‘แอร์ อินเดีย’ซื้อแอร์บัส250 ลำ วาดฝันเป็น“ฮับ”การบินโลก

‘แอร์ อินเดีย’ซื้อแอร์บัส250 ลำ วาดฝันเป็น“ฮับ”การบินโลก

สายการบินแอร์ อินเดีย บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส 250 ลำ และเตรียมสั่งซื้อเครื่องบินโบอิงในอนาคตอันใกล้ หวังปรับโฉมสายการบินแห่งชาติให้ดีขึ้นเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการและตั้งเป้าให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก

หลังจากที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทาง ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและเดินทางในหลายประเทศเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะในอินเดีย ที่สายการบินแอร์อินเดีย บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส 250 ลำ และเตรียมสั่งซื้อเครื่องบินโบอิงในอนาคตอันใกล้ หวังปรับโฉมสายการบินแห่งชาติให้ดีขึ้นเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการและตั้งเป้าให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก

แอร์อินเดีย สายการบินแห่งชาติของอินเดีย ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง เพื่อซื้อเครื่องบินแอร์บัส 250 ลำโดยเป็นการซื้อเครื่องบินไอพ่น A320 นีโอ จำนวน 210 ลำ และเครื่องบิน A350 สำหรับบินระยะไกลจำนวน 40 ลำ พร้อมทั้งตั้งเป้ากลับมาชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศ และเปลี่ยนสนามบินอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางระดับโลก

การจัดซื้อเครื่องบินโดยสารฝูงใหม่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นส่วนหนึ่งของแผนพลิกสถานะกลับมาทำกำไรให้ได้ หลังจากแบกภาระหนี้สินจำนวนมหาศาลนานหลายสิบปี

กลุ่มบริษัททาทา ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดของอินเดีย กลับมาควบคุมสายการบินแอร์ อินเดียอีกครั้ง หลังจากประมูลขายสายการบินแห่งนี้ไปเป็นมูลค่ารวม 2,400 ล้านดอลลาร์ รวมถึงหนี้สิน ถือเป็นการปิดฉากการต่อสู้มานานหลายปีเรื่องการแปรรูปสายการบินที่เจอปัญหาทางการเงินอย่างหนักหน่วง
 

การขายสายการบินแห่งชาติที่เต็มไปด้วยหนี้สิน ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เนื่องจากผู้เสียภาษีชาวอินเดีย ต้องเจียดเงินภาษีโดยเฉลี่ยเกือบ 3 ล้านดอลลาร์ต่อวันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อนำมาอุ้มสายการบิน 

นอกจากนี้ การขายสายการบินแห่งนี้คืนให้เอกชน ยังเป็นสัญญาณดีสำหรับแผนการขายหุ้นของบริษัทของรัฐอีกหลายแห่งที่รัฐบาลต้องทุ่มเงินจำนวนมากเพื่ออุ้มไว้ การปล่อยบริษัทเหล่านี้ออกไป จะช่วยให้อินเดียกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนตามกลไกตลาดอย่างเต็มที่

ในส่วนของแอร์ อินเดีย นอกจากซื้อเครื่องบินโดยสารจากแอร์บัสแล้ว บริษัทกำลังวางแผนที่จะสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารจากโบอิงด้วยเช่นกันในเร็วๆนี้ และเมื่อรวมข้อตกลงทั้ง 2 เข้าด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นการซื้อฝูงบินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน

"เอ็น จันดราเสการาน" ประธานแอร์อินเดีย ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงเพื่อทำข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งโมดีประกาศแผนเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการบินพลเรือน ที่ครอบคลุมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า อินเดียจะต้องใช้เครื่องบินมากกว่า 2 พันลำ ในอีก 15 ปีข้างหน้า

แอร์อินเดีย ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัททาทา ในปี 2475 และรัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังจากได้รับเอกราช แต่ต่อมาสายการบินประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทำให้บริษัททาทา ประกาศซื้อกิจการคืนด้วยข้อตกลงมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว 

แอร์บัส บริษัทอากาศยานชั้นนำของยุโรป คาดการณ์ว่า การจราจรทางอากาศของอินเดียจะเติบโตปีละ 6.6% ตลอด 20 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าเติบโตสูงเกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

แต่แอร์อินเดีย ซึ่งเป็นสายการบินระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศแค่ 8.6% ในเดือนก.ย.ทำให้บริษัทตั้งเป้าจะครองส่วนแบ่งตลาดการบินในประเทศให้ได้ 30%  ภายในปี 2570 พร้อมทั้งขยายฝูงบินเส้นทางระหว่างประเทศมากขึ้น ถือเป็นการยกเครื่องการดำเนินงานครั้งใหญ่ 

นอกจากนี้ สายการบินยังแต่งตั้ง “แคมป์เบล วิลสัน” ชาวนิวซีแลนด์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร ถือเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้

การเคลื่อนไหวของแอร์อินเดีย มีขึ้นหลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดการณ์เมื่อวันพุธ (8 ก.พ.) ว่า อุปสงค์ของผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกในปี 2566 จะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับก่อนเกิดโรคโควิดระบาดสำหรับเส้นทางส่วนใหญ่ภายในไตรมาส 1/2566 และจะขยายตัว 3% จากระดับในปี 2562 ได้ภายในสิ้นปีนี้

“ฮวน คาร์ลอส ซาลาซาร์” เลขาธิการ ICAO ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า “การคาดการณ์ผู้โดยสารทางอากาศของ ICAO เกิดจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในปี 2565 ตามที่การวิเคราะห์ทางสถิติของ ICAO ประเมินไว้ก่อนหน้านี้”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การคาดการณ์ของ ICAO เป็นการคาดการณ์ระดับโลกครั้งแรกนับตั้งแต่จีนยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางอันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 เมื่อเดือนม.ค. 

ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดการณ์เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่า อุปสงค์ของผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่สู่ระดับของปี 2562 ได้ภายในปี 2567