ยักษ์บะหมี่ฯ แบกต้นทุนหนักสุด 50 ปี จี้รัฐเคาะปรับราคา 8 บาท เพื่ออยู่รอด!

ยักษ์บะหมี่ฯ แบกต้นทุนหนักสุด 50 ปี จี้รัฐเคาะปรับราคา 8 บาท เพื่ออยู่รอด!

5 ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ผนึกกำลังยื่นหนังสือ “พาณิชย์” เร่งรัดพิจารณาปรับราคาเป็น 8 บาทต่อซอง หลังแบกต้นทุนหนักสุดรอบ 50 ปี ย้ำขยับเพิ่มแบบสมเหตุสมผล เล็งทางออกขยายตลาดต่างประเทศเพิ่ม ด้าน "กรมการค้าภายใน" ยังไฟเขียว ขอพิจารณารอบด้าน ยึด “วิน-วิน โมเดล”

วานนี้ (15 ส.ค.) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย เจ้าของแบรนด์ดัง เช่น มาม่า ไวไว ยำยำ ซื่อสัตย์ และนิชชิน ตั้งโต๊ะชี้แจงถึงต้นทุนการผลิตสินค้าที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม บรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ฯลฯ  กระทบการดำเนินงาน แม้ที่ผ่านมาได้ชี้แจงกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และขอปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ล่าสุด จึงลงนามร่วมกันเพื่อยื่นหนังสือเร่งให้รัฐพิจารณาเป็นการด่วน

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิต "มาม่า" เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิตบะหมี่ฯ 5 รายมารวมตัวบนเวทีเดียวกัน เพื่อเร่งรัดให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาปรับขึ้นราคาบะหมี่ฯ หลังผู้ประกอบการยื่นขอไประยะใหญ่ เนื่องจากเผชิญต้นทุนวัตถุดิบการผลิตทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ อดีตต้นทุนวัตถุดิบการผลิตบะหมี่ฯ เคยพุ่งขึ้น 2 ครั้ง ในปี 2554 ซึ่งเป็นวิกฤติน้ำปาล์มแพงสูงแตะ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผู้ผลิตยังไม่ขอปรับขึ้นราคา และอีกครั้งคือปี 2557 เกิดวิกฤติแป้งสาลีระยะสั้น และปี 2558 รัฐขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า และดำเนินตามที่รัฐขอ

ทว่า ปี 2565 ต้นทุนพุ่งสูงมากจนไม่สามารถแบกรับไหว จึงต้องขอขึ้นราคา ซึ่งเดิมรัฐให้ช่วงเวลาในการไฟเขียวปรับราคาเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จนล่วงเลยถึงเดือน ส.ค. ยังไม่ได้ปรับราคา จึงต้องทำหน้าที่ทวงถามความคืบหน้าและเร่งรัด

สำหรับการขอปรับขึ้นราคาบะหมี่ฯ หลัก 6 บาท ราคาใหม่ขอที่ 8 บาทต่อซอง เนื่องจากสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง หากรัฐให้ขึ้นเพียง 7 บาทต่อซอง จะเดินหน้าขอขยับราคาเป็น 8 บาทต่อไป

ส่วนหากไม่ได้ขึ้นราคา สิ่งที่ผู้ผลิตบะหมี่ฯ จะบริหารจัดการคือเน้นจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศเพราะสามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ปัจจุบันมาม่า ส่งออกราว 30% และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดต่างประเทศโดยไม่ลดกำลังการผลิตในประเทศแต่อย่างใด

“50 ปี ผู้ผลิตบะหมี่ฯ ไม่เคยอยู่บนเวทีเดียวกัน แต่วันนี้เราไม่ไหวแล้วจริงๆ ซึ่งหน้าที่เราคือเร่งรัดให้รัฐพิจารณาอนุมัติการขึ้นราคาบะหมี่ฯ และนี่ไม่ใช่การกดดัน หรือต่อรองว่าไม่ได้ขึ้นราคาแล้วจะเลิกผลิต เราแค่ทำหน้าที่ของเรา ส่วนรัฐมีหน้าที่ในการบาลานซ์ดูแลผลกระทบกับประชาชน แต่บริษัทก็ต้องดูแลผู้บริโภค รับผิดชอบพนักงาน และผู้ถือหุ้นด้วย ไม่สามารถให้ผลการดำเนินงานขาดทุนได้”

ยักษ์บะหมี่ฯ แบกต้นทุนหนักสุด 50 ปี จี้รัฐเคาะปรับราคา 8 บาท เพื่ออยู่รอด! โดยผู้ผลิตทั้ง 5 ราย ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก และจะยื่นหนังสือดังกล่าวต่อกรมการค้าภายใน วันนี้ (16 ส.ค.) เวลา 09.30 น. จากนั้นจะให้รัฐพิจารณา 3-4 วัน เพื่อพิจารณาเรื่องอนุมัติขึ้นราคาบะหมี่ฯ

'ไวไว' ลดโอทีสินค้าขาดทุน เล็งบุกต่างประเทศมากขึ้น

ด้านนายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิต "ไวไว" กล่าวว่า สถานการณ์ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งขึ้นสูงมากราว 20-30% ปาล์มน้ำมันราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ผลประกอบการสินค้าบางรายการของบริษัทอยู่ในโซนแดงหรือ “ขาดทุน”

ทั้งนี้ กว่า 14 ปี ที่บะหมี่ฯ ไม่ได้ปรับขึ้นราคา เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภค ทำให้มีการตรึงราคามาโดยตลอด ทั้งที่ต้นทุนต่างๆ เงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยการบริหารจัดการต้นทุนเพื่ออยู่รอด บริษัทมีการลดการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ตัดส่วนลดให้ร้านค้า แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ยังเจอน้ำมันแพง กระทบการขนส่ง ซึ่งบริษัททำหน้าที่กระจายสินค้าเอง และการไม่ได้ผลิตแค่บะหมี่ฯ มีสินค้าอื่นด้วย ทำให้กำไรที่น้อยอยู่แล้ว การเจอผลกระทบต้นทุนรอบด้าน จึงยื่นเรื่องถึงกรมการค้าภายในเพื่อขอปรับราคาเพื่อความอยู่รอด

อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคา บริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะสามารถปรับราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และลดโอทีในการผลิตสินค้าบางรายการที่ประสบภาวะขาดทุน เพราะหากขายมากจะยิ่งขาดทุนมากขึ้น

“ต้นทุนวัตถุดิบ เป็นเด้งแรกที่กระทบต้นทุน มาเจอราคาน้ำมันเป็นเด้งที่ 2 อนาคต อาจเจอเด้งที่ 3 คือ ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เราขาดทุน จึงทำเรื่องขอกรมการค้าภายใน เพื่ออนุมัติให้ขึ้นราคาสินค้า เพราะบางเดือนสินค้าบางรายการผลการดำเนินเราของเราแดงเลย”

ยักษ์บะหมี่ฯ แบกต้นทุนหนักสุด 50 ปี จี้รัฐเคาะปรับราคา 8 บาท เพื่ออยู่รอด! 'ซื่อสัตย์' ย้ำราคาขายชนเพดาน

ด้านนายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่ฯ "ซื่อสัตย์" กล่าวว่า ภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าถือว่าชนเพดาแล้วจริงๆ ทำให้บริษัทดำเนินการขอขึ้นราคาสินค้า ขณะที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ขาดทุนกำไรเท่านั้น แต่เป็นการเผชิญภาวะ “ขาดทุน” อย่างจริงๆ เพราะในประเทศบริษัทขายค่อนข้างมาก ตัวสินค้า 6 บาท มีสัดส่วนราว 70%

“ที่ผ่านมาราคาขายบะหมี่ฯ ชนเพดานแล้ว หากไปเดินในห้างค้าปลีกจะพบว่า ราคาขายต่อแพ็ค ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5 - 5.50 บาทต่อซองบ้าง เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ไปลดส่วนลดกับร้านค้า ทำให้การค้าขายแทบไม่มีกำไร จึงอยากให้กรมการค้าภายในพิจารณาเรื่องราคากับเราด้วย เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้”

สำหรับ ซื่อสัตย์เป็นหนึ่งในแบรนด์บะหมี่ฯ ของเครือสหพัฒน์ทำตลาดมาราว 12 ปี แต่โรงงานผลิตนั้นอยู่มาราว 50 ปี ภายใต้ยี่ห้อ “ซันวา”

ยำยำเผยต้นทุนพุ่ง 40% ยิ่งผลิตยิ่งเข้าเนื้อ  

นายกิตติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิต "ยำยำ" กล่าวว่า วัตถุดิบหลักทั้งแป้งสาลี ปาล์น้ำมัน พุ่งสูงขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด เรียกว่ากราฟพุ่งขึ้นทุกปี ล่าสุดขยับเพิ่มราว 40% กระทบต้นทุนการผลิตหนักมาก บริษัทจึงวอนขอให้ คน.พิจารณาอนุมัติขึ้นราคาสินค้าด้วยเพื่อช่วยผู้ผลิตด้วย

สำหรับยำยำ เป็นสินค้าในเครืออายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งทำตลาดในหลายประเทศ โดยโรงงานวันไทยฯ มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศราวและมีการปรับราคาแล้วคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในอัตรา 2 หลัก ทำให้ราคาขายสูงกว่าไทยราว 2 เท่า อย่างไรก็ตาม บะหมี่ฯ ราคา 6 บาทต่อซองที่ขายในประเทศคือยำยำจัมโบ้ มีสัดส่วนราว 70%

“ปัจจุบันสินค้าบางรายการเราที่ผลิตขาย เข้าเนื้อเกือบทุกวัน” 

'นิชชิน' ขอขยับราคาแบบสมเหตุสมผล

นายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิต ‘นิชชิน’ กล่าวว่า บริษัทเผชิญวิกฤติต้นทุนเหมือนกับผู้ผลิตบะหมี่ฯทุกราย แต่นิชชิน มีสินค้าทำตลาดในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ จากภาวะต้นทุนที่พุ่ง ทำให้บริษัทมีการปรับราคาสินค้าในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นราว 5-12%

สำหรับนิชชินฯ มีฐานการผลิตบะหมี่ฯ ในหลายประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังต่างแดนมีสัดส่วนน้อยไม่ถึง 10% ขณะที่สินค้าหลักราคา 6 บาท มีสัดส่วนการขาย 30% ในตลาด

“การขยับราคาให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตมีกำไรสมเหตุสมผล สามารถผลิตสินค้าส่งมอบถึงผู้บริโภคในตลาดอย่างต่อเนื่อง”

ภาพรวมตลาดบะหมี่ฯ มีมูลค่า 18,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกเติบโต 4-5% ทั้งนี้ บะหมี่ฯ ถือเป็นสินค้าควบคุมเข้มงวด การปรับขึ้นราคาต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น หากปรับก่อนถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ปรับราคา ผู้ประกอบยืนยันจะแบกภาระต้นทุนและต้องอดทนต่อไป ขณะที่ภาวะต้นทุนพุ่งเป็นสิ่งที่ทุกรายประสานเสียงตรงกันเจอหนักสุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ซึ่งแต่ละรายอยู่มานานกว่า 50 ปีทั้งสิ้น 

ปัจจุบันผู้ผลิตบะหมี่ฯ มีการเตรียมนำสินค้าใหม่ออกมาวางจำหน่าย แต่ยังไม่สามารถขายได้ เนื่องจากราคาที่ขอวางตลาดคือ 8 บาทต่อซอง อย่าง มาม่า Less Sodium บริษัทยังเตรียมออก "มาม่าเจ" รับเทศกาลกินเจ ซึ่งหากไม่สามารถขยับราคาขายได้ ต้องกัดฟันจำหน่าย 6 บาทต่อซอง เนื่องจากสินค้าผลิตออกมาเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับวันไทย อุตสาหกรรม ฯที่อยากจะเปิดตัวสินค้าใหม่ แต่ด้วยภาวะต้นทุนสูง และยังไม่ได้ปรับราคา ทำให้บริษัทค่อนข้างลำบากในการนำสินค้าออกวางตลาด 

คน.ชี้ยึดหลักการวินวินโมเดล

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย ขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดมาตรฐาน จากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท เนื่องจากภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าต้นทุนบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม รวมถึงวัตถุดิบหลัก เช่น แป้งสาลี

สำหรับการพิจารณาอนุญาตปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น จะพิจารณาเป็นรายๆ โดยอยู่บนหลักการ วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ประกอบการต้องยังคงผลิตและจำหน่ายต่อไปได้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์

“ขณะนี้กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่อย่างใด หากรายใดฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรหรือกักตุนสินค้า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”