“Stagflation” ความท้าทายสูงสุดของนโยบายการเงิน ทำไมจึงแก้ยาก?

“Stagflation” ความท้าทายสูงสุดของนโยบายการเงิน ทำไมจึงแก้ยาก?

ภาวะทางเศรษฐกิจที่รวมเอา “ความถดถอย” และ “เงินเฟ้อสูง” ไว้ในห้วงเวลาเดียวกันอย่าง “Stagflation” ต่างเป็นโจทย์หินของเหล่าธนาคารกลางที่เลือกได้คงไม่อยากพบเจอ เพราะนโยบายการเงินที่เคยใช้อาจไม่สามารถใช้แก้ปัญหาเช่นนี้ได้

ในปี 2565 นี้ เราทุกคนต่างได้เผชิญกับสถานการณ์ราคาสินค้าในท้องตลาดที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ ผัก และอื่นๆ ในช่วงเดือนแรกของปี และยังต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น จากการปะทุตัวของสมรภูมิ "รัสเซีย-ยูเครน" ซึ่งการแพงขึ้นของสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพเหล่านี้ ได้ทำให้ค่าครองชีพของทุกสูงขึ้นจากเดิม หรือที่เข้าใจกันว่าเกิดภาวะ “เงินเฟ้อ” นั่นเอง

ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงเท่านั้น ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ อย่าง “สหรัฐ” ก็ต้องประสบกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พุ่งขึ้นแตะ 7.9% สูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed มีแนวนโยบายที่ชัดเจนว่าจะขึ้น “อัตราดอกเบี้ย” เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นไปมากกว่านี้ 

.. แล้วทำไม เศรษฐกิจดี-เงินเฟ้อสูง จึงต้องขึ้นดอกเบี้ย? ทั้งสองสิ่งนี้เกี่ยวกันอย่างไร? 

ในกรณีตรงข้าม ขณะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวกลับมาไม่ได้ แต่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้นจนเกิดเป็นภาวะ “Stagflation” เรายังสามารถใช้วิธีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาได้อยู่หรือไม่ ร่วมหาคำตอบได้ในต่อไปนี้

 

  •   แก้เงินเฟ้อสูง ทำไมต้องขึ้นดอกเบี้ย  

เริ่มต้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนทำงานร่วมกันในระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของตัวแปรหนึ่ง มักส่งผลต่อตัวแปรอื่นๆ ด้วยเสมอ 

เช่นกันกับ "อัตราดอกเบี้ย" และ "อัตราเงินเฟ้อ" ซึ่งแม้ไม่ได้ส่งผลต่อกันโดยตรง แต่อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อต้นทุนการจับจ่ายใช้สอย และปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงระดับราคาสินค้าและบริการในท้องตลาดให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระดับเงินเฟ้อนั่นเอง 

หากอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น เราสามารถสรุปความสัมพันธ์ของดอกเบี้ยและเงินเฟ้อออกเป็น 2 กรณี  ดังนี้ 

กรณีที่ 1 การขึ้นอัตราดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยสูงขึ้น)  > ต้นทุนการใช้เงินสูงขึ้น > ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง > ระดับสินค้าและบริการลดลง > เงินเฟ้อลดลง 

กรณีที่ 2 การลดอัตราดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยลดลง) > ต้นทุนการใช้เงินต่ำลง > ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น > ระดับสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น > เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การอธิบายข้างต้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมาก ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่ยกตัวอย่าง แต่การเข้าใจกลไกพื้นฐานเช่นนี้ ก็จะช่วยให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจได้ง่ายมากขึ้น 

เมื่อเราพอจะเห็นภาพความเกี่ยวข้องกัน ระหว่างดอกเบี้ยและเงินเฟ้อแล้วนั้น ก็มาถึงคำถามถัดมา คือ เมื่อเงินเฟ้อสูง ทำไมธนาคารกลางถึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย

  •   การควบคุมระดับเงินเฟ้อด้วยอัตราดอกเบี้ย  

โดยปกติแล้วเราไม่สามารถไปกำหนดอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะมีลักษณะเป็นตัวแปรตาม (Dependent variable) ที่ควบคุมยาก 

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อนั้นทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจได้ดี เช่น เศรษฐกิจดี อัตราเงินเฟ้อเป็นบวก แต่หากอัตราบวกสูงเกินไป จะแสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เสี่ยงต่อการโตแบบไม่สมเหตุสมผล 

ในทางตรงข้าม หากอัตราอยู่ในระดับต่ำเกินไป ก็จะแสดงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ดีเท่าที่ควร และหากมีอัตราเป็นลบ หรือที่เรียกกันว่า ภาวะเงินฝืด (Deflation) นั้นชี้ได้ว่า เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะถดถอย 

เมื่อเงินเฟ้อเป็นตัวแปรที่สำคัญ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ ธนาคารกลางหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายทางการเงิน จึงเลือกที่จะต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพื่อหวังจะควบคุมทิศทางของเงินเฟ้อที่สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน การจะหวังให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในตัวเลขที่ต้องการได้นั้น มีความจำเป็นที่จะกำหนดระดับอัตราเงินเฟ้อที่ต้องการขึ้นมาเสียก่อน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยรูปแบบนโยบายทางการเงินเช่นนี้ มีชื่อเรียกว่า “การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” (Inflation Targeting)  ซึ่งไทยคือหนึ่งในประเทศที่นโยบายดังกล่าว 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) โดยกำหนดกรอบไว้ที่ 1-3%  

เมื่อใดที่อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 1% จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบที่วางไว้ ในทางตรงข้าม หากอัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 3% จะเกิดการเพิ่มดอกเบี้ย ลดความร้อนแรงของเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงอัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ในกรอบตามเดิม

 

  •   “Stagflation” โจทย์หิน! เมื่อความสัมพันธ์ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป  

อย่างไรก็ตาม บางกรณีการเพิ่มลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่สามารถทำได้ดังอธิบายไป อาทิ กรณีระบบเศรษฐกิจเจอกับภาวะ “Stagflation” เพราะอัตราเงินเฟ้อไม่สะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง เป็นผลมาจากการที่ระดับสินค้า และบริการยังอยู่ในระดับสูง สวนทางกับทิศทางของเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอย จึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แม้เศรษฐกิจจะเกิดการหดตัวลงก็ตาม 

นั่นคือ สถานการณ์ที่ธนาคารกลางไม่ว่าของประเทศไหนๆ ต่างก็ไม่อยากจะพบเจอ เพราะเครื่องมือที่เคยมีประโยชน์อย่างอัตราดอกเบี้ยก็ใช้ยากขึ้นมาทันที หากจะปรับลด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อก็อาจจะพุ่งสูงขึ้นไปกว่าเดิม หรือหากจะปรับเพิ่ม เศรษฐกิจก็อาจจะหดตัวลงไปมากกว่าเดิม หรือพูดให้เห็นภาพคือ เจ็บหนักทั้งขึ้นทั้งล่อง 

แม้จะมีนักวิชาการให้ความเห็นว่า จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเสียก่อน ซึ่งเท่ากับว่าต้องยอมเจ็บกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อไป  ..เช่นนั้นหรือ? 

อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ต้องเจ็บหนักอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า “ความเจ็บทางเศรษฐกิจ” ตกอยู่กับคนในแต่ละกลุ่มในสังคมไม่เท่ากัน และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ จะมีผลให้สามารถทนความเจ็บในแต่ละด้านได้ไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน 

ฉะนั้น การจะตัดสินใจเลือกทางใดนั้น ควรเกิดจากการประเมินรากของปัญหาที่แท้จริง พร้อมคำนึงถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตนให้รอบคอบและถี่ถ้วนแล้ว 

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า หากประเทศใดเข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างเต็มตัวขึ้นมาจริงๆ แล้ว การดำเนินนโยบายทางการเงินจะเป็นไปในทิศทางใด จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือลง และหากเป็นประเทศไทยเอง เราจะมีทางออกให้กับภาวะเช่นนี้อย่างไร

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์