ย้อนอดีตการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (จบ)

ย้อนอดีตการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (จบ)

ธนาคารพาณิชย์ไทยล่มสลายเหมือนในอดีตคงจะไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่คนก็ยังมีความสำคัญที่สุดไม่ว่าเราจะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใด โศกนาฏกรรมทางการเงินก็อาจเกิดขึ้นได้

จากรายงานประจำปี สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2540 ข่าวส่งประกวดรางวัลยอดเยี่ยมมูลนิธิอิศรา อนันตกุล อ้างอิงจากข่าว “ทลายขบวนการ นักธุรกิจ-นักการเมือง กลุ่ม 16 ผลาญเงิน บีบีซี 80,000 ล้านบาท” รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นายเกริกเกียรติ นายราเกซ และพวกในข้อหายักยอกทรัพย์บีบีซี 1,657 ล้านบาท แต่นายราเกซ หลบหนีไปต่างประเทศ (แคนาดา) 

หลังจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินการของ บีบีซี และทยอยร้องทุกข์กล่าวโทษนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์และพวกต่อพนักงานสอบสวนว่า กระทำผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลรวม 24 คดี แต่ศาลมีคำสั่งให้รวมคดีที่เกี่ยวเนื่องกันเหลือ 17 คดี วันที่ 16 ธันวาคม 2538 

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นอาชญากรรมทางธุรกิจ มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน พิพากษาให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯมาตรา 308 จำคุกจำเลยที่เป็นผูบริหารระดับสูง (ไม่ร่วมนายเกริกเกียรติ) คนละ 6 ปี 8 เดือน ปรับคนละ 666,666 บาท

และร่วมชดใช้เงินกับนายเกริกเกียรติ เป็นเงิน 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนายเกริกเกียรติ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำคุก 50 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุก 20 ปี และให้คืนเงินบีบีซี ด้วยจำนวนเงินกว่า 167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ทั้งนี้ นายเกริกเกียรติ ได้เสียชีวิตระหว่างยื่นฎีกา ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ได้ยุติการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่อาจมีผลต่อฐานะความมั่นคงของกิจการในอนาคตและเพื่อป้องกันหรือจำกัดความเสียหายได้ทันการ 

โดยวางแนวทางในการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน ในด้านความเสี่ยง (risk-based supervision) ตั้งแต่ปี 2544 โดยประกาศให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมตัวในปี 2549 และนำเกณฑ์ Basel ll มาเริ่มใช้ในช่วงปี 2551 และนำ Basel lll มาใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุน (Basel ll) อยู่ภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่

หลักการที่ 1 การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ โดยเพิ่มเติมการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการนอกเหนือจากความเสี่ยงด้านเครดิตและการตลาด

หลักการที่ 2 การกำกับดูแลโดยทางการ เป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และผู้กำกับดูแล โดยเน้นให้ธนาคารพาณิชย์มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีมีกระบวนการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงทั้งหมดจากการดำเนินธุรกิจ 

หลักการที่ 3 การใช้กลไกตลาดในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

สำหรับ Basel lll ปรับปรุงเพิ่ม เนื่องจากวิกฤตการเงินโลกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในแถบประเทศยุโรปและอเมริกา ในช่วงปี 2550-2552 ประกอบกับการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอย่างมาก Basel Committee Banking Supervision) จึงได้ออกหลักเกณฑ์ Basel Iii ในปี 2553

ตามหลัก risk-based supervision ธนาคารพาณิชย์จึงมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมาก การอนุมัติสินเชื่อจะต้องมีคณะกรรมการ และมีหน่วยงานทางด้านความเสี่ยงเข้ามา Comment สินเชื่อทุกราย ก่อนที่ผมจะเกษียณงานจากธนาคารพาณิชย์เป็นคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อ Group Credit Committee พิจารณาสินเชื่อวงเงินที่สูงกว่า 200 ล้านบาท อยู่หลายปี 

ผมมีความมั่นใจว่าเหตุการณ์ทีทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยล่มสลายเหมือนในอดีตคงจะไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่คนก็ยังมีความสำคัญที่สุดไม่ว่าเราจะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใด โศกนาฏกรรมทางการเงินก็อาจเกิดขึ้นได้ ทุกสิ่งสิ้นสุดที่คนครับ…