เปิดภารกิจ 'ฐาปนีย์' นำทัพท่องเที่ยวไทย ปั๊มรายได้ 'ต่างชาติ' ผงาด TOP 5 โลก!

เปิดภารกิจ 'ฐาปนีย์' นำทัพท่องเที่ยวไทย  ปั๊มรายได้ 'ต่างชาติ' ผงาด TOP 5 โลก!

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวบนเวทีแถลง “ทิศทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวประจำปี 2567” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 17 ก.ค. ว่า ครั้งนี้น่าจะเป็น “ครั้งสุดท้าย” บนเวทีแถลงทิศทางฯ ในฐานะผู้ว่าการ ททท.

หลัง ยุทธศักดิ์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 นั่งเก้าอี้นี้ครบวาระบริหาร 2 สมัย เป็นเวลา 8 ปี ถึงคราวต้อง “ส่งไม้ต่อ” แก่ผู้ว่าการ ททท. คนใหม่ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่ง เริ่มวันที่ 1 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป

ฐาปนีย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ และว่าที่ผู้ว่าการ ททท. คนใหม่ กล่าวบนเวทีฯ ว่า ททท.จะผลักดัน “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ของประเทศไทยในปี 2567 ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า “หมุดหมายสำคัญ” คือการนำประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด! โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.92 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน ด้านตลาดในประเทศ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง ด้วยกลยุทธ์กระตุ้นการเดินทางข้ามภูมิภาค ทำให้ตลอดปี 2567 ประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

จากบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว! ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศแบบสุดขั้ว อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ความเสี่ยง” ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเผชิญ เพราะฉะนั้นในปี 2567 เป็นอีกปีที่ ททท.ต้องได้รับ “ความร่วมมือ” (Collaboration) จากทุกฝ่าย เพื่อผลักดันรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย

การดำเนินงานของ ททท.ในปี 2567 จะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า เพื่อส่งมอบไปยังกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพ ด้วยกลยุทธ์ PASS” ประกอบด้วย 1. Partnership 360 ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบ 360 องศา 2. Accelerate Access to Digital World เหยียบคันเร่งการพัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล 3. Sub-Culture Movement การลงลึกถึงระดับความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย และ 4. Sustainably NOW มุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที

พร้อมดำเนินกลยุทธ์ The LINK : Local to Global” เชื่อมการทำงานแบบบูรณาการของสำนักงาน ททท.ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ด้วยแนวคิด Local Experience, Innovation, Networking และ Keep Character

เปิดภารกิจ \'ฐาปนีย์\' นำทัพท่องเที่ยวไทย  ปั๊มรายได้ \'ต่างชาติ\' ผงาด TOP 5 โลก! เปิดภารกิจ \'ฐาปนีย์\' นำทัพท่องเที่ยวไทย  ปั๊มรายได้ \'ต่างชาติ\' ผงาด TOP 5 โลก!

สำหรับทิศทางการส่งเสริม “ตลาดต่างประเทศ” ในปี 2567 ททท.จะมุ่งสร้างรายได้จาก 10 ตลาดหลัก แบ่งเป็นตลาดระยะใกล้ 7 ตลาด ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วนตลาดระยะไกลอีก 3 ตลาด คือ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ

ด้วย “5 ทิศทางหลัก” ประกอบด้วย ทิศทางที่ 1 ส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ประเทศไทยด้าน “ความยั่งยืน” ในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ททท.จะมุ่งส่งเสริมการเดินทางที่ไม่สร้างภาระให้ชุมชน เป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยสาระจากการให้ (Travel with Care) การกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและไม่กระจุกตัว (Fair Income) และการเสนอขายอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าบนทุนวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ (Encourage Identity & Biodiversity) โดย ททท.มีแนวคิดปรับ “จุดขายใหม่” อย่างจริงจัง ด้วยการปรับ “ภาพจำใหม่” ทั้งองคาพยพให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ทิศทางที่ 2 รุกเปิดตลาดใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพมาไทยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตลาดระยะไกลในภูมิภาคยุโรป เช่น สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ โรมาเนีย และบัลแกเรีย หลังตั้งสำนักงานในกรุงปรากเมื่อปี 2559 โดยจะมุ่งเจาะกลุ่มคู่รักและครอบครัวที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย ด้วยการดึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เช่น เที่ยวบินจากโปแลนด์เข้าสู่พื้นที่นำร่องในภูเก็ตและกระบี่ ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง เน้นตลาดซาอุดีอาระเบีย หลังการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ซาอุฯ รอบ 32 ปี โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ เดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 1.5 แสนคน และปี 2567 ตั้งเป้าดึง 2-2.5 แสนคน  

ขณะเดียวกัน Sub-Culture Movement” เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญและทรงพลังอย่างมาก เช่น กลุ่มทายาทเศรษฐีในญี่ปุ่น (OYA-Rich) กลุ่มแสวงหาคู่รักและคู่แต่งงานในจีน กลุ่มนักธุรกิจหน้าใหม่ ซึ่งสอดรับกับการเดินทางของกลุ่มสายศรัทธา (Faith) เช่นในสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงกลุ่มจัดงานแต่งงานในอินเดีย (Indian Wedding) กลุ่มรักสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) เช่นในอาเซียน รัสเซีย และจีนตอนล่าง อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ ดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) และกลุ่มเวิร์กเคชัน (Workation) ในอาเซียนและทั่วโลก

“เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวไทยเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ต้องมุ่งตอบสนองทุกกลุ่มวัฒนธรรมย่อย เพราะเป็นกลุ่มที่จะช่วยตอบโจทย์การเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่องและตลอดทั้งปี (All Year Round)”

เนื่องจากในตอนนี้ ไม่มีแล้วคำว่า “ช่วงไฮซีซัน” หรือ “ช่วงโลว์ซีซัน” มีแต่คำว่า “ช่วงชิงตลาด” ทำให้ ททท.ต้องมุ่งเน้นนำเสนอสินค้าบริการคุณภาพของประเทศไทย สู่การดำเนินงานทิศทางที่ 3 การแสวงหาความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหม่ และขยายความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหญ่ เช่น ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบหรูหรา เป็นต้น ขณะเดียวกันแบรนด์ Amazing Thailand” ถือเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก โดย ททท.จะทำ Co-Brand ร่วมกับแบรนด์ระดับโลกในพื้นที่ต่างๆ เช่น แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำในละตินอเมริกา

เปิดภารกิจ \'ฐาปนีย์\' นำทัพท่องเที่ยวไทย  ปั๊มรายได้ \'ต่างชาติ\' ผงาด TOP 5 โลก!

ทิศทางที่ 4 การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางบก เพื่อเพิ่มช่องทางการมาเที่ยวประเทศไทย เป็นหนึ่งในแทกติกการบริหารความเสี่ยงช่วงธุรกิจการบินฟื้นตัวล่าช้าจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยการดึงกระแสเดินทางข้ามแดน เช่น นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มคาราวานรถยนต์ และกลุ่มเดินทางด้วยรถไฟจีน-ลาว รวมถึงนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ไม่ให้หยุดแค่การเดินทางสู่ จ.สงขลา หรือ จ.สุราษฎร์ธานี เท่านั้น แต่ลงลึกเข้าสู่จังหวัดอื่นๆ ในทุกภูมิภาคมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมา ททท.ได้ระดมสรรพกำลังผนึกความร่วมมือจากพันธมิตรแล้วก็ตาม แต่จากปัจจัยภายนอกเชิงธุรกิจของสายการบินในต่างประเทศ ทำให้ภาพรวมปี 2566 มีจำนวนที่นั่งโดยสารฟื้นตัว 60-70% ของปี 2562 โดยในปี 2567 หวังว่าจากการผลักดันของทุกภาคส่วน จะสามารถ “เปิดคอขวด” การเดินทางทางอากาศให้กลับไปเท่าปี 2562 ได้สำเร็จ!

และทิศทางที่ 5 การใช้พลังของสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอดิจิทัลคอนเทนต์ที่โดนใจ พร้อมให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลเพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ตรงกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวมากที่สุด ยกตัวอย่าง ในตลาดเกาหลีใต้ ททท.ได้พัฒนาเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ (Virtual Influencer) ชื่อน้องโรซี่ นำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวแก่กลุ่ม Gen Y, Gen Z และ Gen Alpha มาเที่ยวประเทศไทย

“ในปี 2567 ททท.จะส่งเสริมตลาดต่างประเทศภายใต้แคมเปญ Meaningful Relationship หรือการสร้างสายสัมพันธ์ที่มีความหมาย สื่อสารให้เห็นมุมมองของการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมายตลอดช่วงเวลาการพำนักในประเทศไทย โดย ททท.หวังผลระยะยาวที่จะสร้างสัมพันธ์แนบแน่นกับนักท่องเที่ยวให้กลับมาเยือนประเทศไทยซ้ำ ต่อยอดการขยายวันพักเฉลี่ยและการใช้จ่าย บอกต่อประสบการณ์แก่คนรอบตัวให้มาเที่ยวประเทศไทยต่อไป”

เปิดภารกิจ \'ฐาปนีย์\' นำทัพท่องเที่ยวไทย  ปั๊มรายได้ \'ต่างชาติ\' ผงาด TOP 5 โลก!