ระดับการเปลี่ยนแปลง-จะเลือกระดับไหน | พสุ เดชะรินทร์

ระดับการเปลี่ยนแปลง-จะเลือกระดับไหน | พสุ เดชะรินทร์

กล่าวกันว่าหน้าที่ของผู้นำคือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ยิ่งปัจจุบันจะได้ยินถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่มากยิ่งขึ้น

 โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าการเปลี่ยนแปลงขององค์กรช้ากว่า ก็อาจจะนำปัญหามาสู่องค์กรได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หรือขวัญและกำลังใจของบุคลากรที่ลดลง 

เมื่อปัจจัยแวดล้อมภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นในปัจจุบัน (เทคโนโลยี พฤติกรรม ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ฯลฯ) การเปลี่ยนแปลงจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น และการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของผู้นำทุกระดับ

จนมีการกล่าวกันว่าจริงๆ แล้วการบริหารทั้งหมด คือการบริหารการเปลี่ยนแปลง (All management is change management)

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการบริหารการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะมีระดับการเปลี่ยนแปลงที่เท่ากัน ผู้นำที่ดีย่อมจะต้องประเมินถึงความพร้อมขององค์กร ของบุคลากร และความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง และเลือกใช้ระดับในการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งแบ่งระดับการเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้

1.เปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ (Evolution) เป็นระดับที่ช้าที่สุด โดยปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ เช่นตัวอย่างการวิวัฒนาการของสัตว์โลก

2.เปลี่ยนแปลงแบบพัฒนา (Development) เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรเป็นหลักสำหรับเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

3.เปลี่ยนแปลงแบบปรับปรุง (Improvement) เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยแบบ มุ่งเน้นการปรับปรุงหรือต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงาน ระบบหรือวิธีการทำงานต่างๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จุดเล็กๆ ความเสี่ยงไม่สูง ใช้เวลา และเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วม

4.เปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป (Reform) เป็นการเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างกว่ารูปแบบอื่นๆ เน้นเชิงโครงสร้าง ระบบและกระบวนการ จะต้องทบทวนและคิดใหม่ถึงโครงสร้างที่มีอยู่ 

5.เปลี่ยนแปลงแบบ Transformation เป็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานและวิธีการดำเนินงานของทั้งองค์กรในเชิงภาพรวม ที่จะต้องคิดถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งในด้านกลยุทธ์ โครงสร้าง กระบวนการ วัฒนธรรมองค์กรอย่างครบถ้วน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายรูปแบบและวิธีการดำเนินงานแบบเดิม เพื่อนำไปสู่องค์กรในรูปแบบใหม่

การที่องค์กรจะเลือกใช้ระดับการเปลี่ยนแปลงในแบบใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมภายในองค์กรและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง และสามารถนำทั้งห้าระดับมาปรับใช้ร่วมกันได้

สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จ (ไม่ว่าจะในระดับใด) มีหลากหลาย แต่สำคัญที่สุดมีอยู่ 4 ประการ

1.ภาพภายหลังการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งใด

2.ผู้นำที่จะต้องทุ่มเทให้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่ อีกทั้งเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการเปลี่ยนแปลง ตัวผู้นำเองก็จะต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส จริงใจ น่าเชื่อถือ และที่สำคัญสำหรับผู้นำยุคใหม่คือความอ่อนน้อมถ่อมตน

3.การให้บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสื่อสารซึ่งสำคัญมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องเข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น สม่ำเสมอ และน่าเชื่อถือได้ และปัจจัยสำคัญสุดสำหรับการสื่อสารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ดีคือตัวผู้นำเองจะต้องทำตามสิ่งที่สื่อสารไว้ หรือ Walk the talk

4.การเตรียมบุคลากรภายในองค์กรมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่นำการเปลี่ยนแปลงมาโดยบุคลากรยังไม่มีความพร้อม ไม่ได้เตรียมตัว เนื่องจากความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจากแค่ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูง แต่จะต้องมาจากคนหมู่มากที่พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงด้วย

สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น สำคัญคือต้องคิดในเชิงองค์รวมทั้งหมด ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเป็นส่วนๆ รวมทั้งต้องปรับให้เข้ากับบริบทขององค์กร และสำคัญสุดคือเปลี่ยนแปลงแล้วจะต้องนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมขององค์กรเป็นหลัก
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]