือกตั้ง มีผลทำให้ผู้บริโภคทั้งกลุ่มองค์กร และลูกค้าส่วนบุคคล ชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป เพราะต้องการเห็นความชัดเจน ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ตลาดรถยนต์หดตัว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 

ลดคาดการณ์ตลาดรวม 4.5 หมื่นคัน 

ส่วนแนวโน้มตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง  เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยได้แรงหนุนจาก การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ทำให้ภาคเอกชนและภาคบริการมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว แการสนับสนุนการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในโครงการต่าง ๆ รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และแคมเปญส่งเสริมการขายจากค่ายรถต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

"ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ เชื่อว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้น่าจะยังคงฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 8.55 แสนคัน เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา"

ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวของโตโยต้า เป็นการปรับลดลง 4.5 หมื่นคัน จากช่วงต้นปีที่คาดการณ์ 9 แสนคัน แม้จะมองว่าทิศทางครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การที่ช่วงครึ่งปีแรกติดลบ 5% เป็นตัวฉุดให้ตลาดรวมทั้งปีอยู่ในภาวะทรงตัว ยอดขายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 

สำหรับยอดขายรถยนต์โดยรวมในช่วงครึ่งปีแรก 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.06 แสนคัน ลดลง 5% โดยรถปิกอัพเป็นตลาดที่หดตัวแรง 24.5% อยู่ที่ 1.49 แสนคัน ขณะที่รถยนต์นั่งเป็นตัวช่วยพยุงตลาดรวม ด้วยยอดขาย 1.48 แสนคัน เพิ่มขึ้น 9%

นักท่องเที่ยวไต่ระดับฟื้นหนุนค้าปลีกโต

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในครึ่งปีหลังส่งผลดีกับธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะศูนย์การค้าเซ็นทรัลในเมืองท่องเที่ยวหลัก และครึ่งปีหลังมีเทศกาลสำคัญมากมายในการกระตุ้นการจับจ่าย เป็นไฮซีซันของการทำตลาดในไตรมาส 4 ที่จะมีแคมเปญใหญ่ต่างๆ กระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความท้าทายหลายประการ โดยบริษัทเตรียมอัดฉีดงบทางการตลาดอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่สร้างรายได้มากสุดของธุรกิจรีเทล

“แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิ.ย. ได้ปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังไม่เห็นตัวเลขการจับจ่ายสินค้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ก็ไม่น่ามีผลกระทบกับธุรกิจรีเทลกลุ่มบนมากนัก”

สำหรับแผนธุรกิจของกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังคงดำเนินธุรกิจไปตามแผนงานและกลยุทธ์ที่ได้วางเอาไว้ แต่ยังจับตาดูสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และบริษัทได้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าวไว้ล่วงหน้า

โดยการขยายธุรกิจในครึ่งปีหลัง เดินหน้าแผนตามที่วางไว้ ทั้งรีโนเวทของ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางแค โดยในเดือนส.ค.นี้ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ จะเปิดให้บริการเฟสแรก พร้อมเปิดบริการอย่างสมบูรณ์แบบในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ตามด้วย เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางแค จะทยอยเปิดในไตรมาสที่ 4 และครบทุกเฟสภายในเดือน มี.ค.ปี 2567

สำหรับเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ทั้ง 2 สาขานี้ ใช้งบลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ได้ปักหมุดเป็นแฟลกชิปสโตร์ของเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ที่สมบูรณ์แบบและยิ่งใหญ่ที่สุด ในทำเลทองของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมีความเชื่อมั่นว่ารีเทลใหม่ 2 ย่าน 2 มุมเมืองนี้ จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท และเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนขยายการเติบโตและความเจริญของกรุงเทพฯ พร้อมดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง

ทั้งนี้ประเมินทิศทางหลังรีโนเวทเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และบางแค และเปิดให้บริการในเฟสแรกภายในเดือนส.ค.นี้ คาดว่ายอดขายจะกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19

‘การเมืองไทย-เศรษฐกิจโลก’ ผันผวน ตัวแปรเครื่องยนต์ท่องเที่ยว 

ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า แม้การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น แต่ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัวและเผชิญความท้าทายหลายปัจจัยโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และอาจเป็นตัวแปรในการปรับขึ้นราคาห้องพัก รวมถึงการการจ้างงานที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น การใช้วิธีเหมาจ่ายตามปริมาณงาน หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น

“ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โรงแรมขนาดใหญ่อาจมีการปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นการเข้าพัก แต่โรงแรมขนาดเล็กไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ถ้าเป็นแบบนี้อาจส่งผลให้เกิดสงครามราคาที่ผู้ประกอบการแย่งลูกค้ากันเอง”

โชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และอุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งหลังปี 2566 ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวช้า แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศเปิดประเทศแล้วเมื่อเดือน ม.ค. 2566 แต่ยังขวางไม่ให้ชาวจีนออกนอกประเทศ หลังหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของชาวจีนหมดอายุในช่วงการระบาดของโควิดด้วยการจำกัดจำนวนการยื่นขอพาสปอร์ตและกำหนดขั้นตอนมากขึ้น ขณะเดียวกันขั้นตอนการขอวีซ่าของชาวจีนที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวไทยยังมีข้อจำกัด ไม่ได้รับความสะดวกในขั้นตอนการยื่นขอวีซ่า นอกจากนี้ปัจจัยเที่ยวบินระหว่างประเทศเส้นทาง ไทย-จีน ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ด้วย

“อยากให้ภาครัฐพิจารณาฟรีวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) แก่นักท่องเที่ยวตลาดเป้าหมาย เช่น จีน และอินเดีย ฟรีทั้งค่าใช้จ่ายและขั้นตอน เบื้องต้นเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาไทยเร็วขึ้น มาเสริมตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นช่วงครึ่งปีหลัง เช่น รัสเซีย ที่มีทั้งกลุ่มหนีหนาวและหนีภัยสงคราม มาพำนักยาวในไทย รวมถึงสหรัฐ คาซัคสถาน อิสราเอล และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่เดินทางเข้ามาจำนวนมากหลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

รายงานข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2566 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยจำนวน 1,440,487 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากตลาดนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่ตลอดปี 2566 ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนไว้ที่ 5 ล้านคน ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งทำการตลาดดึงนักท่องเที่ยวจีนมาไทยให้ได้ถึง 3.5 ล้านคนในครึ่งปีหลัง ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

ส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียมีจำนวน 745,260 คน มากเป็นอันดับ 5 คาดแนวโน้มทั้งปีได้ 1.5-1.6 ล้านคน ฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย 2 ล้านคนที่ตั้งไว้ เนื่องจากในช่วงต้นปี ทางการอินเดียออกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 บังคับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางจากไทยเข้าอินเดีย ต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 13 ก.พ. 2566 ทำให้เสียโอกาสการดึงนักท่องเที่ยวอินเดียช่วงไฮซีซันต้นปี

โชติช่วง กล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยที่มีผลต่อภาคท่องเที่ยวและต้องจับตาอย่างยิ่ง คือสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในไทย แม้คนไทยกำลังสนใจติดตามข่าวสารการเมืองอย่างมากในช่วงนี้ แต่ก็มีบางส่วนไม่ลงถนน จึงมองว่าไม่กระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวไทยทั้งกลุ่มเที่ยวในและต่างประเทศ แต่ที่มีปัญหาคือตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะม็อบจะกระทบต่อการทำประกัน ไม่คุ้มครองเมื่อเดินทางมาไทย อย่างนักเดินทางตลาดองค์กร เช่น บริษัทยา ถ้ารู้ว่ามีม็อบ ก็ตัดสินใจไม่เดินทางมาไทยแล้ว เพราะมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

“ตอนนี้ม็อบเริ่มต้นด้วยความไม่รุนแรง และถือเป็นสิทธิของประชาชนในการชุมนุมทางการเมือง แต่ในอนาคตม็อบอาจมีการยกระดับความเข้มข้น แต่ถ้ามีการปราบปราม ตามจับ และใช้ความรุนแรงกับม็อบมากกว่าใช้ความเข้าใจ ตรงนี้เกิดผลกระทบ”

เพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนกิจกรรมการตลาดด้านการท่องเที่ยวบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลต่อสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่ค่อนข้างชัดเจนโดยคาดว่าการเดินทางโดยอากาศยานของภูมิภาคเอเชียจะกลับมาขยายตัวได้70-80 %เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการบินของไทยยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินแข็งแกร่ง เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศผ่านการเดินทางและขนส่งสินค้าทางอากาศ2.ลดผลกระทบต้นทุน โดยภาครัฐควรกำหนดอัตราที่เหมาะสมของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะมีผลต่อการตั้งราคาบัตรโดยสาร รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และ3.แก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านบุคลากรการบินที่ได้รับผลกระทบจากการลดขนาดองค์กรช่วงโควิด-19ทำให้อุตสาหกรรมการบินไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มความสามารถ เมื่อเทียบกับอุปสงค์ของการท่องเที่ยว

ธุรกิจอาหารขยับรับอานิสงส์นักท่องเที่ยวฟื้น

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารรับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวทำให้มีการเติบโตต่อเนื่อง 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี (CRG) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 ระบาด โดยแรงส่งสำคัญเกิดจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น นักเดินทางเข้ามาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ช่วงครึ่งหลังยังต้องใช้กลยุทธ์การตลาด โปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย 

“ท้าทายสูงไม่น้อย เพราะการอัดความคุ้มค่าด้านราคา สวนทางกับภาวะต้นทุนของธุรกิจอาหารที่ขึ้นรอบด้าน ทั้งวัตถุดิบ ค่าไฟ ค่าแรงงาน”

อย่างไรก็ดี ในครึ่งปีหลังบริษัทยังเดินหน้าลงทุนขยายร้านอาหารที่มีศักยภาพ เช่น ส้มตำนัว นักล่าหมูกระทะ ชินคันเซ็น ซูชิ พร้อมมองโอกาสซื้อกิจการร้านอาหารใหม่ๆ มาเสริมทัพ อย่างร้านชาบูและร้านปิ้งย่าง ตอบโจทย์กลุ่มครอบครัว

“ครึ่งปีหลังเรายังมองภาพธุรกิจร้านอาหารเป็นบวก จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ส่วนปัจจัยเปราะบางอื่นๆ เช่น การเมือง ไม่มีผลต่อแผนการขยายธุรกิจร้านอาหารของบริษัทมากนัก"

พฤทธิพงศ์ ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มูลค่าหลักแสนล้านบาท กลับมาเติบโตอย่างคึกคักอีกครั้งเป็นอัตรา 2 หลัก ราว 11% และถือเป็นการเติบโตเกือบทุกหมวดหมู่หรือแคทิกอรีด้วย มีเพียง 1-2 หมวดเท่านั้นที่ลดความร้อนแรงลง

ทั้งนี้ ชาเขียวพร้อมดื่ม 5 เดือนแรก เติบโต 19.6% เป็นแชมป์ของหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ด้วย(เชิงมูลค่า) ส่วน 6 เดือนแรกเติบโต 19% เหตุที่ตลาดโตพุ่ง เพราะเป็นสินค้าที่มีจุดเด่นด้านการให้ความสดชื่น กำลงซื้อผู้บริโภคโดยรวมฟื้นตัวกลับมา และเครื่องดื่มหมวดอื่นมีการปรับราคาสินค้าขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนการบริโภค

ครึ่งปีหลัง ยังมองการขยายตัวในทิศทางที่ดี แม้จะเป็นโลว์ซีซั่นของตลาดเครื่องดื่ม ซึ่งบริษัทเดินหน้าทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดึงนักกีฬาอย่าง 'โคตะ มิอุระ' เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของชาชิซึโอกะ เนื่องจากสอดคล้องกับดีเอ็นเอของแบรนด์