"ส.อ.ท."-ดีป้า ดันอุตฯ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มไทยแลนด์ 4.0

"ส.อ.ท."-ดีป้า ดันอุตฯ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มไทยแลนด์ 4.0

แนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลยังโตต่อเนื่อง ตามทิศทางทรานส์ฟอร์มของภาคบริการและอุตสาหกรรม รวมทั้งวิถีชีวิตแนวใหม่ที่พึ่งพาช่องทางออนไลน์มากขึ้น ต้อนรับผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดการแข่งขันที่สูงขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งลดการสูญเสียทรัพยากรและลดต้นทุนการผลิต ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในทุกภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และจะมีส่วนสนับสนุน GDP ของประเทศ 25% ภายในปี 2570

นายไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลด้วยโครงการยกระดับมาตรฐาน ISO29110 เพื่อเป็นใบเบิกทางการให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ใช้บริการซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหักรายจ่ายได้ 2 เท่า (Tax 200%)
 

นอกจากนี้ เดือน ม.ค.2565 ส.อ.ท.เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์ม ID4 Connect เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านบริการดิจิทัลเข้ามาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล (Provider) โดยจะจับคู่ (matching) กับผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหลือ อาทิ อาหาร รถยนต์ เครื่องจักกลการเกษตร รวมทั้งบุคคลภายนอก ซึ่งได้ประเมินความต้องการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีผ่านแพลตฟอร์มข้างต้นแล้วทำให้เกิดเป็นตลาดกลางการบริการดิจิทัล

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ต้องการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้ามาสนับสนุนเรื่องสินเชื่อเงินลงทุน สำหรับผู้ประกอบการที่จับคู่ได้แล้วต้องการยกระดับสู่การผลิตออโตเมชั่น รวมทั้งให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากแพลตฟอร์มดังกล่าวสำหรับภาคการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2565 มีทิศทาง ดังนี้ 

1.ดิจิทัลคอนเทนต์ มีแนวโน้มเติบโตถึง 15% ตามกระแสเมตาเวิร์ส เกมออนไลน์ ซึ่งเดเวลอปเปอร์ในไทยเริ่มเติบโตในตลาดโลก รวมทั้ง Data Analytics เป็นกลุ่มที่น่าจับตา เนื่องจากมีการจดทะเบียนบริษัทเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เมื่อหลายบริษัทเริ่มหันมาใช้ Data แทนการทำมาร์เก็จเซอร์เวย์ ขณะที่ธุรกิจแอนนิเมชั่นในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวและออกสู่ตลาดมากขึ้น 

2.ซอฟแวร์และบริการซอฟแวร์ มีการใช้งานเพิ่มขึ้นในกลุ่มซอฟแวร์แพ็คเกจสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันจะมีการแข่งขันจากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงการผลิตซอฟแวร์เพื่อใช้ในองค์กร (In-House) ที่เพิ่มมากขึ้น ให้มีระบบการทำงานที่ตรงกับความต้องการของบริษัท อย่างไรก็ตาม คาดว่าซอฟแวร์และคลาวด์เซอร์วิสจะขยายตัว 10%

3.บริการดิจิทัลและสตาร์ทอัพ มีศักยภาพในการเติบโตสูง อาทิ กลุ่มเฮลท์เทค ฟินเทค เอ็ดดูเคชั่นเทค สำหรับภาพรวมตลาดบริการดิจิทัลปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท คาดว่าจะโตอีก 20% เหตุผลเพราะธุรกิจนี้มีคุณสมบัติในการสเกลและดีมานต์เติบโตได้ดี โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง 

“ดีป้ากำลังส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มโลคอลเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในตลาดที่คิดว่าบริการแบบ GP กว่า 30% ลดลงอยู่ที่ 10% เตรียมเปิดให้บริการเดือน ม.ค.นี้”  

4.เทเลคอม ด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G สำหรับผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การใช้งานภาคอุตสาหกรรมยังไม่พร้อมนัก โดยคาดว่าจะมีการประมูลคลื่นเพิ่มจาก กสทช. โดยภาพรวมมีมูลค่า 800,000 ล้านบาท โดยจะเติบโตเฉลี่ย 17% นอกจากนี้ บริษัทเทเลคอมมุ่งเปิดบริการใหม่ อาทิ บริการสตรีมมิ่ง เกม

“การเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยเมื่อถึงจุดหนึ่งจะติดข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ใช้งานที่มีประชากรเพียง 60 ล้านคน จึงต้องส่งเสริมให้มีการขยายตัวสู่ตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศ มีเงินไหลกลับเข้ามาในจากการเก็บภาษี และการจ้างงาน”

ประเด็นสำคัญคือต้องมีแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเพียงพอที่จะสเกลธุรกิจได้ แต่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง 

นอกจากนี้ ปัญหาการปรับปรุงการกฎหมาย กฎระเบียบ กติกา รวมถึงมาตรฐานด้านดิจิทัลที่พร้อมสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่รองรับเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจที่คิดนอกกรอบกฎหมายเดิม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ (Drone, Driverless car, Blockchain) หรือการทำธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นแบบ Sharing Economy (Taxi, Hotel) และยังขาดกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการ หรือแนวปฏิบัติบางเรื่องที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูล

รวมถึงอัตราการเก็บภาษี Capital Gains Tax ในไทยยังสูง เป็นกำแพงที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ (VC) ไม่อยากเข้ามาลงทุน จึงเสนอให้รัฐปรับการเก็บภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในรูปแบบเงินทุนและสตาร์ทอัพที่เข้ามาลงทุน ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับบริษัทในไทย เพื่อให้กลายเป็นประตูที่เชื่อมแบรนด์คนไทยสู่เวทีโลกได้ อีกทั้งยังเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีกลับมาในไทย 

“ในอนาคตการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัลจะเปลี่ยนรูปแบบจากการขายผลิตภัณฑ์เชิงเดี่ยวหรือผู้ให้บริการดิจิทัล เป็นการทำแพลตฟอร์มคล้ายบล็อกเชน ในการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์”