นายกฯสั่งอธิบดีปศุสัตว์สั่ง 4 ข้อเร่งแก้ปัญหา "ASF" ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา

นายกฯสั่งอธิบดีปศุสัตว์สั่ง 4 ข้อเร่งแก้ปัญหา "ASF" ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา

นายกฯ เรียกอธิบดีปศุสัตว์สั่ง 4 ข้อเร่งแก้ปัญหา ASF ในหมู สั่งประสานมหาดไทย เร่งสำรวจปริมาณที่หายไปจากระบบ หลังตัวเลขผู้เลี้ยง – กระทรวงไม่ตรงกัน รับต้องใช้เวลาแก้ปัญหาทั้งระบบนาน 8 -12 เดือน ยันจ่ายเงินช่วยเหลือรายย่อย เล็งยกระดับมาตรฐานฟาร์มหมูป้องกันโรค

เมื่อ เวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียก นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ อาจารย์ประจำคณะภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาลัยบางเขน เข้าพบด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น.อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าวันนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการใน 4 เรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุกรในประเทศ ได้แก่ 1.ให้มีการควบคุมโรคอหิวาต์หมู หรือโรคอหิวาต์แอฟริกา​ใน​สุกร (ASF) ที่พบมีการระบาดในประเทศไทยโดยรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

2.การฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะทำในรูปแบบใด

3.การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ASF โดยโรคนี้เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีแล้วยังไม่มีวัคซีน

และ 4.การสำรวจปริมาณหมูที่หายไปจากระบบ โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้เร่งสำรวจอย่างเร่งด่วน โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการสำรวจปริมาณ เนื่องจากในขณะนี้ข้อมูลของผู้เลี้ยงและกระทรวงไม่ตรงกัน โดยข้อมูลจากผู้เลี้ยงสุกรบอกว่าหมูหายไปจากระบบกว่า 50% แต่ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ที่มีระบบติดตามการเคลื่อนย้ายและตรวจสอบปริมาณสัตว์บอกว่าหายไปแค่ 20% เท่านั้น ซึ่งหากมีการสำรวจข้อมูลส่วนนี้ได้แล้วเสร็จจะนำมาสู่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่ถูกต้องต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ล่าสุดคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ในวงเงิน 571 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติเพื่อชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เป็นรายย่อยเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ก็มีการวางแผนป้องกันโรคนี้มาอย่างต่อเนื่องได้รับการจัดสรรวงเงินประมาณรวมกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่าเป็นการอนุมัติให้ทำโครงการป้องกันโรค ASF ไม่ใช่อนุมัติเพราะเราเจอการระบาดแล้ว

“ที่ผ่านมาเรามีการประชุม วางแผนรับมือเรื่องนี้มาตลอด และยังไม่พบการระบาด ทำให้เรายังสามารถส่งออกเนื้อหมูไปยังประเทศอื่นๆ ได้ตลอดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหลักฐานที่ดีเนื่องจากหากมีโรคประเทศต้นทางก็ต้องมีการตรวจพบแล้วซึ่งตลาดที่นำเข้าเนื้อหมูจากเรายังไม่มีการแจ้งว่าพบ ASF จากไทยในช่วงก่อนหน้านี้”

เมื่อถามว่าการแก้ปัญหาหมูจะใช้เวลานานเท่าไหร่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่าได้ตอบนายกรัฐมนตรีว่าการแก้ไขปัญหานี้ทั้งวงจรเพื่อให้มีจำนวนหมูกลับมาเป็นปกติต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 8 -12 เดือน โดยในช่วงนี้การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยจะมีการใช้ช่องทางศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์ที่มีอยู่ทั่วประเทศมาใช้ในการเพิ่มจำนวนหมูเลี้ยงให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะที่เป็นรายย่อย ส่วนในระยะต่อไปจะต้องทำในเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพฟาร์มหมูเพื่อให้มีระบบป้องกันการระบาดในฟาร์มและระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วย

นักข่าวถามว่าอธิบดียังไม่ถอดใจลาออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่าตนได้รับกำลังใจในการทำงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้ทำงานแก้ปัญหาให้ได้ และในการทำงานในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์แก้ไขปัญหาการระบาดในสัตว์มาแล้วทั้งโรคระบาดในม้า และโรคลัมปี สกิน ซึ่งก็แก้ไขได้แล้ว และกำลังจะมีวัคซีน ในการระบาดของโรค ASF ตนยังจะมุ่งมั่นทำงานแก้ปัญหานี้ต่อไป

เมื่อถามว่ารับทราบเรื่องปัญหาการข่มขู่ผู้เลี้ยงหรือไม่ อธิบดีบอกว่าตนไม่ทราบในเรื่องนี้

นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ กล่าวว่า การแพงขึ้นของราคาหมูในขณะนี้มีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนราคาค่าอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นถึงกว่า 30% ซึ่งนายกรัฐมนตรีทราบปัญหานี้ดี และท่านรับทราบว่าการแก้ปัญหาต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบบูรณาการร่วมกัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมู โดยขอให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่  โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์ และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ ติดตามพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรค เพื่อสอบสวนสาเหตุและเร่งรักษาตามสาเหตุอาการตั้งแต่แรก ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ผู้เลี้ยงหมู ในการป้องกันเบื้องต้น ระหว่างที่ยังต้องรอผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีน  รวมทั้ง เปิดรับช่องทางแจ้งการเกิดโรคให้ได้โดยเร็ว เพื่อแก้ไขและลดความเสียหายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาด้วย

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการกรมปศุสัตว์ เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม เร่งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกัน ก็เร่งศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว  และการจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบในการหารือ นายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทุกอย่างให้ครบเพื่อลด ความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู  รวมทั้งปัญหาหมูราคาแพง  พร้อมแนะอธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดตั้ง Warroom สื่อสาร  ชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์