รู้ก่อนยื่นภาษี 2564 “เงินปันผล” จาก “กองทุนรวม” ต้อง “ยื่นภาษี” หรือไม่ ?
สรุปครบ ลงทุน "กองทุนรวม" ได้รับ "เงินปันผล" ระหว่างเลือกแบบ "ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10%" หรือเลือกแบบไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่นำมา "ยื่นภาษี" อันไหนคุ้มกว่า ?
"กองทุนรวม" ประเภท "จ่ายเงินปันผล" เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับเป็น "เงินปันผล" ตามผลประกอบการและนโยบายของกองทุนนั้นถือว่าเป็น "รายได้" หรือ "เงินได้พึงประเมิน" ตามกฎหมาย
สิ่งที่มักจะสร้างสับสนคือเงื่อนไขเกี่ยวกับการ "ยื่นภาษี" ของเงินปันผลจากกองทุนรวม บ้างก็ว่าไม่ต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้ซ้ำ บ้างก็ว่าควรยื่นภาษีด้วย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินปันผลกองทุน ที่ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าควรจัดการอย่างไรกับเงินปันผลที่ตัวเองได้รับ
- เงินปันผลกองทุน "ยื่นภาษี" หรือ "ไม่ยื่นภาษี" ก็ได้
สำหรับผู้ที่ได้รับเงินปันผลกองทุน สามารถเลือกจัดการเรื่องภาษี ที่เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกเป็น 2 แบบ มีทั้งแบบต้องนำไปยื่นภาษี และไม่ต้องยื่นภาษี ซึ่งแต่ละแบบต้องเป็นไปตามเงื่อนไข
แบบที่ 1 ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% จากเงินปันผลอัตโนมัติ แล้วไม่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปยื่นภาษี
ส่วนใหญ่เงินปันผลจากกองทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งการหัก ณ ที่จ่ายส่วนนี้ “ไม่ต้องนำมายื่นภาษี” ก็ได้ เนื่องจากเป็นภาษีขั้นสุดท้าย
แบบที่ 2 ไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่นำเงินปันผลมาคำนวณรวมกับการยื่นภาษี หรือ ต้องนำมายื่นภาษีด้วยตัวเอง
กรณีเลือกไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่นำเงินปันผลมาคำนวณรวมกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในเงินได้ประเภทที่ 4 (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ หรือยื่นในเงินได้ประเภทที่ 8 สำหรับกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองทรัสต์ (REIT)
ทั้งนี้ หากลงทุนในหลายกองทุน จะต้องนำมากรอกยื่นภาษีทั้งหมด แม้กองทุนนั้นจะไม่ได้เลือกว่าไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายก็ตาม
- "หักภาษี ณ ที่จ่าย" หรือ "ไม่หักภาษี ณ จ่าย" เลือกแบบไหนคุ้มกว่า ?
เลือกแบบที่ 1 การให้บริษัทจัดการกองทุน หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแบบอัตโนมัติ มีข้อดีคือไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องต้องนำมากรอกรวมตอนยื่นภาษีซ้ำอีกรอบ เนื่องจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลกองทุนรวม ถือเป็นภาษีขั้นสุดท้าย ไม่ต้องนำไปยื่นภาษีก็ได้ (ต่างกันหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% กรณีเป็นค่าจ้าง ค่าทำของ ฯลฯ ที่ต้องนำไปกรอกเพื่อยื่นภาษีทั้งหมด)
แต่ถ้ามีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไปแล้ว แต่นำมายื่นภาษีอีกรอบก็จะสามารถขอคืนภาษีได้หากปีภาษีนั้นอยู่ได้เกณฑ์ได้เงินคืนภาษี
นอกจากนี้ยังเหมาะกับคนที่มีเงินได้สุทธิสูง อยู่ในเกณฑ์ภาษีสูงกว่า 10% เพราะหากไม่หัก ณ ที่จ่าย แล้วนำเงินได้และภาษีส่วนนี้ไปรวมในการยื่นภาษี อาจทำให้ต้องเสียภาษีสูงกว่า 10% ที่ถูกหักไป
เลือกแบบที่ 2 ไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่นำเงินปันผลมาคำนวณรวมกับการยื่นภาษี ยุ่งยากกว่าแบบที่ 1 ขั้นแรกจะต้องแจ้งกับ บลจ. เจ้าของกองทุนเพื่อใช้สิทธิ์ไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย
จากนั้นเมื่อมีได้รับเงินปันผลกองทุนจะต้องนำมายื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" โดยต้องนำกองทุนทุกกองทุนที่ลงทุนไว้มายื่นภาษีด้วยกันทั้งหมด แม้กองทุนนั้นจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามแบบที่ 1 ไปแล้วก็ตาม
เช่น ลงทุน 2 กองทุน กองทุน A เลือกแบบหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ส่วนกองทุน B เลือกใช้สิทธิ์ไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อถึงเวลายื่นภาษีจะต้องยื่นภาษีทั้งกองทุน A และ B
แม้ฟังดูยุ่งยากกว่า แต่การใช้สิทธิ์ไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินปันผล เหมาะกับบุคคลที่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีต่ำกว่า 10% เนื่องจากหากนำไปยื่นภาษีรวมอาจจะเสียภาษีต่ำกว่า 10% นั่นเอง
ดังนั้น ก่อนที่จะใช้สิทธิ์ไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ลองคำนวณดูก่อนว่า เงินได้สุทธิของเรามีเกณฑ์เสียภาษีในระดับไหน เพื่อช่วยให้วางแผนภาษีได้ง่ายขึ้น และคุ้มค่ามากกว่าด้วย
-----------------------------------------------------------------
อ้างอิง: กรมสรรพากร, iTAX