พาณิชย์ จัด“จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP"
“จุรินทร์”เปิดโครงการ “จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP” จับมือ EXIM BANK จัดวงเงิน 3,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการไทยมีเงินทุนเจาะตลาด หวังดึงเงินเข้าประเทศ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP” ว่า โครงการนี้ ถือเป็นนโยบายหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งมีทั้ง SMEs วิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัป และอื่น ๆ ได้มีโอกาสได้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษไปต่อยอด เพื่อบุกตลาดประเทศสมาชิกวามตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP)นำเงินเข้าประเทศต่อไปภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเอกชนและสถาบันการเงิน
โดยการจัดทำโครงการดังกล่าว ถือเป็น Lot ที่ 3 หลังจากก่อนหน้านี้ ดำเนินการมาแล้ว 2 Lot โดย Lot 1 จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินหลายแห่งมาช่วยต่อลมหายใจในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขพิเศษ และมี บสย. มาช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ต.ค.2564 สามารถปล่อยกู้ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศได้ถึง 2,895 ราย วงเงิน 2,627 ล้านบาท และ Lot ที่ 2 จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ช่วงเดือน ก.ค.2564-28 ก.พ.2565 ปล่อยกู้ได้ 611 รายวงเงิน 4,000 กว่าล้านบาท
“โครงการจับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP” ทาง EXIM BANK ได้ผ่อนปรนงื่อนไขเงินกู้ โดยดอกเบี้ยปกติในตลาดประมาณ 5.75% แต่โครงการนี้เหลือแค่ 2.75% ต่อปีในปีแรก วงเงินรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท และที่สำคัญทันทีที่รับคำขอ จะมีคำตอบใน 7 วันทำการ ได้เตรียมวงเงินไว้กว่า 3,000 ล้านบาท”
สำหรับโครงการครั้งนี้ และ บสย.มาช่วยค้ำประกันให้ ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทที่ผ่อนปรน และที่สำคัญ จะมีการเดินสายทั้งในกรุงเทพและ4 ภูมิภาคด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs สตาร์ทอัพในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้คล่องตัวสะดวกขึ้น และจะมีระบบออนไลน์ในการยื่นเงื่อนไขเพื่อให้สะดวกขึ้น
ทั้งนี้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปีนี้ แม้มีบางประเทศ ที่ยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการภายในประเทศ และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับครบทั้ง 15 ประเทศโดยเร็ว ถือว่านับหนึ่งแล้วสำหรับประเทศไทยที่บังคับใช้แต่ 1 มกราคม 2565 ซึ่ง RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก GDP ประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP โลก ที่สำคัญการค้าทั้งหมดของไทยที่มีกับโลกเป็นการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP 14 ประเทศ ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง การเตรียมการสำหรับการบุกตลาดอย่างเป็นรูปธรรมมีความสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศต่อไป ซึ่งทันทีที่ RCEP บังคับใช้สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสมาชิก 39,366 รายการ จะภาษีเป็นศูนย์ และเป็นศูนย์ทันทีถึง 29,891 รายการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลที่เราจะได้รับ
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ RCEP Center กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ website: www.dtn.go.th หรือ โทร 02-507-7555