ชี้ดัชนีความสุขผู้บริโภคฟื้น 'เอ็มไอ' ชี้แรงส่งแบรนด์เทงบโฆษณา

ชี้ดัชนีความสุขผู้บริโภคฟื้น 'เอ็มไอ' ชี้แรงส่งแบรนด์เทงบโฆษณา

อุตสาหกรรมโฆษณาส่งสัญญาณรีบาวด์แรง ทั้งปี เอ็มไอคาดการณ์เงินสะพัดโต 12.8%ปัจจัยบวกเกิดจากดัชนีความสุขผู้บริโภคฟื้น พร้อมออกมาใช้ชีวิตปก แบรนด์กล้าใช้งบโฆษณามากขึ้น แต่ร้อนนี้ออกตัวช้า เหตุโอมิครอนออกฤทธิ์รอบใหม่

กว่า 2 ปีที่คนทั้งโลกพยายามใช้ชีวิต ดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤติโรคโควิด-19 อย่างยากลำบาก และปี 2565 ทุกคนมีความหวังสถานการณ์คลี่คลาย การของไวรัสปรับสถานะเป็นโรคระบาดท้องถิ่นทั่วไปหรือ endemic เพื่อกลับมาดำเนินชีวิตปกติ

ขณะที่ภาคธุรกิจหลายส่วนหวังจะฟื้นตัวหรือรีบาวด์กลับมาเติบโตอีกครั้ง รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา ซึ่ง ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI Group ให้มุมองผ่านหัวข้อ “จับตา Omicron ตัวปิดเกมส์ Covid-19 ไปต่อหรือพอแค่นี้?” พร้อมเคาะตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาปี 2565 จะรีบาวด์กลับมาเติบโตถึง 12.8% มูลค่าแตะ 84,250 อีกครั้ง หลังจาก 2 ปี ตลาดหดตัว เงินลดเหลือราว 74,000-75,000 ล้านบาท ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เม็ดเงินที่จะกลับมาสะพัด เกิดจากหลายปัจจัย อย่างแรกคือดัชนีภาพรวมความสุขและความเชื่อมั่นของคนไทยต่อสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ ฮิลล์ อาเซียน ทำการสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 44% มอง 3 เดือนข้างหน้า ตนเองจะมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้น มีเพียง 6% ที่คิดว่าตัวเองจะ “ทุกข์” มากขึ้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ประชาชนเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้

นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญคืออัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเข็ม 2 เข็ม 3 เพิ่มสูงขึ้น หลายคนมีความพร้อมในการใช้ชีวิตนอกบ้านเดินห้างค้าปลีก รับประทานอาหารกันอย่างคึกคัก

“ผู้บริโภคมองตัวเองใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีความสุขมากขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องอยู่กับโรคโควิดให้ได้ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดจะเพิ่มขึ้น คนไม่แคร์แต่มีความระมัดระวัง ไม่ได้ใช้ชีวิตแค่อยู่ในบ้านเหมือนที่ผ่านมา เริ่มออกมาทำกิจกรรมต่างๆ”

ชี้ดัชนีความสุขผู้บริโภคฟื้น \'เอ็มไอ\' ชี้แรงส่งแบรนด์เทงบโฆษณา

การปรับตัวของผู้คนให้คุ้นชินกับสถานการณ์พร้อมยการ์ดสูง ปลุกให้แบรนด์เริ่มกลับมาใช้งบโฆษณา ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะควักเงินทำแคมเปญสื่อสารการตลาด มีดังนี้ 1.กลุ่มยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(BEV) ที่ราคาดึงดูดมากขึ้น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐ 2.รถจักรยานยนต์ จากภาคธุรกิจและบริการเริ่มกลับมาดำเนินกิจการต่อ แรงงานบางส่วนกลับคืนภูมิลำเนา จึงซื้อรถจักรยานยนต์เพื่อช่วยดำเนินชีวิตในสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ 3.ธุรกิจและบริการที่สอดคล้องกับวิถีใหม่ ทั้งอีมาร์เก็ตเพลส เดลิเวอรี่ สินค้าสุขอนามัยต่างๆ

4.เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งปีนี้ยังคงเห็นกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์ ออกมาทำตลาดอย่างคึกคัก รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชากัญชง 5.สินค้าเกี่ยวกับความงามและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ คลินิก จะกลับมาฟื้นตัว รับพฤติกรรมผู้บริโภคขอกลับมาสวยอีกครั้ง หลังจาก 2 ปี ทำงานที่บ้าน ลดแต่งหน้า เสริมความความ

“ความสวยเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ยอมประณีประณอม ยิ่งการเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านอีกครั้ง ต้องพร้อมกลับมาสวย จากนี้ต่อให้ประชุมออนไลน์ก็ต้องสวย”

6.สินเชื่อส่วนบุคคล จะเห็นแบรนด์หน้าเก่าใหม่ทำตลาดกันมากขึ้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการอนุมัติวงเงิน แต่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนตกงาน ธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน จะเห็นการพยายามดิ้นรนขอสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวนมาก

ชี้ดัชนีความสุขผู้บริโภคฟื้น \'เอ็มไอ\' ชี้แรงส่งแบรนด์เทงบโฆษณา “คนจะร้อนเงิน หาช่องทางนำเงินมาใช้ในการดำรงชีพ ประกอบธุรกิจมากขึ้น”

7.ทางเลือกการลงทุน การเก็งกำไรในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบเครือข่ายและตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Drop ship) และ8.กลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกไปใช้ชีวิต เช่น ร้านอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ที่จะเห็นการคืนชีวิตชีวา กลับมาชอปปิงมากขึ้น

ทั้งนี้ สื่อหลักที่แบรนด์ยังเทงบให้ได้แก้ ทีวี เพราะเข้าถึงผู้บริโภควงกว้าง ปัจจุบันยังสร้างยอดขายได้ด้วย แต่สัดส่วนปีนี้คาดการณ์จะครองเม็ดเงิน 40,000 ล้านบาท หรือราว 48% เป็นครั้งแรกที่ต่ำกว่า 50% ตามด้วยสื่อดิจิทัล ออนไลน์กินสัดส่วน 32% เติบโตต่อ 16% ขณะที่สื่อโฆษณานอกบ้านจะโต 13% โดย 2 สื่อหลังคาดโกยเงินสะพัด 38,000 ล้านบาท

แม้ภาพรวมปี 2565 อุตสาหกรรมโฆษณาส่งสัญญาณโต แต่ที่น่าจับตาคือ การใช้จ่ายเงินช่วงซัมเมอร์ ซึ่งเป็นไฮซีซันปีนี้ การคิกออฟแคมเปญการตลาดค่อนข้างล่าช้า จากปกติสินค้าหน้าร้อนต้องระเบิดศึกทำตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่การระบาดของไวรัสโอมิครอนทำให้ทำกิจกรรมล่าช้า เลื่อนเป็นเดือนมีนาคม

“ช่วงซัมเมอร์ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ยังคาดการณ์งบโฆษณาสะพัด 21,700 ล้านบาท โต 10% แตะจากปีก่อน​มูลค่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งปกติแคมเปญเริ่มทำเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ออกช้าเป็นเดือนมีนาคม”