แบงก์เปิดแผนธุรกิจ ปี64 BBL ชู3หัวใจหนุนธุรกิจโต

แบงก์เปิดแผนธุรกิจ ปี64  BBL ชู3หัวใจหนุนธุรกิจโต

“แบงก์” เปิดแผนธุรกิจปี 65 ตั้งเป้าสินเชื่อโตเกิน3-12% ด้าน ธนาคารกรุงเทพ คาดโต 4-6% คุมหนี้เสียไม่ให้เกิน 4%เดินหน้ารุกโตภูมิภาค ด้านบล.กสิกรไทย ชี้ เปิดประเทศ เศรษฐกิจฟื้นหนุนธนาคาร ทำผลงานได้ตามเป้า ด้านธอส. คาดปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้กว่า 2 แสนล้าน

       ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2565 ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ(BBL)  ตั้งเป้าสินเชื่อโต  4-6%  คุมอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ได้ต่ำกว่าระดับ 4%  

     ในส่วนของ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.1% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ (Net Fee Income) คาดว่าจะทรงตัว ส่วนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะรักษาได้ต่ำกว่าระดับ 50% และคาดว่ามูลค่าการตั้งสำรอง (ECL) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
 

       นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า การวางเป้าหมายทางการเงินของธนาคารครั้งนี้ มี 3หัวใจสำคัญ ที่ธนาคารให้ความสำคัญ เพื่อหนุนการเติบโตของธนาคารให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

       ทั้งนี้ด้านแรก คือ การวางแผนการเติบโตธุรกิจ เช่น สินเชื่อ เป็นการวางแผนที่สอดคล้องกับ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มองว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธุรกิจธนาคารเติบโตสอดคล้องกันไปในทิศทางดังกล่าวด้วย รวมถึงยังมองไปถึง ความเสี่ยงในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าที่ธนาคารต้องเจอ
 

 

แบงก์เปิดแผนธุรกิจ ปี64  BBL ชู3หัวใจหนุนธุรกิจโต      ด้านที่สองคือ การให้ความสำคัญกับการปรับตัว ทั้งการปรับองค์กร เพื่อให้องค์กรมีความสามารรถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตได้ในระยะข้างหน้า

      โดยเฉพาะการเติบโตในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นหัวใจที่ธนาคารให้ความสำคัญต่อเนื่อง

      ด้านที่สาม คือการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพราะภายใต้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และโควิด-19 ที่กำลังเผชิญได้สร้างผลกระทบที่ต่างกับกับลูกค้า

     ดังนั้นธนาคารต้องใกล้ชิด เข้าใจ ซึ่งเหล่านี้จะมีผลต่อคุณภาพสินเชื่อของธนาคารให้สามารถประคองตัวได้เป้าหมายและผ่านวิกฤตนี้ไปได้

      "นอกจาก3หัวใจสำคัญ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของธนาคารแล้ว ดิจิทัลก็เป็นเรื่องที่ธนาคารให้ความสำคัญ โดยธนาคารจะมีการตอบโจทย์ลูกค้าบนดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งบุคคลและธุรกิจผ่านการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ รวมถึงการมองไปข้างหน้า ว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ที่เป็นความท้าทายต่อธุรกิจธนาคารเช่น สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้เราสามารถปรับตัวเอง และมองตลาดเพื่อจับทิศทางข้างหน้าได้”
         นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับแผนกการดำเนินงานของธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโต 6-8% จากการเติบโตสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอส เอ็มอี   รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตสินเชื่อในภูมิภาค AEC+3 อีกทั้ง ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

      ด้านการเติบโต NIM ตั้งเป้าที่ 3.15-3.30% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตั้งเป้าหนี้เสียอยู่ที่ 3.7-4.0% ขณะที่ด้าน Credit Cost คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 160 bps

      โดยธนาคารยังคงใช้หลักความระมัดระวังและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

      ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า เป้าหมายทางการเงินของธนาคาร โดย อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ 3-5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.9-3.0%

      ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 40% ต้นๆ ถึงกลางๆ และตั้งเป้าคุมหนี้เสียให้น้อยกว่า 4.0% ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิต ตั้งเป้าให้น้อยกว่า 140 bps

      ทั้งนี้จะมุ่งเน้นในการเติบโตในสินเชื่อที่มีคุณภาพพร้อมกับมีความเสี่ยง ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้

     ในด้านธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีการตั้งเป้าทิศทางการดำเนินงาน โดยตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตปีนี้ ที่12% โดยจะมีการเติบโต

     โดยตั้งเป้าเติบโตในส่วนของธุรกิจตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรุกในธุรกิจเวลธ์ ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 2 ล้าน และการรุกด้านดิจิทัลเพื่อให้ธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น

      ขณะที่ด้านบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO มีการตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อเติบโต 4-5%

     โดยเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถจำนำทะเบียน สินเชื่อรถยนต์มือสอง และ รถจักรยานยนต์ พร้อมวางเป้าหมายคุมหนี้เสียไม่ให้เกิน 3.98%

     ด้านธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ตั้งเป้าเติบโตด้านสินเชื่อที่ โดยเน้นเติบโตทั้งรายย่อย ธุรกิจรายใหญ่

      รวมถึงธุรกิจบริหารเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งเป้าคุมหนี้เสียไม่ให้เกิน 3.7%

      สุดท้ายคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ที่ปีนี้ ธนาคารตั้งเป้ากลับมาเติบโตทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากในปี2565 แต่การดำเนินงานและแผนกลยุทธ์ต่างๆ ในการสร้างการเติบโตจะยังเดินหน้าไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

      นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ภายหลังธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

      และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2565 รวมถึงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อระหว่าง 3-8% ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินเอาไว้ที่ระดับประมาณ 5%

       นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพีปี 2565 ที่กลุ่มกสิกรไทยประเมินไว้ที่ 2.8% ซึ่งในภาวะปกติ สินเชื่อของธนาคารจะเติบโตราว 1.5-2 เท่าของจีดีพี ซึ่งจะได้ระดับการเติบโตปีนี้ระหว่าง 4-6%

      ทั้งนี้คาดว่าแต่ละธนาคารจะบรรลุเป้าหมายสินเชื่อที่ตั้งไว้ จากปัจจัยหนุนที่รัฐบาลทยอยประกาศเปิดเมือง หนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนมา

     และคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้จะค่อนข้างแข็งแกร่ง จากความต้องการสินเชื่อจากภาคเศรษฐกิจจริง แตกต่างจากปี 2563-2564 ที่เป็นการเติบโตจากสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากโควิด-19

      สำหรับการลงทุน คาดว่า KBANK และ SCB จะเติบโตเด่น จากกระแสการเติบโตของสินเชื่อปีนี้จะมาจากสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก อาทิ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะมีความต้องการที่อัดอั้น (Pend up Demand) จากช่วงโควิด-19

    อีกทั้งแรงหนุนจากคาดการณ์รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี

      นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ในปี 2565 ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่โต  3-5% ของเป้าหมายสินเชื่อในปี 2564 ที่อยู่ที่ 2.15 แสนล้านบาท

     และบริหารจัดการหนี้เสียให้ไม่เกิน 5%จากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ที่ 4%ซึ่งยังถือว่า อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

      ส่วนปี 2564 ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 2.47 แสนล้านบาท สูงขึ้น 9.65%จากปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น  3.12 หมื่นล้านบาท

    ซึ่งสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ในปีดังกล่าว ถือว่า อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 68 ปี เนื่องมาจาก ภาวะดอกเบี้ยต่ำในปีที่แล้ว และผลจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น การปรับลดค่าธรรมเนียมในการโอนและจำนอง

      สำหรับความแข็งแกร่งของธอส.นั้น ธนาคารมีBIS Ratioอยู่ที่ 15.30%สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 8.50%และมีการกันสำรองสูงถึง 190%ของสินทรัพย์เสี่ยง