เปิดเบื้องลึกเก็บ”ภาษีขายหุ้น”คลังกล่อมทุกฝ่ายอยู่หมัด เชื่อไม่กระทบ

เปิดเบื้องลึกเก็บ”ภาษีขายหุ้น”คลังกล่อมทุกฝ่ายอยู่หมัด เชื่อไม่กระทบ

เปิดเบื้องลึกนโยบายเดินหน้าเก็บ”ภาษีขายหุ้น”ในปีนี้ คลังกล่อมทุกฝ่ายอยู่หมัด เหตุจำเป็นเพราะรัฐบาลต้องหารายได้ ระบุ ถึงเวลาที่เหมาะสม หลังยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เชื่อไม่กระทบภาพรวมตลาด โดยจะจัดเก็บตั้งแต่บาทแรกของมูลค่าที่ขายในอัตรา 0.1%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แนวคิดการจัดเก็บ Financial Transaction Tax หรือ ภาษีขายหุ้นดังกล่าว เป็นนโยบายการจัดเก็บภาษีเพิ่มสำหรับปี 2565 ของกระทรวงการคลัง โดยเป็นการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% หลังจากที่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากว่า 30 ปี หรือ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2534

ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้จัดเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกที่มีการขายหุ้น อย่างไรก็ดี ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปภาษีนั้น ได้มีการหารือถึงอัตราการจัดเก็บที่ 0.1% ของการซื้อขายหุ้นที่เกินกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจาก ในฝั่งตลาดทุนได้โต้แย้งการจัดเก็บภาษีการขายตั้งแต่บาทแรก เนื่องจาก กังวลจะกระทบต่อภาพรวมตลาดทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย

จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนที่ขายหุ้นมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน อยู่ประมาณ 80% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด และ ขายหุ้นมูลค่าเกินกว่า 2.5 ล้านบาทต่อเดือน อยู่กว่า 90% ของนักลงทุนทั้งหมด

อย่างไรก็ดี วานนี้(11เม.ย.)นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมายืนยันถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยระบุว่า การจัดเก็บภาษีจะเป็นไปตามข้อกำหนดเดิม เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารการจัดเก็บ และ สร้างความเท่าเทียมต่อนักลงทุนทุกคน

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ แม้ว่า ก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ จะออกมาระบุว่า กระทรวงการคลังจะเลื่อนการจัดเก็บภาษีดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจาก สถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

โดยรมว.คลังระบุว่า ได้หารือกับทุกฝ่ายและเข้าใจตรงกันแล้วว่า กระทรวงการคลังจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจาก ยกเว้นมานานกว่า 30 ปี ขณะที่ รัฐบาลต้องจัดหารายได้ โดยการจัดเก็บภาษีหุ้นเป็นหนึ่งในแผนการหารายได้ ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะมีการจัดเก็บ โดยสภาพตลาดขณะนี้ก็มีการเติบโต และ ความผันผวนที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เป็นผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก

สำหรับอัตราการจัดเก็บนั้น ถูกกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรอยู่แล้วที่ 0.1% ของการขาย แต่ได้รับการยกเว้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะยึดตัวเลขนี้ เพราะเป็นอัตราที่ต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่ได้เป็นอัตราภาษีสุทธิที่จะจัดเก็บ โดยจะต้องนับรวมภาษีท้องถิ่นที่จะTop up เพิ่มขึ้นมาอีก 10% ดังนั้น อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.11%

ส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีจากตลาดหุ้นในประเทศต่างๆนั้น ในบางประเทศจะมีการเก็บทั้งภาษีการขายหุ้นและกำไรจากการซื้อขายหุ้น แต่บางประเทศก็เก็บเพียงบางตัว ยกตัวอย่าง กรณีอินโดนีเซียเก็บ 0.1%จากการขายหุ้น , เวียดนาม 0.1%จากการขายและกำไรจากการขายหุ้น 20% , มาเลเซีย เป็นการเก็บจากอากรแสตมป์จากการซื้อและขาย 0.1%

ส่วนสิงคโปร์ยกเว้น , ฟิลลิปปินส์ 0.6%ของราคาขาย และ 15% กำไรการซื้อขาย , จีนเก็บ 0.1%จากการขายและซื้อ , ฮ่องกง 0.13% จากการขายและซื้อ (เพิ่งเก็บปีที่แล้ว)

ญี่ปุ่น ไม่เก็บ แต่เก็บกำไรจากการซื้อขาย 20.3% , เกาหลี 0.23% จากการขาย และ กำไรจากการซื้อขายระยะสั้นน้อยกว่า 1 ปี 33% ถ้าระยะยาว 22%

ไต้หวันเก็บ 0.3%จากการขาย , อังกฤษ 0.5% จากการซื้อ ส่วนสหรัฐอเมริกา ไม่เก็บภาษีขาย แต่เก็บจากกำไรการซื้อขายระยะยาว 15-20%

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หากภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเมื่อใด ก็สามารถทำได้ทันที โดยออกเป็นประกาศกระทรวงให้จัดเก็บ เนื่องจาก มีข้อกฎหมายในประมวลรัษฎากรที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี