'ทราเวลโลก้า' ชี้ธุรกิจ OTA ถึงเวลาเป็นผู้นำ ผลักดันท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

'ทราเวลโลก้า' ชี้ธุรกิจ OTA ถึงเวลาเป็นผู้นำ ผลักดันท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

‘ความยั่งยืน’ เป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจจำนวนมากในยุค ‘การท่องเที่ยว’ ฟื้นตัว แต่การที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงนั้นต้องใช้ความตั้งใจ ในฐานะการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อย ‘ก๊าซคาร์บอน’ โดยคิดเป็นจำนวนกว่า 8-11% ของโลก

การท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องเป็นผู้นำและมีความมุ่งมั่นในการทำให้ธรรมชาติปราศจากมลพิษสำหรับคนรุ่นหลัง

ซีซาร์ อินทรา ประธาน ทราเวลโลก้า กรุ๊ป กล่าวว่า การส่งเสริม “การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ” ควรเป็นประเด็นหลักที่เชื่อมโยงกับเรื่อง “ความยั่งยืน” ซึ่งต้องใช้ความพยายามที่มาจากความตั้งใจเพื่อลดผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น ถึงแม้ความรับผิดชอบส่วนใหญ่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยว แต่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมเองล้วนก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน

“ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว” หรือ Online Travel Agent (OTA) สามารถเป็นผู้นำร่องในการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สมบูรณ์พร้อมไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติและขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เองที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลายล้านคนจองการเดินทางบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในทุกๆ วัน และให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวมีพื้นที่ในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวต่างๆ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวและสร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนได้ ด้วยการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ทุกฝ่ายสามารถร่วมกันผลักดันให้การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่น่าสนใจและได้รับความสำคัญ

 

แนวคิดเชิงบวกที่มีร่วมกัน

ปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นในการเสริมศักยภาพของการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่คือความร่วมมือ ทุกวันนี้ สมาคมหรือองค์กรด้านการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย กำลังเรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการท่องเที่ยวในปี 2566 โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวสามารถร่วมมือกับหน่วยงานการท่องเที่ยวในประเทศหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อช่วยเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้

ยกตัวอย่างความร่วมมือของ “ทราเวลโลก้า” (Traveloka) กับ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) หรือ GSTC ที่รวมการสนับสนุนโปรแกรมฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับโรงแรมที่เป็นพันธมิตร จากความร่วมมือดังกล่าวนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับที่พักในวิถียั่งยืนได้สะดวกมากขึ้น โดยหลังจากสิ้นสุดการฝึกอบรมนี้แล้วที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย Traveloka และ GSTC มีแผนที่จะเปิดตัวโปรแกรมนี้ในประเทศไทยภายในปีนี้

ผู้บริโภคเองก็ต้องการที่จะร่วมแสดงความรับผิดชอบและต้องการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกที่เพียงพอ โดยตัวเลขชี้ให้เห็นชัดเจนว่ากว่า 80% ของนักท่องเที่ยวที่ได้รับการสำรวจในอินโดนีเซีย มีแนวโน้มที่จะเลือกที่พักที่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน สำหรับประเทศไทยพบว่ามีโรงแรมกว่า 500 แห่งได้ลงนามในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และจะส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับรู้ถึงข้อเรียกร้องเหล่านี้ และประกาศว่าแนวทางปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็นแกนหลักของการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวสามารถร่วมสนับสนุนแนวทางดังกล่าวนี้ได้ ด้วยการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศต่าง ๆ ที่พวกเขาให้บริการอยู่

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวควรให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นพร้อมทั้งสร้างให้เป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมและทั่วถึงเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น

 

รวมพลังชุมชนท้องถิ่น

เป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทยได้รับความร่วมมือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง การท่องเที่ยวบนเกาะหมาก มีการใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการขยะและรักษาคุณภาพชีวิตที่ดี

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวสามารถเจาะตลาดด้วยการเชื่อมโยงกับสถานที่ที่กำลังเป็นที่นิยม และปักหมุดให้เป็นสถานที่แนะนำได้ ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงตึกระฟ้าหรือร้านกาแฟระดับไฮเอนด์ทั่วไป แต่เรากำลังพูดถึงคลาสงานฝีมือที่จัดโดยช่างฝีมือของไทยที่มาถ่ายทอดทักษะงานฝีมือแบบไทยดั้งเดิม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อย่างการแกะสลักผลไม้ไทย หรือเทคนิคการทอผ้าแบบดั้งเดิม ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่เพียงแค่ได้รับประสบการณ์การทำงานฝีมือจริงที่ไม่เหมือนใครเท่านั้น แต่พวกเขายังได้สนับสนุนการอนุรักษ์งานฝีมือดั้งเดิมอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ ได้รับประโยชน์จากการจ้างงานที่มั่นคงและได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวเองก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปอีกขั้นด้วยการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือแม้แต่อำนวยความสะดวกด้านการขาย และมอบรายได้ทั้งหมดคืนกลับสู่ช่างฝีมือในประเทศ

การให้ความสำคัญกับธุรกิจในประเทศช่วยให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและช่วยให้ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนั้นการส่งเสริมการใช้จ่ายในสินค้าภายในประเทศ จึงเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่นอกเมืองใหญ่

 

การรับมือกับอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคมากมายตลอดเส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งราคาพลังงานที่สูงลิบลิ่วและความไม่แน่นอนระหว่างประเทศที่กำลังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทำให้มีโอกาสน้อยลงที่นักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจมีราคาสูงกว่าปกติ

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์และเกสต์เฮ้าส์ที่ต่างต้องใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาที่ใช้งานได้ เสาโทรคมนาคมก็มีความจำเป็นสำหรับกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น ความมุ่งมั่นที่ยั่งยืนจากอุตสาหกรรมของเรา คือการจุดประกายในสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กลายเป็นศูนย์กลางของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อมเพื่อคว้าโอกาส และยอมรับบทบาทในฐานะผู้นำในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนในภูมิภาค การสนับสนุนเป็นดั่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมุ่งสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน ที่การเดินทางเป็นพลังขับเคลื่อนและรับประกันความยั่งยืนในระยะยาวของธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติอันงดงามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”