ใช้บริการ E-Withholding Tax ดีไหม?

ใช้บริการ E-Withholding Tax ดีไหม?

ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากร ได้ออกนโยบายจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ บริการ E-Withholding Tax หรือ ก็คือบริการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไปยังสรรพกร โดยตรงผ่านระบบ Online Banking ของแต่ละธนาคารนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามกระแสตอบรับในเรื่องนี้อาจจะยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก

โดยหลายๆท่านอาจจะยังสงสัยว่า E-Withholding Tax คืออะไร และ มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราควรจะนำระบ E-Withholding Tax มาใช้กับธุรกิจของเรา วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ E-Withholding Tax ให้ท่านผู้อ่าน ได้เข้าใจเพิ่มเติมมากขึ้นนะครับ

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า E-Withholding Tax นั้นคืออะไร และทำงานอย่างไร โดยปกติแล้ว เมื่อเราต้องทำรายการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการ ไปนั้น เราผู้จ่ายมีหน้าที่จะต้องทำหัก ณ ที่จ่าย เป็นยอด 2%-5% โดยจะต้องหัก จากยอดสินค้าหรือบริการ เสร็จแล้วนำมาสรุปกรอกแบบฟอร์ม เพื่อนำส่งต่อไปในแต่ละเดือน 

แต่หากเป็นการทำ E-Withholding Tax นั้น จะช่วยลดขั้นตอนในการทำเอกสาร และ ขั้นตอนในการนำเงินส่งสรรพากรออกไป โดยผู้จ่าย จะทำการโอนเงินผ่านระบบ Online Banking ของธนาคารที่เข้าร่วม โดยเลือกการโอนแบบสำหรับ E-Withholding Tax โดยเฉพาะ เมื่อโอนแล้ว ระบบธนาคาร จะทำการหัก ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งสรรพากรให้โดยตรง พร้อมทั้งแจ้งทาง ฝั่งผู้รับเงินให้เรียบร้อย โดยที่ทางผู้จ่าย และ ผู้รับไม่ต้องดำเนินการด้านเอกสารใดๆอีก

ถ้าจะพูดถึงข้อดีของระบบ E-Withholding Tax นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องของความสะดวกในการลดขั้นตอนของเอกสารลง ไม่ต้องส่งเอกสารให้สรรพากร และผู้รับเงิน โดยการใช้ระบบ Online Banking ก็คงจะไม่ใช้เรื่องอยากเพราะเดี๋ยวนี้แทบจะใช้ Online Banking กันอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ทางสรรพากร ยังมีส่วนลดให้ จากเดิมที่ต้องนำหัก ณ ที่จ่าย 2%-5% ก็เหลือเพียง 1% ซึ่งโปรโมชั่นนี้จะมีอยู่ถึงสิ้นปี 2568 ตามประกาศใหม่ของทางสรรพากร

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกว่าจะใช้บริการ E-Withholding Tax ดีหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาเทียบจากข้อดีข้อเสีย โดยข้อดีจะเห็นดังที่กล่าวมาแล้วว่า จะช่วยลดขั้นตอนในส่วนของเอกสารลง ลดค่าใช้จ่ายในการส่งเอกสารลง 

แต่ในมุมกลับกัน ก็มีข้อเสียที่ต้องทราบด้วยนั้นก็คือ การโอนจะแต่ละครั้ง จะต้องทำผ่านระบบ Online Banking สำหรับ ธุรกิจ เท่านั้น ไม่ได้ผ่าน app ธนาคารมือถือทั่วๆไปที่เราใช้ ดังนั้น จะต้องทำการเปิดบัญชีธุรกิจกับทางธนาคารเสียก่อน และ บางธนาคารก็จะมีค่าธรรมเนียมในการใช้ Online Banking ของธุรกิจ ด้วย และ การโอนเพื่อทำ E-Withholding Tax นั้นจะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีก 2 รายการนั่นก็คือ ค่าธรรมเนียมในการโอน และ ค่าธรรมเนียม E-Withholding Tax 

โดยค่าธรรมเนียมการโอนนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละธนาคาร โดยจะอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อรายการ ทั้งนี้จะไม่สามารถโอนฟรีค่าธรรมเนียมได้เหมือนการโอนทั่วไป ส่วนค่าธรรมเนียม E-Withholding Tax นั้นจะอยู่ที่ ประมาณ 3 บาทต่อรายการ โดยอาจจะมีโปรโมชั่น แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร

จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการจะต้องชั่งใจว่าระหว่างการใช้ E-Withholding Tax เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารเช่น ค่าส่งเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเอกสาร เทียบกับการไม่ใช้ เพื่อประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนนั้น อย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน

โดยผู้เขียนมองว่า ระบบ E-Withholding Tax ดูจะเหมาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีรายการการโอนจำนวนมากๆ เสียมากกว่า หากเราเป็นผู้ประกอบการที่มีรายการจ่ายชำระต่อเดือนไม่มาก (10 กว่ารายการต่อเดือน) การทำเอกสารดูจะเป็นทางเลือกที่ดีประหยัดกว่าครับ ส่วนในส่วนของส่วนลดนั้น ผู้ที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คงจะเป็นผู้รับเงินเสียมากกว่า เพราะ ถูกหักภาษีน้อยลง ทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น และ ลดความกังวลในการขอภาษีคืนลงครับ

สุดท้ายนี้อยากฝากไปทาง สรรพากรว่าระบบ E-Withholding Tax เป็นระบบที่ดีมาก ช่วยลดงานเอกสารลงได้จริง ตรวจสอบได้ สะดวกรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามหากอยากจะให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมในโครงการนี้มากขึ้น วิธีหนึ่งก็คือ ทำให้ค่าธรรมเนียมถูกลงกว่านี้ครับ เพราะ ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการนั้น นั้นเป็นต้นทุนที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย ไม่สะดวกใจที่จะจ่ายเท่าไรนัก เพราะในปัจจุบันการโอนเงินนั้นแทบจะไม่มีค่าธรรมเนียมกันอยู่แล้วครับ