“ครัวเรือนไทย”เดือนนี้จ่ายอะไรเเพงขึ้น

“ครัวเรือนไทย”เดือนนี้จ่ายอะไรเเพงขึ้น

ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยยังสูงต่อเนื่อง หลังราคาสินค้าหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหมูแพง ลามไปถึงเนื้อสัตว์อื่นๆ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนของการระบาดโควิด-19ทั้ังสายพันธุ์“โอมิครอน”และสายพันธุ์อื่นๆที่อาจตามมา ทำให้ฝั่งการหารายได้ยังคงยากลำบากต่อไป แต่ทางกลับกันพบว่าฝั่งรายจ่ายมีการเคลื่อนไหวอย่างน่าจับตามองอย่างอกสั่นขวัญหาย 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือนธ.ค. 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีรายจ่ายรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าคือ พ.ย.2564 จาก 17,193บาท มาอยู่ที่ 17,127 บาทต่อครัวเรือน  สาเหตุมาจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหลายรายการแต่ก็มีอีกหลายรายการที่ราคาปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายละเอียดค่าใช้จ่ายแล้วพบว่าจำเป็นมากหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ มาอยู่ที่ 1,517 บาทต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 1,555 บาทต่อครัวเรือน ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน เครื่องใช้ในบ้าน อยู่ที่ 3,891 บาท เพิ่มขึ้นจาก 3,880 บาท

ค่าอาหารบริโภคในบ้าน Delivery อยู่ที่ 1,480 บาทจาก 1,479 บาท ค่าแพทย์ ค่ายา และค่าบริการส่วนบุคคล อยู่ที่ 960บาท จาก959 บาท ค่าเครื่องปรุงอาหารที่ 404 บาทจาก401 บาท

ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ลดลง เช่น ค่าข้าว อยู่ที่644 บาท จาก648 บาท  ผักผลไม้ ที่ 979 บาท จาก 1,004 บาท และที่ถือว่าลดแรงและเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของครัวเรือนคือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ อยู่ที่ 3,978 บาทจาก 4,037 บาท

“แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นของเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็สะท้อนว่า เดือนม.ค.ในปีใหม่ 2565นี้ การวางแผนใช้จ่ายของครัวเรือนไทยยังอยู่ในภาวะที่เพิ่มสูงและสุ่มเสี่ยงที่จะชักหน้าไม่ถึงหลัง เนื่องจากราคาสินค้าจากการรายงานของกรมการค้าภายใน พบว่า เพียง 1 สัปดาห์สินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้นหลายสิบบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหมู และกำลังไปถึงเนื้อไก่ รวมไปถึงโปรตีนทางเลือกอย่างไข่ไก่ด้วย

*สุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) :  30 ธ.ค. 64 กก.ละ 170-175 บาท , 5 ม.ค. 65 กก.ละ 180-185 บาท

*ไก่สดชำแหละ น่อง สะโพก  :  30 ธ.ค. 64 กก.ละ   65-70 บาท     , 5 ม.ค. 65 กก.ละ 65-75บาท 

 *ไข่ไก่ (เบอร์3) : 30 ธ.ค. 64 ฟองละ 3.30-3.40บาท , 5 ม.ค. 65 ฟองละ 3.30-3.40 บาท

“ไก่สดชำแหละ น้อง สะโพก ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากช่วงที่ผ่านมาในขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการกันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อหมูที่มีราคาสูงขึ้นมาก”

ทั้งนี้ ในส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่นผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี และพริกขี้หนู (จินดา) ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จากการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยวหมู ได้เริ่มมีการปรับขึ้นราคากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ทางร้านจำหน่ายได้ปิดป้ายแจ้งขออภัยลูกค้าว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา เนื่องจากหมูเนื้อแดงมีราคาสูงขึ้นจากที่เคยซื้อปกติ 160 บาท เป็น 200 บาท และราคาเริ่มทะลุเกิน 200 บาท ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีการปรับขึ้นราคาเมนูละ 5 บาท และบางร้านปรับขึ้นทีละ 10 บาทก็มี เช่น จากเดิมเคยขาย 35 บาทก็ปรับเป็น 40 บาท หรือขาย 40 บาท ก็ปรับเป็น 50 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังพบว่า บางร้านได้ปรับราคาเมนูอาหารชนิดอื่น ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย เช่น อาหารตามสั่งที่ หรือก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ไก่เป็นวัตถุดิบ หรือใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบ โดยร้านค้าอ้างว่าต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริโภคอยากให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแล เพราะหากดูจากต้นทุนหมูเนื้อแดง ที่ปรับขึ้นจาก 160 บาทเป็น 200 บาท เพิ่มขึ้น 40 บาท แต่เนื้อหมู 1 กิโลกรัม สามารถทำอาหารตามสั่งได้ 20-30 จาน หรือทำก๋วยเตี๋ยวได้ 30-40 ชาม การปรับขึ้นราคาทีละ 5-10 บาท เป็นการเอากำไรเกินควรกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระให้ผู้บริโภคเกินจำเป็น โดยเห็นว่า การปรับขึ้นราคา ควรจะขึ้นเท่าที่จำเป็น ส่วนอาหารที่ใช้วัตถุดิบอื่น ที่ไม่ใช่หมู ก็ควรที่จะคงราคาเดิม เพราะไม่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลว่า การปรับขึ้นราคาตามต้นทุนหมูเนื้อแดงที่สูงขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นการขึ้นแล้วขึ้นเลย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ที่ไม่ว่าต้นทุนวัตถุดิบอะไรขึ้น เมื่อมีการปรับขึ้นราคา แล้วพอราคาวัตถุดิบลง ก็ไม่มีการปรับลงตาม

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า  เนื้อหมูที่แพงขึ้นเกิดจากกลไกการผลิตไม่ใช่กลไกตลาด สาเหตุก็มาจากโรคระบาดในสุกร ซึ่งไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกัน  เมื่อสุกรติดเชื้อวิธีการเดียวที่จะป้องกันได้คือการฆ่าหมูทั้งหมดในฟาร์มเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ประกอบกับราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เกษตรไม่สามารถแบกรับภาระได้ จำเป็นต้องหยุดเลี้ยง ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้หมูที่ออกสู่ตลาดมีน้อยลง ส่งผลราคาเนื้อหมูแพงขึ้น