แผนผ่องถ่าย ‘เครือสหพัฒน์’ สู่ทายาท ‘โชควัฒนา’ เคลื่อนอาณาจักร 3 แสนล้านบาท

แผนผ่องถ่าย ‘เครือสหพัฒน์’ สู่ทายาท ‘โชควัฒนา’  เคลื่อนอาณาจักร 3 แสนล้านบาท

ในวันที่บรรดาแม่ทัพธุรกิจองค์กรใหญ่ ตระกูลชั้นนำของเมืองไทยผู้มั่งคั่งสร้างกิจการจาก “เล็ก” จนขยายอาณาจักรสู่การทำเงินหลักหมื่นถึงแสนล้านบาท เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป เริ่มเห็นการ “ผลัดใบ” เปลี่ยนเจนเนอเรชั่น เพื่อให้ “ทายาท” มารับไม้ต่อ

เครือสหพัฒน์ มีภาพจำเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค(Fast Moving Consumer Goods : FMCG) เบอร์ 1 ของเมืองไทย สร้างการเติบโตจากรุ่น 1 ถึงรุ่น 3 รวมระยะเวลาองค์กรเก่าแก่ 81 ปีแล้ว

รุ่นแรก ผู้ก่อตั้งรู้จักกันอย่างดีคือ “ดร.เทียม โชควัฒนา” ที่เปิดกิจการร้าน “เฮียบเซ่งเซียง” ร้านเล็กๆที่ขายสินค้าเบ็ดเตล็ด จนไปสู่สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ย่างก้าวการเติบโตเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากพ่อสู่ลูก ซึ่งปัจจุบันมี “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ และมีทายาท “โชควัฒนา” และสกุลอื่นๆในเจนเนอเรชั่นที่ 3 ร่วมกันทำงาน

เป็นประจำทุกปีในงานแถลงข่าวการจัดงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ที่ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” จะเข้ามาร่วมงาน เพื่อรับฟังทายาททำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว ไฮไลต์ สินค้าเด็ดดังที่จะเกิดขึ้นแต่ละปีให้ผู้บริโภครับทราบ

“กรุงเทพธุรกิจ” ไม่เพียงมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” หลายครั้ง และการแถลงงานสหกรุ๊ปแฟร์ ยังคงหมั่นไถ่ถามถึงแผนการเกษียณ และส่งไม้ต่อให้กับลูกหลานสานต่อกิจการแสนล้านบาท

แผนผ่องถ่าย ‘เครือสหพัฒน์’ สู่ทายาท ‘โชควัฒนา’  เคลื่อนอาณาจักร 3 แสนล้านบาท

ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้สร้างอาณาจักรสหพัฒน์

ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหญ่ และ “คนรุ่นใหม่” คือว่าที่นายกรัฐมนตรีอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ เมื่อมองกลับมาเครือสหพัฒน์ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” มีทายาทรุ่นใหม่มาเรียนรู้ ทำงานหลายปีแล้ว โดยมีเจนฯ 2 เปรียบเสมือน “กุนซือ” ไม่ว่าจะเป็น "บุญชัย-บุญเกียรติ โชควัฒนา" หรือรวม 3 ทหารเสือที่เคียงบ่าเคียงไหล่เจ้าสัว ยังมี “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” แห่งมาม่า และ “อภิชาติ ธรรมมโนมัย” แห่งฟาร์มเฮ้าส์ เป็นต้น

การบ้านหรือนโยบายที่เจ้าสัวฝากฝังถึงทายาท การทำงานต้อง “ลงลึก” มีการนำข้อมูล(Big Data)มาใช้ให้มาก และรู้จักการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์ตลาด ผู้บริโภคอยู่เสมอ

“คนรุ่นใหม่เก่งกว่ารุ่นเก่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะทำอะไรต้องลงลึก จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ใช่ดูเผินๆ”

ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่มีจุดเด่นหลายประการ เช่น ไอเดีย การคิด ลงมือทำงานรวดเร็ว ส่วนคนแก่ มีอายุมากขึ้น จะมีความรอบคอบ แม้จะทำงานช้า

“นี่คือข้อแตกต่างของคนรุ่นใหม่ คิด ตัดสินใจเร็ว เป็นจุดเด่น”

เนื่องจากตระกูล “โชควัฒนา” มีธุรกิจในเครือมากมาย แค่บริษัทมากกว่า 200 แล้ว จึงทำให้มี “ผู้นำ” หลายคนทำงานคู่ขนาน หากถามว่าผู้สืบทอดธุรกิจหรือ Successor คนไหนที่หมายตาไว้และมีคุณสมบัติตรงใจ เจ้าสัวบอกว่า ต้องเป็นคนที่แก้ไขปัญหาธุรกิจให้ได้

กรุงเทพธุรกิจ ถามเจ้าสัวเสมอว่า ถึงเส้นทางการทำงาน ยังคงได้รับคำตอบคุ้นหูว่า “ชั้นเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปี อยู่กับคุณพ่อ 30 ปี หลังจากสิ้นคุณพ่อ บริหารธุรกิจต่ออีก 30 กว่าปี ทั้งหมดกินเวลาเกือบ 70 ปี” ซึ่งปัจจุบันเจ้าสัวอายุ 86 ปีแล้ว

แม้แผนเกษียณของเจ้าสัว จะเคยกล่าวไว้คือวัย 88 ปี เมื่อถามย้ำอีกครั้ง บรรดาผู้บริหารในเครือชิงตอบเรียกรอยยิ้มว่า “ถามพวกเราก่อนอนุมัติไหม” ส่วนคำตอบของเจ้าสัว “เรามีการปรับให้คนรุ่นใหม่ทำงานหมดแล้ว คนรุ่นเก่าจะไม่อยู่ในธุรกิจ อย่างตัวชั้น..ก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ ให้ลูกๆหลานๆเป็นคนทำต่อไป

  • 81 ปี สร้างอาณาจักร 3 แสนล้านบาท

เครือสหพัฒน์ก่อตั้งปี 2485 จากร้านค้าเล็ก กิจการครอบครัว เปลี่ยนผ่านสู่การเป็น “มหาชน” ปัจจุบันอายุย่าง 81 ปี สร้างรายได้รวมทั้งกลุ่มเกินกว่า 3 แสนล้านบาท

แผนผ่องถ่าย ‘เครือสหพัฒน์’ สู่ทายาท ‘โชควัฒนา’  เคลื่อนอาณาจักร 3 แสนล้านบาท

ตัวอย่างสินค้าในพอร์ตโฟลิ ทั้งของเครือและรับจัดจำหน่าย

ทว่า กว่าจะยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่มุมานะทำงาน แต่เจ้าสัว มีคัมภีร์เคลื่อนอาณาจักรจากรุ่นสู่รุ่นคือการ “แตกแล้วโต โตแล้วแตก” เป็นการรวมกันแล้วใหญ่ ใหญ่แล้วรวมกัน นำธุรกิจหลายๆตัวเข้ามาอยู่ในกลุ่ม เพื่อร่วมมือกันทำงานและเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์กลไกผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตด้วย

เครือสหพัฒน์ เคยมีบริษัทมากถึง 500 แต่ปัจจุบันเหลือราว 200 นอกจากตัวแปรบริบทธุรกิจเปลี่ยน แต่การแตกแล้วโต โตแล้วแตก คือการรวมกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย

ศาสตร์ “เร็ว ช้า หนัก เบา” เจ้าสัวชี้แนะทายาทให้รู้จังหวะการลงทุน ทำมาค้าขาย หรืออะไรคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำ

“ต้องรู้จักแยกแยะให้รู้เรื่อง เพื่อจะพัฒนาธุรกิจต่อไป”

อย่างปี 2566 “เงินเฟ้อ” ยังสูง เป็นตัวแปรให้บริษัทตัดสินใจลงทุนใหญ่เป็นประวัติการณ์ กรุงเทพธุรกิจ สอบถามงบก้อนโตกว่า 5,000 ล้านบาทหรือไม่ เจ้าสัว ตอบว่ารอให้ทุกอย่างเรียบร้อยจะบอก แต่การันตีว่า “เรายังมีโครงการลงทุนอีกหลายตัวที่ใหญ่ๆ ยังเผยไม่ได้ แต่ลงทุนเยอะเป็นประวัติศาสตร์เลย และเป็นธุรกิจใหม่ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ตอนนี้ขอสงวนไว้ ถ้าคุยเรียบร้อยจะเล่าให้ฟัง”

  • 3 ทายาท แม่งานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 27

งานแถลงสหกรุ๊ปแฟร์ จะมี “ทายาทโชควัฒนา” รับบทเป็นประธาน ผู้จัดงานแตกต่างกันแต่ละปี โดย สหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 27 ได้ 3 เลือดใหม่ ได้แก่ ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) พิภพ โชควัฒนา กรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มารับบทบอกรายละเอียดของมหกรรมลดราคาสินค้าช่วยค่าครองชีพประชาชน

แผนผ่องถ่าย ‘เครือสหพัฒน์’ สู่ทายาท ‘โชควัฒนา’  เคลื่อนอาณาจักร 3 แสนล้านบาท พิภพ-ธรรมรัตน์-เวทิต โชควัฒนา

"ธรรมรัตน์" บุตรชายคนโต ของเจ้าสัวบุณยสิทธิ์ บุคลิกพูดน้อยสุขุมลุ่มลึก ส่วน “เวทิต” เป็นบุตรชายคนที่สองของ “บุณย์เอก โชควัฒนา” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชายคนโตของเจ้าสัว ผู้มีชั้นเชิงและศาสตร์การโอภาปราศรัย ส่วน “พิภพ” เป็นบุตรชายของ “บุญปกรณ์ โชควัฒนา” พี่ชายอีกคนของเจ้าสัว ผู้มีบุคลิกประณีประณอม ยิ้มแย้มแจ่มใส

การทำงานของทายาทแต่ละคนสั่งสมประสบการณ์มาหลายปี ต่างเคยผ่านหลาย “วิกฤติ” ที่เป็นบททดสอบฝีไม้ลายมือ

  • สาน “สหพัฒน์” มากกว่าขายของกิน-ใช้

ภาพใหญ่เครือสหพัฒน์ ขายสินค้าจำเป็น แต่สิ่งที่ทายาทสื่อสารให้รู้มากขึ้น คือองค์กรแห่งนี้ เป็นมากกว่านั้น เพราะปัจจุบันธุรกิจบริการ มีบทบาทมากขึ้น ด้วยการผนึกพันธมิตรต่อยอดการเติบโต เช่น

-การรุกธุรกิจพลังงาน โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศไทย นำร่องสวนอุตสาหกรรมของเครือ เป็นพาร์ทเนอร์ กับราช กรุ๊ป ผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ

-ธุรกิจโรงพยาบาล ที่มีทั้งเครือมีโรงพยาบาลนวเวช โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ และยังร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ให้บริการผู้ป่วย

-สินค้าญี่ปุ่น(Japanese Products) ที่ไม่ได้มีแค่ไดโซะ ลอว์สัน โคเมเฮียว ดองกิ ดองกิ มาเสริมแกร่ง แต่ยังมีวาโก้ ไลอ้อน และอีกมากมายให้บริการผู้บริโภคชาวไทย

-กลุ่มธุรกิจการศึกษา ที่มีทั้งโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นวาเซดะ โรงเรียนบุนกะ แฟชั่น ที่มีหลักสูตรมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยบุนกะประเทศญี่ปุ่น มีโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ฯ

-กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มีการร่วมทุนกับญี่ปุ่นกับกลุ่ม SEINO HOLDING ประเทศญี่ปุ่น สู่บริษัท เส-นอร์สห โลจิสติกส์ จำกัด เพื่อให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งบริหารคลังสินค้า ให้เช่าโกดังเก็บของ บริการกระจายสินค้าทั่วไทย เป็นต้น

-กลุ่มธุรกิจ “บริการ” อื่นๆ ฟาร์อีสฯ ที่ทำโฆษณา สื่อสารการตลาด ทีบีซีเอส ที่ป้อนสิ่งทอเทคนิคให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการผลิตหน้ากากอนามัยเวลแคร์ และการเข้าถือหุ้นในทรานสคอสมอส ประเทศไทย(มีญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่) เพื่อลุยธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เป็นต้น

แผนผ่องถ่าย ‘เครือสหพัฒน์’ สู่ทายาท ‘โชควัฒนา’  เคลื่อนอาณาจักร 3 แสนล้านบาท “เครือสหพัฒน์เราไม่ใช่แค่ขายสินค้าเหมือนสมัยก่อน แต่ยังมีธุรกิจพลังาน โรงบาล สินค้าญี่ปุ่นให้บริการ”

การเคลื่อนธุรกิจของทายาท ยังสอดคล้องวิสัยทัศน์ของเจ้าสัว ที่มองว่าหลังโควิดคลี่คลาย ธุรกิจบริการจะมีความสำคัญมากขึ้น

“ทายาทรุ่นใหม่ตอนนี้ทำงาน ชั้นไม่เป็นห่วงเค้าเลย เค้าเก่งกว่าชั้นอีก และจะพัฒนาบริษัทให้เติบโตก้าวหน้าเร็วขึ้น” เจ้าสัวบอกและทิ้งท้าย เหตุการณ์เวลานี้ทั้งหลังวิกฤติโควิด การเมืองไทย ภูมิรัฐศาสตร์โลก ยุคดิจิทัล ผู้บริโภคเปลี่ยน ล้วนเป็นบททดสอบคนรุ่นใหม่ในการทำงานแก้ปัญหาให้ได้ เพื่อขยายอาณาจักรให้เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนสู่ร้อยปี